ต้นสะแบง ดอกหอม ลูกแดงดกเต็มต้น ไม้หัวไร่ปลายนา ปลูกง่าย!

by plantlover
ต้นสะแบง

หอมดอกสะแบง คำนี้ได้ยินกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แล้วต้นสะแบงมันเป็นอย่างไรล่ะ มีใครเคยเห็นบ้าง? ชื่อไทยแท้ของเขาคือ ยางกราด ต้นใหญ่โต ดอกชมพู ลูกแดงดก ไม่ทิ้งซิกเนเจอร์ของต้นยางนา เป็นไม้หัวไร่ปลายนา เกิดง่าย กระจายพันธุ์เร็ว ในขณะเดียวกันก็ยังดูแลไม่ยาก หากเพื่อน ๆ กำลังตามหาไม้ประดับพื้นถิ่นสักต้นปลูกไกลบ้านก็มาถูกทางแล้วล่ะ แต่ก่อนจะปลูกต้องมีพื้นที่เหมาะสมต่อการเติบโตด้วยนะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับต้นสะแบง พันธุ์ไม้ป่าน่าปลูก ฟอร์มแปลกตา กับเรื่องที่คนอยากปลูกต้องรู้!

ต้นสะแบง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ (Large Evergreen tree) ทว่าก็จะทิ้งใบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง อาจมีใบแห้งหล่นใต้ต้นเยอะหน่อย กลายเป็นภาระงานแก่ผู้ปลูก เจ้าต้นนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในย่านบ้านเราและคาบสมุทรอินโดจีน กัมพูชา เวียดนามตอนใต้ ในประเทศไทยพบมากที่สุดตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เกิดอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งตามหัวไร่ปลายนา โดยสภาพจึงเป็นต้นไม้ทนแล้งได้อย่างยาวนานพอสมควร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dipterocarpus intricatus

ชื่อวงศ์ : Dipterocarpaceae (วงศ์ยางนา)

ชื่อสามัญ : Yang Krat

ชื่ออื่น : ยางกราด (ภาคกลาง สระบุรี), เหียงกราด เหียงน้ำมัน (ราชบุรี เพชรบุรี), กราด ซาด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กาด ยางสะแบง (นครราชสีมา), ชะแบง ตะแบง ตรายด์ กร้าย (สุรินทร์), ลาง (ชลบุรี), เหือง (ระยอง)

ต้นสะแบง

ความเชื่อ

ต้นสะแบง สื่อถึงความเป็นอีสาน ดอกส่งกลิ่นหอมมักถูกนำมาร้อยพวงมาลัยใช้ตามงานมงคล งานบุญ เช่น บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ งานบวช และอีกมากมาย ผลสีแดงสดตามตำราเขมรมหาอุตม์จึงมักถูกนำไปทำเป็นของขลัง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งความเชื่อของชาวอีสานที่ใช้ “ขี้สูด” หรือรังของตัวชันโรง (ผึ้งจิ๋วไม่มีเหล็กใน) จากต้นสะแบงมาติดเต้าแคน เป็นเมตตามหานิยม ช่วยให้คนฟังรักและหลงเสียงดนตรี จัดว่าเป็นไม้มงคลสำหรับนักร้อง นักดนตรี พ่อค้าแม่ขาย นักการเมือง และอีกมากมาย

ต้นสะแบง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ความสูง 15-30 เมตรโดยประมาณ แต่กว่าจะโตก็ใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากโดยธรรมชาติของต้นไม้มักถูกความแล้งกระทบอยู่เสมอ เรือนยอดกระจัดกระจาย ฟอร์มจึงค่อนข้างแปลกตา ผิวเปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาวสวยงาม

ใบ : เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกใบแบบเรียงเวียนรอบกิ่ง หนาแน่นที่บริเวณปลายยอด ลักษณะใบรูปไข่ โคนใบป้าน ปลายสอบ พื้นใบบิดจากโคนจรดปลาย เส้นใบชัดนูนเด่น เนื้อใบแข็ง ผิวสีเขียวนวล มีขนอ่อนปกคลุมนุ่มนิ่มแบบกำมะหยี่

ดอก : ดอกสะแบง จะเริ่มผลิให้เห็นในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะหลังปีใหม่ เดือนมกราคม โดยจะออกเป็นช่อดอกรวมแบบแตกแขนง โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย แยกออกเป็น 5 กลีบดอกสีขาว มีแถบสีชมพูกลางกลีบ ลักษณะดอกคว่ำลง แต่ปลายกลีบโค้งยกขึ้นบิดเวียนคล้ายกังหัน ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีรสเปรี้ยว สามารถนำมาจิ้มน้ำพริกรับประทานได้

ผล : มักติดผลในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยลักษณะผลคล้ายกับยางนา ตัวผลกลม เปลือกแข็ง มี 5 ครีบตามแนวยาวและปีกสองข้าง โดยจะออกผลเป็นสีแดงทั่วทั้งต้นจนหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นดอก เมื่อยามแก่แล้วร่วงโรย สองปีกถูกลมพยุงจนปลิวไปได้ไกล และเกิดขึ้นเองง่ายตามธรรมชาติหลังใบตก

ต้นสะแบง

ประโยชน์

โดยทั่วไปแล้วต้นสะแบงสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง ริ้วสีเข้มเป็นทางโดดเด่น เนื้อไม้แข็งและเหนียว แต่ค่อนข้างหยาบจึงเลื่อยหรือไสกบสบาย ๆ ตกแต่งง่าย นิยมนำมาทำสิ่งปลูกสร้างภายในบ้าน อย่างเช่น ทำพื้นบ้าน โต๊ะ เตียง เป็นต้น ทางด้านสรรพคุณทางยาก็มีเช่นกัน แต่ไม่ขอลงรายละเอียดมากเนื่องจากปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้มากนัก หากปลูกเอาไว้เป็นไม้ประดับกลางแจ้ง แต่งสวน ตกแต่งด้วยไฟยามค่ำคืนสักหน่อย บอกเลยว่าสวยไม่น้อยหน้าต้นอื่น

ต้นสะแบง

การขยายพันธุ์

สะแบง ขยายพันธุ์ง่าย ไม่ยุ่งยากด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เพียงแค่เก็บผลของต้นสะแบงที่แก่แล้ว โดยเลือกผลที่ร่วงใต้ต้นนำมาฝังลงดินในถุงเพาะชำ เลือกใช้ดินปลูก หรือดินธรรมดาตามบ้าน หมั่นรดน้ำทุกวันแล้วรอจนกว่ากล้าจะงอกออกมาแข็งแรง แล้วค่อยนำไปปลูกลงดินในพื้นที่ที่เราต้องการ

การปลูก/ดูแล

พื้นที่ : เป็นสิ่งแรกที่เราควรคำนึงถึง เนื่องจากพุ่มของเจ้าต้นนี้ขยายใหญ่ 12-18 เมตร จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต

แสง : เป็นสิ่งสำคัญ เน้นแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน หรืออย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน

ดิน : ขุดดินเก่าขึ้นมาผสมเข้ากับอินทรียวัตถุอย่างละ 1 ส่วน แล้วฝังกลบต้นสะแบง หากพูนโคนให้เขาได้จะดีมาก แต่ห้ามพูนโคนเกิน Root zone เด็ดขาด

น้ำ : ช่วงปลูกต้นไม้ใหม่ 3-4 เดือน ควรรดน้ำทุกวัน และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาให้น้ำวันเว้นวันได้เลย

เคล็ดลับดอกสะพรั่ง : หลังจากปีใหม่ ให้รดน้ำเขาเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เมื่อต้นไม้เริ่มรู้สึกกังวลก็จะออกดอกเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “ต้นสะแบง” ต้นไม้ไทยโบราณพื้นถิ่นบ้านเรา ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของชาวอีสาน เป็นอย่างไรบ้างคะ น่าครอบครองมากเลยใช่ไหมล่ะ นอกจากฟอร์มสวยแปลกตาแล้วยังเป็นต้นไม้ใหญ่ ดอกหอมอีก ถ้าใครอยากปลูกก็สามารถนำวิธีการด้านบนไปดูแลต้นไม้ได้เลยนะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment