สาหร่ายหางกระรอก ปลูกในตู้ปลา เพิ่มออกซิเจน ประโยชน์เยอะ!!  

by plantlover
สาหร่ายหางกระรอก

หากกล่าวถึงสาหร่ายหางกระรอก ก็เชื่อว่าหลายคนจะต้องรู้จักกับเจ้าพืชน้ำชนิดนี้หรือเคยเห็นผ่านหน้าค่าตากันมาบ้าง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งสวยงาม ต้องมีเขาติดบ้านเอาไว้เพิ่มออกซิเจนในน้ำให้สัตว์เลี้ยงแสนรักอย่างแน่นอน เราต้องขอบอกเลยว่าสาหร่ายชนิดนี้ปลูกง่าย มีประโยชน์มากมายเกินคาดคิด หากคุณกำลังสนใจเจ้าต้นนี้อยู่ นี่คือสิ่งที่ควรรู้เอาไว้!! 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับสาหร่ายหางกระรอก ต้นไม้น้ำยอดฮิต ปลูกในตู้ปลา!! 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrilla verticillata (Roxb.) Royle 

ชื่อวงศ์ : Hydrocharitaceae (วงศ์สันตะวา)

สกุล : Hydrilla 

ชื่อสามัญ : Florida elodea 

สาหร่ายหางกระรอก

เดิมทีสาหร่ายหางกระรอกเป็นเพียงวัชพืชน้ำที่ขึ้นอยู่ในห้วย หนอง คลอง บึง ไม่ได้มีประโยชน์มากมายนัก มักพบในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึง ผืนน้ำที่ยังใส ว่ากันว่าเจ้าสาหร่ายน้ำจืดชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดมาจากพื้นที่เขตอบอุ่นและเขตร้อนของซีกโลกตะวันออก แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นพืชพื้นเมืองของคนไทยและหลายแห่งอีกเช่นเดียวกัน จนกระทั่งมนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ ปลูกเอาไว้ในตู้ปลาเพื่อเป็นไม้ประดับสวยงาม แอบแฝงประโยชน์มากมายเกินคาดคิด แถมยังปลูกและดูแลง่ายมากอีกด้วย 

สาหร่ายหางกระรอก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

ลำต้น : ลำต้นของสาหร่ายหางกระรอก มีลักษณะเป็นสายยาว เรียว ทอดตามความลึกของน้ำที่อาศัยอยู่ โดยอาจมีความยาวได้ถึง 3 เมตรเลยทีเดียว 

ใบ : ใบของสาหร่ายจะจมลงใต้น้ำเฉกเช่นลำต้น รูปใบเรียว แบน เหมือนรูปกระบี่ ใบสีเขียวตุ่น ขอบหยักเป็นซี่เล็กน้อย ยาว 10-20 มิลลิเมตร และกว้าง 2-5 มิลลิเมตร โดยประมาณ ออกแบบแตกเป็นวงรอบข้อตามลำต้น ไม่มีก้านใบ ในแต่ละชั้นประกอบไปด้วยใบย่อย 2-8 ใบ 

ดอก : สาหร่ายหางกระรอกจะออกดอกเดี่ยว ที่ซอกใบ ขณะที่ดอกตูมจะจมอยู่ใต้น้ำ เมื่อดอกบานจะลอยเสมอผิวน้ำ สีขาวเด่นให้เราได้เห็นเป็นบุญตา ก้านดอกค่อนข้างสั้น ประกอบด้วย 3 กลีบเลี้ยงและ 3 กลีบดอก 3 ยอดเกสรเพศผู้กับ 1 ยอดเกสรเพศเมีย 

สาหร่ายหางกระรอก

สาหร่ายหางกระรอก VS สาหร่ายพุงชะโด ต่างกันอย่างไร? 

หากนำพืชน้ำทั้งสองชนิดนี้มาเปรียบเทียบกันอย่างจริงจัง เราก็จะเห็นถึงความแตกต่างของเขา เพราะสาหร่ายพุงชะโดจะมีใบที่ค่อนข้างหนาแน่นกว่าสาหร่ายหางกระรอก และใบมีรูปร่างเป็นฝอยละเอียดมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด 

สาหร่ายหางกระรอก

ประโยชน์ 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าสาหร่ายชนิดนี้มีประโยชน์มากกว่าการเป็นไม้ประดับตู้ปลาธรรมดา นอกจากรูปร่างหน้าตาสวยงาม ตกแต่งเพิ่มสีสันให้น้องสัตว์น้ำของเราแล้ว เขาก็ยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ โดยเกิดจากกระบวนการสังเคราะห์แสง ผลิตออกมาในปริมาณที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลา แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับปั๊มออกซิเจนอยู่ดี ส่วนอีกหนึ่งคุณสมบัติที่เราไม่ควรมองข้ามก็คือ เขาสามารถเป็นอาหารของปู กุ้งและปลาที่เราเลี้ยงได้อีกด้วย ในสาหร่ายหางกระรอกจะอุดมไปด้วยวิตามินบี12 เหล็กและแคลเซียม 

อีกหนึ่งเหตุผลที่คุณควรปลูกสาหร่ายหางกระรอกไว้ในตู้สัตว์น้ำ ก็คือช่อของสาหร่ายสามารถเป็นที่ซ่อนตัวของน้อง ๆ จากภัยอันตรายได้เป็นอย่างดี ช่วยขับขี้ปลาเมื่อยามเราไม่มีเวลาทำความสะอาด ใครเป็นคนทำงานเยอะ ไม่ค่อยเปลี่ยนน้ำตู้ปลา บอกเลยต้องมี!! 

สาหร่ายหางกระรอก

การขยายพันธุ์

ด้วยความที่สาหร่ายหางกระรอกเป็นวัชพืชน้ำ เพื่อน ๆ น่าจะพอทราบว่าเขาสามารถกระจายตัวออกไปตามที่ต่าง ๆ อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องการการดูแลมากนัก จนบางครั้งก็ควบคุมยาก แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อควรคำนึงถึงอยู่บ้าง และวันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวิธีปลูกสาหร่าย ในตู้ปลาไปพร้อมกัน!! 

ขั้นตอนวิธีการปลูกสาหร่ายหางกระรอก 

1.นำต้นพันธุ์ของสาหร่ายมาในปริมาณเท่าใดก็ได้ อาจจะเก็บมาจากตามห้วย หนอง คลอง บึง หรือหาซื้อตามร้านค้าออนไลน์ 

2.จากนั้นให้จัดหาน้ำมาใส่ลงไปในกะละมัง หรือถ้าใครมีบ่อบัวอยู่แล้วก็สามารถใช้บ่อบัวได้เลย ส่วนน้ำเน้นมาจากแหล่งธรรมชาติ ไม่มีคลอรีน หากไม่มีน้ำคลองก็ใช้น้ำบาดาลแทน 

3.จากนั้นนำต้นพันธุ์ของสาหร่ายหางกระรอกมาวางลงในน้ำได้เลย เรียกว่าการชำน้ำ ไม่ต้องใช้ดินในการขยายพันธุ์ 

4.เมื่อทิ้งสาหร่ายลงไปแล้วให้เราเลี้ยงเขาในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องรำไร จำลองธรรมชาติที่เขาชอบให้ได้มากที่สุด ทิ้งเอาไว้สักประมาณ 3 สัปดาห์สาหร่ายของเราก็จะสยายเต็มกะละมังแล้วล่ะ

5.จากนั้นก็สามารถนำเขาไปตกแต่งตามตู้ปลาอย่างที่เราต้องการได้เลย ถ้าจะให้สวยอย่าลืมหาขอนไม้ ก้อนหินลงไปตกแต่งด้วย 

การดูแลสาหร่ายในตู้ปลา 

พอบอกว่าสาหร่ายตู้ปลาต้องสังเคราะห์แสง ปัญหาที่ตามมาก็คือ เราเลี้ยงปลาเอาไว้ในบ้าน บางครั้งก็ยากจะมีแดดส่องถึง เพราะความร้อนอาจทำให้ปลาเราเครียดและตายได้ ถ้าหากสาหร่ายไม่ถูกแสงก็อาจเน่าตายเช่นกัน ดังนั้นคนเลี้ยงปลาส่วนใหญ่จึงแก้ปัญหาโดยการใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์เปิดไฟเลี้ยงสาหร่ายในปริมาณ 1 W ต่อน้ำ 1 ลิตร เปิดขั้นต่ำ 4 ชั่วโมงก็เป็นอันเพียงพอ 

และนี่ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับสาหร่ายหางกระรอก ที่เราได้ทำการรวบรวมมาฝากทุกคน ตั้งแต่ประโยชน์ ความแตกต่าง การปลูกและดูแล เห็นไหมล่ะว่าการเลี้ยงสาหร่ายไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพื่อน ๆ คนไหนกำลังสนใจอยู่ก็อย่าลืมหามาปลูกกันนะคะ ไม่เป็นภาระอย่างแน่นอน!! 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment