ผักกาดแก้ว เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผักสลัดที่มีความต้องการสูงอันดับต้น ๆ ของตลาด และถึงแม้ว่าจะชื่นชอบอากาศหนาวเย็นแต่ก็สามารถปลูกในเมืองไทยได้ รสชาติอร่อย อยู่ในเมนูจานสลัดหรือผัดผักก็เป็นไอเดียที่น่าสนใจ ปลุกกินเองก็ได้ง่าย ๆ ปลุกสร้างรายได้ก็ดี หากคุณคือคนหนึ่งที่กำลังสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับผักดังกล่าว เรามีเคล็ดลับในการปลูก และเรื่องที่คุณต้องรู้มาฝาก
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับผักกาดแก้ว และวิธีปลูกผักสลัดที่คุณเองก็ทำได้!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lactuca sativa
ชื่อวงศ์ : Asteraceae (วงศ์ทานตะวัน)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Head Lettuce, Iceberg Crisp, Crisphead
ชื่ออื่น ๆ : ผักกาดหอมคริปส์เฮด
ผักกาดแก้ว คือพืชล้มลุกขนาดเล็ก อายุสั้นฤดูเดียวที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบทวีปยุโรป และทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในเมืองหนาว หน้าตาของเขาแอบมีความคล้ายคลึงกับกะหล่ำหัว โดยจะออกมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ที่มาของชื่อ lceberg นั่นก็เพราะว่า ผักสลัดแก้วมีเนื้อสัมผัสกรุบกรอบ ทำให้นึกถึงน้ำแข็ง ก้านฉ่ำน้ำ ไม่เหม็นเขียว ทานคู่กับอะไรก็อร่อย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลักษณะลำต้นของเขาเป็นแบบเดี่ยว มีความกลม อวบอ้วน เป็นข้อสั้น อวบน้ำ ออกก้านรอบต้นเรียงสลับกัน คลุมโคนลำต้น
ใบ : ขึ้นชื่อว่าผักกาดหอมห่อ เมื่อมองแบบผิวเผินก็จะเห็นใบของเขาห่อหุ้มเป็นหัวกลม ซึ่งใบจะออกเรียงสลับรอบต้น โดยใบด้านในมีขนาดเล็กกว่าด้านนอก ทรงใบกลมรี โคนกว้าง เนื้อหนาเป็นคลื่น ใบสีเขียวอมขาว ส่วนก้านจะออกสีขาวนวลเลยล่ะ
ดอก : ผักกาดแก้วก็มีดอกกับเขาเช่นกัน โดยจะออกเป็นแบบช่อ ใหญ่ ยาว แตกแขนงก้านย่อยจำนวนมาก กลีบดอกย่อยสีเหลืองสวยงาม
คุณค่าทางโภชนาการเบื้องต้น
ผักกาดแก้วอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่าเจ้าผักชนิดนี้เปรียบเสมือนยานอนหลับและยากล่อมประสาทชั้นดี หากนำไปปั่นเป็นน้ำผักเพื่อดื่ม เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานเนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณน้อยมาก มีธาตุเหล็กสูงช่วยในเรื่องโลหิตจาง ดีต่อสุขภาพของคุณผู้หญิงอย่างมาก นอกจากนี้ก็ยังประกอบไปด้วยโภชนาการอันน่าสนใจตั้งแต่แคลเซียม, เส้นใย, วิตามินซี, โพแทสเซียม, วิตามินเอ, วิตามินอี, ฟอสฟอรัส, วิตามินบี1 / บี2 / บี3 / บี5 / บี6 / บี9, เบตาแคโรทีน, โปรตีน, ไขมัน, แมกนีเซียม, ไขมัน และแมงกานีส
การขยายพันธุ์ / ปลูก
เนื่องจากผักสลัดคริปส์เฮด นั้นมีอายุราว ๆ 60-80 วัน จึงนิยมปลูกกันในแปลงดินธรรมดามากกว่าแบบไฮโดรโปนิกส์ และเนื่องจากเป็นผักที่ปลูกง่าย สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกประเภท ทว่าก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นเพาะเมล็ดพันธุ์ผักกาดแก้วกันก่อนเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– เมล็ดผัก (เลือกให้ดีบอกวันหมดอายุชัดเจน)
– ถาดเพาะเมล็ด
– พีทมอส
– ดินร่วน 3 ส่วน
– ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน
– กระถางหรือแปลงปลูกขนาดใหญ่ก็ได้เช่นกัน
วิธีเพาะเมล็ดผักสลัด
1.เตรียมพีทมอสแช่น้ำเอาไว้ 1 คืนจนมั่นใจว่าความชุ่มชื้นเข้าไปได้ดีแต่ไม่แฉะ
2.นำพีทมอสมาใส่ลงไปในถ้วยหรือถาดเพาะที่เราเตรียมเอาไว้
3.โรยเมล็ดผักสลัด ลงไปเพราะประมาณหลุมละ 1-2 เมล็ด
4.จากนั้นโรยพีทมอสปะหน้าเมล็ดพันธุ์เล็กน้อย แล้วพรมน้ำให้ชุ่มชื้นแล้ววางทิ้งเอาไว้ในร่มเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นก็นำไปออกแดดได้เลยเพื่อให้ต้นไม่ยืด
5.เมื่ออายุได้ 15 วันก็ควรค่าแก่การนำไปปลูกแยกแปลงแล้วล่ะ
เคล็ดลับปลูกผักกาดแก้วให้กาบห่อสวย กรอบอร่อย
1.หลังจากที่ผักมีอายุ 15 วัน เราจะต้องนำเขาลงไปยังแปลงปลูกหรือกระถางที่มีส่วนผสมของดินร่วน 3 ส่วนและปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน โดยผสมผสานดินให้เข้ากันไว้ล่วงหน้าประมาณ 15 วัน
2.เมื่อนำไปปลูกในกระถาง หรือลงแปลงให้ทิ้งระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 30×50 เซนติเมตร ในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน จะทำให้ต้นแข็งแรง ทนทาน
3.หากผักมีอายุราว ๆ 20 วัน ก็ให้เริ่มพรวนดิน ใส่ปุ๋ยมูลวัวเป็นครั้งแรก
4.ดูแลผักโดยการรดน้ำ เช้า – เย็น ให้ดินชุ่มชื้น และอาจพ่นปุ๋ยทางใบบ้าง
5.เมื่อผักอายุครบ 45 วันจะเป็นช่วงเวลาที่ใบเริ่มแน่น ให้พรวนดินอีกหนึ่งหน แล้วเติมปุ๋ยมูลวัวเข้าไป
6.ใบผักจะเริ่มห่อในช่วงเวลาประมาณ 60 วัน หากตัดก่อนใบของเขาก็จะไม่ห่อ แต่ยังคงกรอบอร่อย กินได้เช่นกัน
วิธีตัดผักกาดแก้ว
เมื่อเราตัดสินใจที่จะเก็บเกี่ยวผักสลัด โดยทั่วไปมักจะทำกันในช่วงอายุผัก 2 เดือน กอเขาจะใหญ่และแน่นมาก ให้ใช้มีดคมเฉือนที่ฐานของลำต้น แล้วเด็ดใบฝั่งด้านนอกออกสักหน่อย เพื่อความสวยงาม และได้ทานผักที่กรอบมากยิ่งขึ้น
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ ผักกาดแก้ว สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังสนใจอยากปลูกผักกินเอง หรือปลูกเอาไว้ขาย สร้างอาชีพเสริม ต้องบอกเลยว่าเขาเป็นผักที่เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก แนะนำให้เริ่มปลุกในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะทำให้ผักเจริญเติบโตอย่างเต็มที่เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และสุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net