หญ้าหวาน แทนน้ำตาลได้จริงไหม ปลูกแบบไหนถึงจะรอด!

by plantlover
หญ้าหวาน

น้ำตาลที่เรากินอยู่ทุกวัน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ผู้คนจึงหันมาศึกษาเรียนรู้และใช้ “หญ้าหวาน” ให้ความหวานแทนน้ำตาลกันมากขึ้น แม้เขาจะเป็นพืชที่ชอบความหนาว แต่ปัจจุบันมีการคิดค้น พัฒนาสูตรการปลูกที่เหมาะกับอากาศร้อนของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ส่วนหญ้าชนิดนี้จะมีประโยชน์แค่ไหน มีข้อเสียอย่างไร ต้องปลูกด้วยวิธีไหนถึงจะรอด วันนี้เรามีเคล็ดไม่ลับมาฝาก

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับ “หญ้าหวาน” หรือ “สตีเวีย” ขายแพงมาก ปลูกยากแค่ไหน มาดู!

หญ้าหวาน

หญ้าหวาน คือ พืชล้มลุกขนาดเล็ก อายุราว ๆ 3 ปี ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อให้ความหวานแทนน้ำตาลได้โดยไม่ก่อให้เกิดพลังงาน ใบของเขามีรสชาติหวาน เนื่องจากสารกดสำคัญอย่างสตีวิโอไซด์ (Stevioside) ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทั่วไป 200-300 เท่า 

เดิมทีเจ้าต้นนี้เป็นพืชพื้นถิ่นของประเทศบราซิล ไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ ค่อนข้างชอบอุณหภูมิในระดับ 20-26 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าให้พูดกันตามตรงคงไม่เหมาะจะปลูกในประเทศไทย จึงทำให้หญ้าชนิดนี้มีราคาแพง หากใครสามารถปลูกได้ ก็สร้างกำไรได้ง่าย ๆ เช่นกัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni 

ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE (วงศ์ทานตะวัน)

ชื่อสามัญ : Stevia 

หญ้าหวาน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : พุ่มเตี้ยความสูง 30-90 เซนติเมตรโดยประมาณ ลำต้นกลม แข็ง คล้ายกับพืชตระกูลกะเพรา โหระพา และมิ้นท์ ผิวเปลือกสีเขียวอมเทา

ใบ : เป็นพืชใบเดี่ยว ออกใบเป็นคู่ตรงข้ามกันที่บริเวณลำต้นไปจนถึงยอด มักแตกยอดสั้นเหนือซอกใบ ลักษณะใบเป็นรูปหอกกลับสีเขียว ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตรโดยประมาณ หากลองเคี้ยวใบสดดูจะพบว่านี่คือส่วนที่มีรสหวาน และมีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

ดอก : ออกเป็นช่อที่บริเวณปลายยอด ดอกย่อยสีขาว มี 5 กลีบดอกรูปหอก พบเกสรตัวผู้สีเหลืองและเกสรตัวเมีย ลักษณะคล้ายคลึงกับหนวดปลาดุก 

ผล : ออกผลเดี่ยว ไม่ปริ พบเมล็ดสีดำ มีขนปุกปุยภายในจำนวนมาก สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้

หญ้าหวาน

ประโยชน์ของหญ้าหวาน

– ใช้ประกอบอาหาร ให้มีรสชาติหวานแทนการใช้น้ำตาล โดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากหญ้าชนิดนี้ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน แถมยังไม่เป็นพิษอีกด้วย

– ช่วยในการคุมน้ำหนัก สำหรับคนที่ติดรสชาติหวาน

– สตีวิโอไซด์ คือสารที่ทนทานต่อความร้อนได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับนำมาให้ความหวานในขนมอบร้อน เบเกอรี่ ขนมไทย ถือว่าเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย จัดว่าเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่น่าสนใจมาก ๆ

ข้อเสียของหญ้าหวาน

ผู้ที่แพ้พืชในตระกูลทานตะวัน ไม่ควรรับประทานหญ้าชนิดนี้ ในบางรายอาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตลอดไปจนถึงชาตามร่างกายได้ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน

หญ้าหวาน

การขยายพันธุ์

หญ้าหวาน สามารถขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่การเพาะเมล็ด ไปจนถึงปักชำกิ่ง ทว่าการทำให้เขามีชีวิตอยู่รอดค่อนข้างยากกว่าพืชชนิดอื่นมาก ๆ ในประเทศไทยมักปลูกกันทางภาคเหนือ และถ้าหากคุณคือมือใหม่ที่อยากลองเพิ่มจำนวนประชากรพืชชนิดนี้ด้วยการเพาะเมล็ด ก็สามารถทำตามขั้นตอนของเราได้เลย

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

– กระถางหรือถาดเพาะมีรูระบายน้ำ

– ฟ็อกกี้

– ดินปนทราย 1 ส่วน

– เมล็ดหญ้าหวาน

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด

1. ใช้ดินร่วนปนทราย 1 ส่วนมาเทลงในถาดเพาะชำ

2. จากนั้นนำเมล็ดหญ้าโรยลงไป

3. ใช้ดินกลบหน้าเบา ๆ

4. สเปรย์น้ำเพิ่มความชุ่มชื้นด้วยฟ็อกกี้ 3 เวลาเช้า กลางวัน เย็น

5. รอจนกว่าต้นจะงอกและเติบโตแข็งแรงค่อยนำไปปลูกลงดิน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้และวิธีการปลูกย้ายกล้าหญ้าหวาน

– ดินปนทราย 1 ส่วน

–  แกลบดิบเก่า 1 ส่วน

– แกลบดำ 1 ส่วน

– ขุยมะพร้าว 1 ส่วน

– ขี้วัว ½ ส่วน

– น้ำหมักปลา 20 cc

– น้ำหมักผลไม้ 20 cc

– น้ำเปล่า 5 ลิตร

– กระสอบเปล่า

– กระถางขนาดใหญ่ มีรูระบายน้ำ

ขั้นตอนการย้ายกล้าหญ้าหวาน

1. นำดินปนทราย แกลบดิบเก่า แกลบดำ ขุยมะพร้าว ขี้วัว ตามสัดส่วนด้านบนมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน

2. จากนั้นผสมน้ำหมักปลาและน้ำหมักผลไม้ เข้ากับน้ำเปล่า 5 ลิตร แล้วคลุกเคล้านทั้งดินและน้ำให้เข้ากันอีกรอบ

3.บรรจุใส่กระสอบทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อทำวัสดุปลูก

4. เสร็จสรรพบรรจุดินใส่กระถาง แล้วนำต้นกล้าที่แข็งแรงแล้วมาลงในวัสดุปลูกที่เตรียมไว้ได้เลย

หญ้าหวาน

การดูแล

ดิน : เน้นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้เป็นอย่างดี

แสง : หญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่ชอบแสงแดดรำไร ถึงแสงแดดน้อย

น้ำ : ควรรดน้ำแบบฝอยกระจาย 3 เวลาในช่วงเช้า 09.00 น. ช่วงกลางวัน 12.00 น. และช่วงบ่าย 15.00 น. โดยประมาณ

การดูแลเพิ่มเติม : ฉีดพ่นไตรโคเดอร์มา สัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อป้องกันรากเน่า

สรุป

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเจ้าหญ้าหวาน พืชผักราคาแพงยอดนิยมในสมัยปัจจุบัน ซื้อตามตลาดราคาพุ่งแรงมาก ตกกิโลกรัมละ 450-2,000 บาทขึ้นอยู่กับเกรดการผลิต โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เทรนด์รักสุขภาพมาแรงแบบนี้ บอกเลยว่าน่าสนใจมาก มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ส่วนใครอยากลองปลูก เก็บเอาเคล็ดลับที่เรานำมาฝากไปใช้งานจริงกันได้เลยนะคะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment