อยากปลูกต้องรู้!! ว่านหางช้าง ไม้ดอกมงคล สวยงาม มีประโยชน์กว่าที่คิด 

by plantlover
ว่านหางช้าง

นอกจาก ว่านหางช้าง จะเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแล้วยังมาพร้อมสรรพคุณน่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะด้านความเชื่อเกี่ยวกับคุณไสย ทว่ายังคงมีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นพืชชนิดเดียวกันกับว่านเพชรหึง (เพราะชาวใต้เรียกว่านเพชรหึงว่าหางช้าง) และในวันนี้ Plantlover จะพาทุกคนมาทำความรู้จักและเข้าใจกับธรรมชาติของว่านชนิดนี้กัน ไปติดตามกันได้เลย 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับ “ว่านหางช้าง” ไม้มงคลประดับสวนสวยงาม น่าสนใจอย่างไร? 

ว่านหางช้าง

ชื่อสามัญ : Blackberry lily, Leopard lily (Leopard flower) 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Iris domestica (L.) Goldblatt & Mabb. 

วงศ์ : IRIDACEAE 

ชื่อภาษาไทยและชื่อท้องถิ่น : ว่านหางช้าง, ว่านมีดยับ, ว่านแม่ยับ (ภาษาเหนือ) 

ว่านชนิดนี้ คือหนึ่งในไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราเอง และกระจายไปทั่วทุกมุมโลก เป็นไม้มงคลที่คนรักพรรณพืชไว้ใจปลูกเขาไว้ในบ้านของตนเอง แน่นอนว่าเขามาพร้อมสรรพคุณมากมายซึ่งเราจะได้ทราบกันต่อไป 

ความเชื่อเกี่ยวกับไม้มงคลชนิดนี้ 

ตามตำราของคนไทยเชื่อว่า เขาเป็นว่านมหาคุณ หากปลูกไว้บริเวณหน้าบ้านจะช่วยป้องกันภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ทั้งเสนียดจัญไร แก้คุณไสยตามความเชื่อของชาวอีสาน ดอกว่านช่วยแก่คุณไสยที่ทำจากเส้นผม ส่วนลำต้นนิยมใช้เมื่อหญิงสาวใกล้คลอด ให้ใช้ต้นของเขาโบกพัดโบกไปที่บริเวณท้องของผู้หญิงคนนั้น จะช่วยให้คลอดลูกง่ายยิ่งขึ้น และใบของเขาช่วยแก้คุณไสยที่ทำจากเนื้อได้ 

ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ของว่าน

ว่านหางช้าง

ลำต้น : ลำต้นของว่านมีลักษณะเป็นลำต้นใต้ดิน อาจมีความยาวถึง 1.5 เมตรเลยทีเดียว เขาเป็นพืชมีเหง้าเลื้อยตามแนวดินและมีรากมาก 

ใบ : ส่วนใบของไม้มงคลชนิดนี้ จะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นจากเหง้า เรียงสลับซ้ายขวา ใบด้านล่างจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านบน ลักษณะใบรูปดาบกว้าง 2-4.5 เซนติเมตร ยาว 20-60 เซนติเมตรโดยประมาณ โคนเป็นกาบ ปลายแหลม ขอบใบเรียบแต่หนา 

ว่านหางช้าง

ดอก : ส่วนดอกของเขาคือไฮไลท์สำคัญที่ใคร ๆ ต่างก็รอคอย ซึ่งว่านนี้จะออกดอกเป็นช่อ แตกแขนงไปราว ๆ 6 – 12 ดอก ในแต่ละดอกจะมีด้วยกันทั้งหมด 6 กลีบ รูปกลีบสอบแคบ เนื้อพื้นกลีบเป็นสีเหลือง ขอบสีส้ม เต็มไปด้วยจุดสีแดง มีเกสรเพศผู้ 3 อัน เกสรตัวเมียยาวโค้ง สั้นกว่ากลีบดอก 

ผลและเมล็ดว่าน : ลักษณะผลของเขารูปทรงไข่กลับหัว เป็นพูลึก 3 พู เมื่อแก่จัดจะแตกอ้าออกเป็น 3 เสี่ยง  มีเมล็ดสีดำกลม ผิวมันอยู่ด้านใน 

วิธีการปลูก ขยายพันธุ์ว่านหางช้าง 

ว่านหางช้าง

การขยายพันธุ์ว่านหางช้าง สามารถทำได้หลายวิธีทั้งเพาะเมล็ดและแยกหน่อ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการแยกหน่อมากกว่า ส่วนการปลูกนั้นมักใช้ดินร่วนอันมีส่วนผสมของใบไม้ผุเปื่อย หากเป็นใบก้ามปูจะดีมาก รวมถึงกระถางที่ใช้จะต้องมีรูด้านล่าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เขาระบายน้ำได้ดี 

สถานที่ในการปลูกไม้มงคลก็สำคัญเช่นกัน ให้เลือกบริเวณที่มีแสงแดดรำไรส่องถึงยามเช้าราว ๆ 6 ชั่วโมง แต่ก็มีบางสายพันธุ์ที่สามารถปลูกในร่มได้เช่นกัน ข้อสำคัญคือบริเวณนั้นห้ามมีลมพัดแรงเพาะอาจทำให้ต้นหัก เสียหายได้ 

การดูแลว่านหางช้าง 

ขึ้นชื่อว่าไม้ดอก ก็ย่อมมีความบอบบางมากกว่าพืชทั่วไปเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นการจะเลี้ยงดูเขาให้เจริญเติบโตอย่างดีได้ การเอาใจใส่คือสิ่งสำคัญ เขาสามารถเติบโตในดินที่แห้งแล้งได้ก็จริง แต่การรดน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ คุณควรสังเกตหน้าดินของเขา หากเริ่มแห้งเกินไปอาจจะต้องรดน้ำแล้วล่ะ 

ส่วนการบำรุงด้วยปุ๋ย ในเบื้องต้นก่อนที่ดอกของเขาจะบานให้ใส่ปุ๋ยที่อุดมไปด้วยฟอสฟอรัส และรดน้ำตามทันที ด้านโรคที่มักพบในว่านจะมีทั้งโรครากเน่า สังเกตได้จากใบที่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาล นอกจากนี้ยังสามารถพบศัตรูพืชอย่างเพลี้ย ซึ่งอาจใช้ยาฆ่าเพลี้ยในการกำจัดออกได้ และหอยทากจะใช้วิธีปรับสภาพแวดล้อม โดยการทำความสะอาดรอบต้นไม้เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันซ่อนตัวอยู่ได้ 

ประโยชน์ของว่าน 

ว่านหางช้าง

นอกจากเขาจะเป็นไม้มงคลประดับบ้านแล้ว เขาก็ยังมีสรรพคุณทางยาดังต่อไปนี้ 

 – รากหรือเหง้าสด ใช้ต้มรับประทาน แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ รักษาโรคคางหมู 

– รากแห้งนำไปต้มน้ำเดือด ผสมเกลือแกงใช้ทาบริเวณที่เป็นผด ผื่นคัน วันละ 2 ครั้ง ก็ช่วยบรรเทาอาการได้ 

– ใบ ใช้ต้มเป็นยาระบาย แก้ระดูพิการของสตรี

นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยทางเภสัชวิทยาซึ่งระบุว่า สารสกัดจากเหง้าของว่านช่วยลดอาการอักเสบได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Hyalonidase ทั้งนี้ก็ยังมีผลวิจัยที่ระบุว่าในว่านนั้นมีพิษแต่เพียงเล็กน้อย การใช้เขาเป็นสมุนไพรจึงมีข้อควรระวังอยู่บ้าง ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้เป็นยา เพราะการแพทย์และเภสัชแผนปัจจุบันมีความปลอดภัยกว่าแน่นอน 

และนี่ก็คือข้อมูลเบื้องต้นสำหรับ “ว่านหางช้าง” ที่คนอยากปลูกต้องรู้ ทั้งความเชื่อ การปลูก การดูแลรักษา และสรรพคุณ เชื่อว่าทั้งหมดนี้คงทำให้คุณพอตัดสินใจได้ว่า ตัวเองเหมาะจะเลี้ยงดูว่านชนิดนี้หรือไม่ เราหวังอย่างยิ่งว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะคะ

You may also like

Leave a Comment