หากกล่าวถึงผลไม้แห้งยอดฮิต เชื่อว่า “อินทผาลัม” คงเป็นหนึ่งในนั้น และเข้าไปอยู่ในดวงใจของใครหลายคน ด้วยรสชาติของผลแห้งที่หวาน เคี้ยวหนึบ อร่อย ลงตัว กินเล่นได้เรื่อย ๆ ไม่มีเบื่อ แถมดีงามต่อสุขภาพ ทว่าเจ้าผลไม้นี้ก็มีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันออกไป เราจึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับเขาให้มากกว่าที่เคย
รู้จักกับ “อินทผาลัม” ผลไม้ที่มีประโยชน์ ใครอยากปลูกต้องอ่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix dactylifera L.
ชื่อภาษาอังกฤษ : Date palm
ชื่อวงศ์ : ARECACEAE
ชื่อภาษาไทย : อินทผาลัม
ชื่ออื่น ๆ : ปาล์มไต้หวัน
เชื่อกันว่าอินทผลัม มีถิ่นกำเนิดมาจากทางแถบตะวันออกกลาง เขาคือผลไม้ที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดอีกหนึ่งชนิดของโลก แน่นอนว่าเป็นต้นไม้ตระกูลเดียวกับปาล์ม สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก และไม่เคยลองลิ้มรสชาติของมันมาก่อน อาจจะสงสัยว่าสามารถกินได้จริงหรือ? ซึ่งแท้จริงแล้วสามารถกินได้ทั้งผลสดและผลแห้งเลยล่ะ ผลสดเนื้อกรอบมีรสหวานไม่มาก อารมณ์เหมือนทานพุทรา ส่วนผลแห้งเนื้อนุ่ม หวานกำลังดี หอมอร่อย ดีต่อใจใครหลายคน
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
ลำต้น : เขาเป็นไม้ยืนต้น ลำต้นเดี่ยว ตั้งตรง เนื้อไม้เหนียว เปลือกมีสีน้ำตาล เทา ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ค่อนข้างแข็ง ผิวขรุขระเกิดจากก้านที่หลุดออกไปจากลำต้น
ใบ : ใบของเขาเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยออกเรียงตรงข้ามกัน ใบรูปหอก ยาว ปลายเรียวแหลม โคนใบก็แหลมเช่นกัน ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน
ดอก : ดอกของเขาจะออกเป็นช่อ ตามซอกใบ ก้านช่อดอกยาว มีดอกย่อย ดอกสีเหลืองนวล เกสรสีขาว มีน้ำหวาน
ผล : เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของเขาเลยล่ะ สำหรับผลจะออกเป็นพวง ก้านยาว ลูกทรงรี (อาจรีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์) ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีส้มไปจนถึงแดง ผิวเปลือกมัน เนื้อเหลืองฉ่ำ
เมล็ด : เมล็ดอยู่ข้างในผล มีเนื้อหุ้ม รูปทรงรี สีน้ำตาลและแข็ง
ประโยชน์
อย่างที่เราทราบกันดีว่าเขาเป็นผลไม้มากประโยชน์ มีโพแทสเซียมสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้ดี ช่วยฟื้นฟูร่างกายที่อ่อนล้าให้สดชื่นมากยิ่งขึ้น หากทานวันละ 7 เม็ด จะบำบัดพิษต่าง ๆ ช่วยทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง ยับยั้งการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน
สายพันธุ์
อินทผาลัม เป็นผลไม้อร่อยที่อาจมีมากกว่า 30 สายพันธุ์ ซึ่งเราจะมาแนะนำสายพันธุ์ยอดนิยม คนชอบกิน และสามารถปลูกเอาไว้ขายได้ ดังต่อไปนี้
– เดกเล็ทนัวร์ (Deglet Noor) พันธุ์นี้จะมีถิ่นกำเนิดจากทางประเทศแอลจีเรียและตูนีเซีย ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ราชินี เนื่องจากหากนำมาทานแบบผลแห้งจะให้รสชาติหวานกำลังดี เนื้อแน่น ไม่กระด้าง อร่อย เป็นที่นิยม ถูกปากคนส่วนใหญ่
– เมดจูล (Medjool) ก็เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ราชินี แต่ผลจะใหญ่ขึ้นมาหน่อยและมีราคาแพงกว่า Deglet Noor ส่วนรสชาติจะหวาน อร่อย กำลังดี
– บาฮี (Barhee) เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่เมล็ดใหญ่ขึ้นมาหน่อย มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอิรัก ส่วนใหญ่เน้นทานผลสด เนื้อกรอบ หอม หวาน รสไม่ฝาด
– คาลาส (Khalas) มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศซาอุดิอาราเบีย ผลแห้งของสายพันธุ์นี้มีราคาค่อนข้างถูกกว่าสายพันธุ์อื่น ลูกจะกลมกว่า และเมื่อนำไปตากแห้งจะมีรสหวานติดฟันมากกว่า เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบความหวาน เนื้อเหนียวนิ่ม
การขยายพันธุ์ ปลูก และข้อมูลอื่น ๆ
อินทผลัม ขยายพันธุ์ได้ทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแยกหน่อ และการเพาะเมล็ดที่เราอยากแนะนำสำหรับมือใหม่ ที่อาจไม่เชี่ยวชาญด้านการปลูกมากนัก และอยากปลูกเอาไว้ดูเล่น หรือไม่เร่งให้เขาเจริญเติบโต และการเพาะเมล็ดสามารถทำได้ดังนี้
เมล็ดสามารถแกะออกมาปลูกได้ทั้งจากผลสดและผลแห้ง แต่ต้องเป็นผลแห้งตามธรรมชาติที่ไม่ใช่การอบแห้ง เมื่อได้มาแล้วให้ล้างเยื่อหุ้มออกจากเมล็ดจนเกลี้ยงเกลา และนำเมล็ดไปแช่น้ำทิ้งเอาไว้ประมาณ 3 คืน และเปลี่ยนน้ำทุก ๆ 12 ชั่วโมง
นำทิชชู่มาวางลงบนกล่องพลาสติกมีฝาปิด พรมน้ำบนทิชชู่และวางเมล็ดลงไป ก่อนผิดฝาให้สนิท ห้ามโดนแสงแดดจนกว่ารากของเขาจะงอกออกมาซึ่งอาจใช้เวลาราว ๆ 4-6 วัน จากนั้นนำไปเพาะในถุงเพาะชำได้เลย สักประมาณ 20 วัน เขาก็จะแตกหน่อขึ้นมา และอาจนำไปปลูกได้ภายใน 6 เดือน
ทั้งนี้กว่าผลผลิตรอบแรกของเขาจะออกมาให้เราได้เชยชมก็เป็นเวลาราว ๆ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ แต่จะให้ผลผลิตรอบเดียวก่อน เว้นช่วงไปสักพักก็จะมีผลผลิตออกบ่อยยิ่งขึ้น ฤดูกาลของเขาจะอยู่ในช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ได้ผลผลิตแล้วนำไปแปรรูปสร้างรายได้ กำไรงามไม่น้อย
เพื่อน ๆ น่าจะได้เห็นกันไปแล้วว่า การปลูก “อินทผาลัม” นั้นต้องทำอย่างไร การดูแลก็ต้องทำอย่างใส่ใจ หมั่นรดน้ำ เพื่อรอเวลา หากปลูกเอาไว้เพื่อรอวันทำกำไรก็อาจจะต้องใช้ทุนทรัพย์ คล้ายกับต้นไม้หลายชนิดที่ต้องรอจนกว่าเขาจะสามารถมีผลได้ หวังว่าเพื่อน ๆ จะเก็บนำข้อมูลเหล่านี้ไปครุ่นคิดและเป็นไอเดียต่อยอดธุรกิจเจ๋ง ๆ เพื่อสร้างรายได้มหาศาลนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net