ทองหลาง ต้นไม้ให้ร่ม ใบกินได้ ดอกสีแดงสวย ปลูกง่ายกว่าที่คิด! 

by plantlover
ทองหลาง

ทองหลาง คือชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ให้ดอกสีแดงฉานสวยงาม ตัดกับใบเขียวขจี ในขณะเดียวกันก็ยังมาพร้อมกับประโยชน์มากมาย หลายคนนิยมปลูกเอาไว้เพราะเชื่อว่าเป็นมงคล สามารถเข้าไปอาศัยร่มเงาหลบแดด เพิ่มความร่มรื่นให้แก่บ้านหรือสวน แต่ถ้าจะปลูกบอกเลยว่ามีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอยู่เช่นกัน ใครอยากรู้ว่าเจ้าต้นนี้เลี้ยงง่ายแค่ไหน ดูแลอย่างไร เอาไปทำอะไรได้บ้าง เหมาะกับเราไหม ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณต้องรู้เอาไว้!

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ทองหลาง ต้นไม้มงคลกินได้ มากประโยชน์ ปลูกดูแลแบบไหนดี?

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrina fusca

ชื่อวงศ์ : Fabaceae (วงศ์ถั่ว)

ชื่อสามัญ : Coral Tree, Coral Bean Tree, Lucky Bean Tree หรือ Swamp Erythrina

ชื่ออื่นในภาษาไทย : ทองโหลง

ทองหลาง

ทองหลาง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงประมาณ 8-15 เมตร โดยถิ่นกำเนิดของเขามาจากทางทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ข้อมูลจากบางแหล่งยังมีการระบุว่ามาจากทางเขตร้อนของทวีปเอเชียอีกด้วย ความจริงแล้วเจ้าต้นนี้ถูกจัดให้อยู่ในประเภทของต้นไม้ผลัดใบ ทว่าเมื่อนำมาปลูกในบ้านเราเขากลับไม่ผลัดใบไปทั้งต้น เนื่องจากความชื้นค่อนข้างสูงและจะทิ้งใบไปทั้งต้นเฉพาะช่วงเวลาแล้งจัดเท่านั้น เพื่อน ๆ ที่อยากปลูกไม่ต้องกังวลเลย ถ้าหากว่าคุณชื่นชอบดอกสีแดงตุ่น อยากเพิ่มเติมสีสันท่ามกลางความเขียวขจีให้แก่สวนหรือตัวบ้าน ปลูกเอาเคล็ดเน้นมูเตลูได้เลย

ความเชื่อ

คนไทยเชื่อว่า ทางหลางเป็นไม้มงคล เสริมดวงด้านการเงิน ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะชื่อของเขามีคำว่าทอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั่นเอง หากบ้านใดปลูกทองหลางเอาไว้จะช่วยให้มีเงินทองมากมาย นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำใบของเขาไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคลได้ด้วยนะ

ทองหลาง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : ลักษณะเด่นของเขาก็คือมีผิวเปลือกสีน้ำตาลอมเทาแตกร่องในแนวยาว เปลือกลำต้นค่อนข้างบาง แตกกิ่งก้านสาขาขยายกว้างและสูง ทำให้เข้าไปอาศัยร่มเงาได้ เรือนพุ่มกลมและทึบ บริเวณกิ่งก้านมีหนามแหลมคมขึ้นอยู่

ใบ : เป็นพืชใบประกอบ มีทั้งหมด 3 ใบย่อย ใบกลางขนาดใหญ่กว่าใบด้านข้าง ลักษณะรูปใบแกมไข่ คล้ายใบโพ โคนใบมน ปลายใบแหลม ในช่วงใบอ่อนมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ทั่ว เมื่อใบแก่จะออกสีเขียวเป็นมัน ใบหนา มีลายสีเหลืองขึ้นเป็นริ้วประมาณ 7-8 เส้น

ดอก : มักออกมาให้เรายลโฉมในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม โดยจะทยอยบานไปเรื่อย ดังนั้นถ้าใครวาดหวังว่าจะได้เห็นดอกไม้สีแดงบานสะพรั่งพร้อมกันทั่วทั้งต้น ดับฝันไปได้เลย ไม่มีให้เห็นแน่นอน ทองหลางนั้นออกดอกเป็นช่อกระจาย ประกอบไปด้วยดอกย่อยรูปถั่วจำนวนมาก ในหนึ่งช่อก็ค่อย ๆ ทยอยบานเช่นกัน

ผล : ออกเป็นฝักสีน้ำตาลเข้มค่อนข้างแบน เว้าโค้งเล็กน้อย เมื่อฝักแก่แล้วจะแตกอ้าออก พบเมล็ดด้านในจำนวน 2-4 เมล็ด

ทองหลาง

ประโยชน์

อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าเจ้าทองหลางนั้นเป็นต้นไม้กินใบได้ มักนำมาทานกับเมี่ยงคำซึ่งใบของเขาให้รสชาติออกหวาน มัน ซึ่งใบของแต่ละสายพันธุ์ก็มีรสชาติที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย รายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ใบก็ยังมีฤทธิ์เป็นสมุนไพรแก้ลม แก้ริดสีดวง ส่วนรากนั้นใช้แก้พิษได้หลายอย่างมาก

ทองหลาง

การขยายพันธุ์

ทองหลาง เป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การเพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะใช้วิธีการปักชำเป็นหลักเนื่องจากสามารถทำได้ง่าย และถ้าหากว่าเพื่อน ๆ กำลังสนใจอยากเพิ่มจำนวนประชากรเจ้าต้นนี้กันด้วยตัวเอง เรามีเคล็ดไม่ลับดี ๆ มาฝาก

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

– กรรไกรตัดกิ่ง

– ทองกลางต้นแม่

– ดินปลูก

– ถุงเพาะชำ

ขั้นตอนการปักชำต้นไม้

1.ให้เราทำการเลือกกิ่งที่จะมาปักชำก่อนเป็นอันดับแรก โดยสังเกตหากิ่งที่เป็นสีเทา ขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ ซึ่งจะเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป แตกรากงอกได้ง่าย

2.จากนั้นใช้กรรไกรตัดกิ่ง ตัดออกมาจากต้นได้เลย ให้กิ่งนั้นมีความยาวราว ๆ 20-30 เซนติเมตร

3.จากนั้นนำดินปลูกบรรจุใส่ถุงเพาะชำแล้วรดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น

4.นำกิ่งที่เตรียมไว้ปักลงไปในดินแล้วรดน้ำ จากนั้นวางเขาเอาไว้ในบริเวณพื้นที่ร่มรำไร แล้วหมั่นรดน้ำทุกวันได้เลย

การปลูก/ดูแล

แสง : ทองหลาง เป็นต้นไม้ชอบแดดจัด เฉกเช่นเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ ดังนั้นหากเพื่อน ๆ ต้องการปลูกก็จำเป็นต้องพิจารณาหาพื้นที่โล่งกว้าง โดนแสงแดดทั้งวันให้เขา

ดิน : ทองหลางเติบโตได้ดีในดินทุกประเภทแม้กระทั่งในดินเลวก็ตาม

น้ำ : ควรให้น้ำแก่เขาสักวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ

ปุ๋ย : เน้นความเป็นธรรมชาติและให้ปุ๋ยคอกค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารไปเลี้ยงพืช

ทองหลาง

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับต้นทองหลาง ที่เราได้ทำการรวบรวมมาฝากเพื่อน ๆ เห็นกันแล้วใช่ไหมคะว่า ถ้าต้องการครอบครองเจ้าต้นไม้นี้จะต้องมีใจรักและพื้นที่เพียงพอ สามารถปลูกใกล้บ้านได้นะ เนื่องจากระบบรากของเขาไม่ทำลายโครงสร้างใด ๆ ส่วนจะเหมาะสำหรับเพื่อน ๆ มากแค่ไหนคงต้องไปพิจารณากันเอาเองแล้วล่ะ สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment