กันเกรา ต้นไม้ใหญ่ ดอกสะใจ กลิ่นหอม กับเรื่องที่ต้องรู้ก่อนปลูก!

by plantlover
กันเกรา

กลิ่นหอมของดอกกันเกรายามสงกรานต์ ชวนให้คิดถึงบ้านเสียยิ่งกว่าสิ่งใด หากคุณกำลังสนใจพันธุ์ไม้ใหญ่สักต้น ปลูกเอาไว้เพื่ออาศัยร่มเงา ส่งกลิ่นหอมหวาน เย็นสบาย ติดทนนานเสียยิ่งกว่าน้ำหอม EDP แถมยังอึด ถึก ทน ดูแลง่าย ฝากเทวดาเลี้ยงได้ ถือว่าคุณมาถูกทางแล้วล่ะ เจ้าต้นนี้ตอบโจทย์อย่างแน่นอน แต่ก่อนจะปลูกมีสิ่งที่เพื่อน ๆ ต้องทราบเอาไว้ค่อนข้างมาก ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักเขาให้มากยิ่งขึ้นกันเลยดีกว่า

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับกันเกรา ต้นไม้ใหญ่ ดอกหอม สัญชาติไทยแท้ ปลูกและดูแลแบบนี้

กันเกรา

กันเกรา คือไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ นอกจากนี้ยังมีศักดิ์เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์อีกด้วย ถ้าไปเมืองช้างช่วงเดือนเมษาจะเห็นเขาออกดอกเรียงรายตามศูนย์ราชการ ส่งกลิ่นหอมอบอวล รู้สึกได้ถึงความพิเศษ โดยถิ่นกำเนิดของเจ้าต้นนี้เกิดอยู่ในย่านบ้านเราเอง มักกระจายตัวอยู่ตามป่าเบญจพรรณใกล้แหล่งน้ำ เริ่มตั้งแต่เขตร้อนทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไล่จากพม่า เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ทางหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ไปจนถึงปาปัวนิวกินี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fagraea fragrans

ชื่อวงศ์ : Gentianaceae (วงศ์ดอกหรีดเขา)

ชื่อสามัญ : Tembusu หรือ Ironwood

ชื่ออื่น : มันปลา (ภาคเหนือ และภาคอีสาน), ตาเตรา (ภาคตะวันออก), ตำแสง ตำเสา ทำเสา (ภาคใต้) และอื่น ๆ

กันเกรา

ความเชื่อ

คนไทยเชื่อว่าเป็นไม้มงคล โดยความหมายของคำว่า “กันเกรา” คือการป้องกัน สกัดสิ่งชั่วร้ายให้ออกห่างจากตัวบ้าน นิยมปลูกเอาไว้ทางทิศใต้เพราะเชื่อว่าให้คุณแรงมากที่สุด นอกจากที่กล่าวมาก็ยังถูกใช้เป็นหนึ่งในไม้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อีกด้วย

กันเกรา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นความสูง 10-15 เมตรโดยทั่วไป แต่ถ้าหากมีอายุมากหน่อยอาจสูงถึง 25 เมตรเลยทีเดียว ลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาล ผิวแตกร่องลึกตามแนวยาว

ใบ : เป็นพืชใบเดี่ยว ออกใบเรียงตรงข้ามกันหนาแน่นที่บริเวณปลายกิ่ง รูปใบหอก ขอบขนานมีคลื่นเล็กน้อย โคนใบสอบ ปลายใบแหลม เนื้อใบสีเขียวอ่อนไปจนถึงเขียวแก่ กิ่งลู่ลงพื้น โดยรวมพุ่มเป็นรูปไข่

ดอก : ดอกกันเกราจะออกเป็นช่อตามซอกใบ แต่ละช่อดอกย่อยหนาแน่น โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออก 5 แฉก ปลายแหลม แรกเริ่มเดิมทีมีสีขาว เมื่อคงอยู่ไปสักระยะจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนถึงอมแสด มักออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนของทุกปี เป็นดอกไม้กลิ่นหอมหวาน โทนเย็น หอมแรงในตอนเย็น หรือช่วงอากาศเย็น กลิ่นหอมแรง แต่ไม่ฉุน ออกแนวร่วมสมัย ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย

ผล : ผลเดี่ยวทรงกลม รสชาติขม ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วสีส้มอมแดง พบเมล็ดสีดำขนาดเล็กด้านในจำนวนมาก

ประโยชน์

นอกจากจะเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแล้ว ใบ ยอดอ่อน และผลยังเป็นอาหารอันโอชะของเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ เนื้อไม้สีเหลืองสวยแข็งแรงจนได้ชื่อสามัญว่า Ironwood มักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากเสี้ยนตรง เนื้อละเอียด ขัดแต่งง่าย นิยมใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำเสาบ้าน เนื่องจากปลวกกัดแทะได้ยาก

กันเกรา

การขยายพันธุ์

กันเกรา ขยายพันธุ์ง่ายได้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือแม้กระทั่งปักชำกิ่ง แต่ทั้งหมดนี้ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ส่วนวิธีการที่ง่ายที่สุด แต่ใช้เวลานานที่สุด และทำให้ต้นไม้แข็งแรงมากที่สุด แนะนำให้ลองเพิ่มจำนวนประชากรด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งมือใหม่สามารถทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

– กล่องมีฝาปิด

– หินกรวด

– ดินทราย (ใช้ทรายก่อสร้างได้เลย)

– ถุงเพาะชำ

– ดินปลูก

ขั้นตอนการเพาะเมล็ดต้นไม้

1. นำกรวดโรยลงในกล่อง ให้กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นล่าง

2. จากนั้นโรยทรายลงไป ความหนาประมาณ 3-5 เซนติเมตร

3. รดน้ำ

4. นำเมล็ดกันเกราโรงลงไป อย่าลืมกระจายตำแหน่งให้ทั่วทั้งกล่อง

5. จากนั้นโรยทรายกลบหน้าบาง ๆ

6. รดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น แต่อย่าให้ขังแฉะ

7. ปิดฝากกล่องเพื่อควบแน่นเอาไว้ วางไว้ในห้องอุณหภูมิปกติ แล้วรอจนกว่าเมล็ดจะงอกออกมา

8. เมื่อเมล็ดเริ่มแข็งแรง งอกรากเต็มที่ให้นำไปปลูกต่อในถุงเพาะชำ บนดินปลูกตามปกติได้เลย

กันเกรา

การปลูก/ดูแล

พื้นที่ : ควรมีอาณาเขตกว้างขวางพอให้ต้นไม้เจริญเติบโตประมาณ 6-15 เมตร สามารถปลูกใกล้บ้านได้เนื่องจากรากไม่ชอนไชไปทำลายโครงสร้าง แต่ต้องระวังเรื่องลมแรง กิ่งไม้หล่นทำลายโครงสร้าง

แสง : เน้นพื้นที่โล่งแจ้ง มีแสงแดดเต็มวัน หรืออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวันเนื่องจากกันเกราเป็นต้นไม้ใหญ่โตเร็วเมื่อมีอายุมาก แต่ถ้าช่วงปลูกใหม่ ๆ ค่อนข้างโตช้าหน่อย

ดิน : ดินร่วนหรือดินเดิม เพิ่มเติมอินทรียวัตถุเข้าไป

น้ำ : ช่วงปลูกหรือขุดล้อมไปปลูกใหม่ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้งในตอนเช้า แต่เมื่ออยู่ตัวแล้วก็สามารถรดน้ำเพียงเดือนละ 1-2 ครั้งได้เลย

การดูแลอื่น : ตัดแต่งกิ่งตามต้องการ ใส่ปุ๋ยคอก และค้ำยันในช่วงปลูกใหม่ 1 ปีแรก

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “กันเกรา” ที่มาของกลิ่นหอมเย้ายวนใจในช่วงเดือนเมษายน โดยเฉพาะใกล้สงกรานต์ ชวนนึกถึงบ้านยามกลิ่นโชย เป็นอย่างไรบ้างคะ เจ้าต้นนี้น่าปลูกมากเลยใช่ไหม ทั้งดูแลง่าย มากประโยชน์ แต่ไม่ใช่ว่าบ้านไหนก็ปลูกได้ เพราะต้องมีพื้นที่อย่างเพียงพอ สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment