กระดังงา ไม่ลนไฟก็หอม ไม้ไทยแท้กับเรื่องที่คนอยากปลูกต้องรู้

by plantlover
กระดังงา

หากกล่าวถึง “กระดังงา” เชื่อว่าใครหลายคนคงเคยคุ้นกับชื่อนี้ดี แต่นึกถึงรูปร่างหน้าตาของเขาไม่ออก เนื่องจากสามารถพบเจอตามบ้านเรือนได้น้อยแล้วในปัจจุบัน ปู่ย่าตายายมักปลูกติดบ้านเอาไว้ส่วนหนึ่งก็เพราะดอกส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ เย้ายวนสไตล์สยาม บ่อยครั้งคนมักจำสับสนกับต้นการเวก และถ้าหากเพื่อน ๆ กำลังสนใจอยากปลูกหรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ต้นนี้อยู่ ทั้งการปลูก ดูแล และขยายพันธุ์ เรามีเรื่องราวอันน่าสนใจมาฝาก

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับ “กระดังงา” ดอกไม้ไทย กลิ่นหอมอ่อน ผ่อนคลาย มีติดบ้านไว้เป็นมงคล!

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cananga odorata

ชื่อวงศ์ : Annonaceae (วงศ์กระดังงา)

ชื่อสามัญ : Ylang-ylang, Akar Pisang-Pisang

ชื่อไทยท้องถิ่น : สะบันงา, สะบันงาต้น (ภาคเหนือ), กระดังงอ (มาเลย์-ยะลา)

กระดังงา

กระดังงาสงขลา คือชื่อเต็มของเจ้าต้นไม้กลิ่นหอมที่เรารู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี และที่ได้ชื่อนี้มาก็เพราะมีการค้นพบในประเทศไทยครั้งแรกบริเวณป่าดิบชื้นตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นอกเหนือจากบ้านเราเจ้าต้นนี้ก็ยังมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซียไปจนถึงออสเตรเลีย เพราะเป็นไม้ในเขตร้อนจึงปลูกเลี้ยงและดูแลง่ายในบ้านเรา แถมมากประโยชน์ เป็นต้นไม้ให้ร่มเงา ใครจะปลูกบอกเลยว่าคุณคิดถูกแล้วล่ะ

ความเชื่อ

กระดังงาเป็นต้นไม้มงคลตามความเชื่อโบราณ หากปลูกเอาไว้ในบ้านจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยโดดเด่นด้านชื่อเสียง อำนาจ บารมี ผู้คนสรรเสริญ นับหน้าถือตา เหมาะสำหรับผู้ที่ทำอาชีพซึ่งต้องอาศัยชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักแสดง นักการเมือง และอีกมากมาย

กระดังงา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่อาจมีความสูงตั้งแต่ 8-15 เมตรโดยประมาณ ลักษณะต้นตั้งตรงสูงเป็นแนวยาว กิ่งตั้งฉากกับลำต้นแต่ปลายย้อยลู่ลงมาเล็กน้อย กิ่งอ่อนปกคลุมด้วยขนสีขาวอ่อนนุ่ม ผิวเปลือกสีขาวอมเทา พบรอยแผลขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่ว

ใบ : เป็นพืชใบเดี่ยว พุ่มหนาแน่น รูปใบรี ปลายใบแหลม ติ่งสั้น กลางใบกว้างมากที่สุด โคนใบมนอาจเว้าเบี้ยวเล็กน้อย ขอบใบเรียบแต่ก็มีส่วนที่เป็นคลื่นอยู่บ้าง เนื้อใบยกนูน ใบอ่อนสีเขียวอ่อนมีขนสีขาวกระจายตัวอยู่ทั่ว ส่วนใบแก่สีเขียวเข้มจะมีขนแค่บริเวณเส้นกลางใบเท่านั้น

ดอก : ดอกกระดังงา เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของเจ้าต้นนี้เลยล่ะ มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวรูปกงล้อ กลีบดอกเนื้อบาง เส้นยาว บิดเกลียว มักมีกลีบทั้งหมด 3 ชั้น ในระยะแรกดอกสีเขียวอ่อน เมื่อดอกเริ่มแก่จะมีสีเหลืองเข้มขึ้น โดยปกติจะเป็นดอกไม้กลิ่นหอมอ่อน แต่ส่งกลิ่นหอมมากในช่วงอุณหภูมิต่ำ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ผล : ส่วนผลของเขาออกเป็นกลุ่ม ซึ่งในหนึ่งพวงอาจมีจำนวน 4 – 12 ผล ลักษณะรูปไข่ สีเขียวเข้ม หากแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ พบเมล็ดรูปไข่แบนด้านใน

กระดังงา

กระดังงา VS การเวก ต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างระหว่างพันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดนี้ค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ประเภทของเขา โดยกระดังงานั้นจัดอยู่ในหมวดของไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ออกดอกสีเหลืองแต่กลีบค่อนข้างยาว บิดเกลียวและบางกว่าการเวก ซึ่งเป็นไม้เถาเนื้อแข็งที่ปลูกให้เลื้อยไปตามซุ้มหรือหลังคาบ้าน นอกจากนี้ดอกของเขายังค่อนข้างมีความแข็งอีกด้วย เพียงแค่กลิ่นหอมเป็นไปในโทนเดียวกันก็เท่านั้นเอง

กระดังงา

การขยายพันธุ์

สำหรับการขยายพันธุ์กระดังงา ส่วนใหญ่แล้วสามารถทำได้หลากหลายวิธีมาก ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำแต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยนิยมปักชำกิ่งมากนักเนื่องจากมีโอกาสเกิดกิ่งเปราะหักง่าย ส่วนใหญ่จึงใช้การเพาะเมล็ดที่ได้รากและต้นแข็งแรงแทน แต่อาจเติบโตช้ากว่าเล็กน้อย สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากลองเพิ่มจำนวนประชากรต้นไม้ด้วยตัวเอง วันนี้เรามีเคล็ดไม่ลับเกี่ยวกับการเพาะเมล็ดมาฝากด้วยล่ะ

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

– ดินปลูก

– ถุงเพาะชำ

– เมล็ดกระดังงา

ขั้นตอนการเพาะเมล็ดพันธุ์

1.ให้เรานำเมล็ดแห้งที่ซื้อมาไปแช่น้ำอุ่นทิ้งเอาไว้เป็นเวลา 1-2 วันเพื่อคัดเลือกเมล็ดคุณภาพดี โดยเลือกเมล็ดที่จมน้ำเท่านั้น

2.จากนั้นสามารถใช้ดินปลูกตามปกติมาบรรจุลงในถุงเพาะชำได้เลย

3.วางเมล็ดดังกล่าวลงไปบนดินแล้วใช้ดินโรยกลบอีกหนึ่งรอบ

4.รดน้ำตาม วางต้นไม้เอาไว้ในพื้นที่ร่มรำไร แล้วให้น้ำช่วงเช้าทุกวัน รอให้ต้นกล้างอกออกมาก่อนค่อยนำไปปลูกยังพื้นที่ที่เหมาะสม

การปลูก/ดูแล

แสง : เขาเป็นต้นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงแดดส่องถึงอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน เพื่อการเจริญเติบโต ควรปลูกเอาไว้ในพื้นที่โล่ง

ดิน : เน้นดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง กักเก็บความชุ่มชื้น แต่ก็ระบายน้ำดี

น้ำ : ชื่นชอบน้ำปานกลาง และไม่ทนต่อความชื้นแฉะ จำเป็นต้องรดน้ำวันละ 1 ครั้งช่วงเช้า หรือถ้าหากไม่มีเวลาก็สามารถให้น้ำ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ได้เช่นกัน

ปุ๋ย : อาจเติมปุ๋ยคอกที่โคนต้นบ้างประมาณปีละ 4-6 ครั้ง

กระดังงา

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “ต้นกระดังงา” ที่หลายคนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่รู้จักหน้าค่าตาของเขา บอกเลยว่านอกจากความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังมีฟังก์ชันอื่น ๆ อันน่าสนใจ ใครชอบต้นไม้ไทยแท้ ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลมาก ก็ลองซื้อหาเขามาปลูกได้นะ ตามช่องทางออนไลน์ขายเป็นต้นขนาดเล็กเยอะมาก เอามาเลี้ยงต่อสบาย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment