หากกล่าวถึง กัญชาแมว เชื่อว่าเหล่าทาสน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะไอ้เจ้าต้นไม้ชนิดนี้ถูกนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เจ้านายสุดที่รักได้เคลิบเคลิ้ม ช่างออดอ้อน จนใจละลาย วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับกัญชาแมวให้มากยิ่งขึ้น ว่าแต่รูปร่างหน้าตาจะเป็นเช่นไร ปลูกเองได้จริงแต่การดูแลรักษา และใช้งานเป็นอย่างไรกันแน่ นี่คือสิ่งที่คุณไม่ควรพลาด!!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับกัญชาแมว (Catnip) สมุนไพรต้นโปรดของเจ้านาย น่าสนใจอย่างไร?
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nepeta cataria
ชื่อวงศ์ : Lamiaceae (วงศ์กะเพรา)
ชื่อสามัญ : Catmint, Catswort
กัญชาแมว หรือ แคทนิป คือพืชในตระกูลเดียวกันกับมิ้นต์ หน้าตาคล้ายคลึงกันจนแยกออกได้ยาก พืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดมาจากทางแอฟริกาเหนือ แถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมไปถึงทวีปเอเชีย มักเกิดขึ้นเองตามพื้นที่ชนบท ค่อนข้างทนแล้งได้ดี ปัจจุบันกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลกเป็นที่เรียบร้อย เหล่าทาสคนไหนอยากทราบข้อมูลเพื่อนำไปปลูกห้ามพลาดเลยล่ะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : กัญชาแมว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะลำต้นตรง ความสูงอยู่ที่ราว ๆ 50-100 เซนติเมตรโดยประมาณ เปลือกต้นสีเขียวอมน้ำตาล มีขนอ่อนปกคลุมอยู่ทั่วทุกบริเวณ จะแตกกิ่งก้านออกไปรอบโคนต้นและชูขึ้น
ใบ : เขาเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบสีเขียวอ่อน คล้ายกำมะหยี่ ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเป็นแฉกคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเป็นหยัก หากมองผิวเผินไม่สังเกตให้ดี อาจคิดว่าเป็นใบมิ้นต์
ดอก : ดอกแคทนิป จะออกเป็นช่อที่บริเวณปลายกิ่ง เต็มไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กมากมาย คล้ายกับลาเวนเดอร์ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดอยู่ที่ราว ๆ 5 มิลลิเมตร สีสันสวยงาม หลากหลาย มีทั้งชมพูปนน้ำเงิน ม่วงปนน้ำเงิน และขาวปนม่วง
การออกฤทธิ์
กัญชาแมวนั้นมีสารประกอบ nepetalactone ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหย เคลือบอยู่กับใบ ก้าน และหลายส่วนของต้น สารดังกล่าวจะถูกปลดปล่อยออกมาก็ต่อเมื่อถูกเคี้ยว ขยี้ หรือแม้กระทั่งยามที่เจ้าเหมียวถูไถตัวเบา ๆ กับลำต้น หากแมวได้สูดดมเข้าไป สารจะจับกับเซลล์รับกลิ่นและส่งสัญญาณไปยังสมอง ทำให้แมวเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม และมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิเช่น ออดอ้อนมนุษย์ ม้วนตัวกลิ้งบนพื้น ขู่คำราม เป็นต้น ฤทธิ์ของเขาจะอยู่กับแมวประมาณ 5-15 นาที นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเข้าใจว่า สมองของแมวตีความว่าสิ่งที่พวกเขาได้พบคือ ฟีโรโมน แต่การออกฤทธิ์นั้นอาจไม่ส่งผลต่อแมวทุกตัวบนโลก
แคทนิป อันตรายไหม?
การจะนำสมุนไพรมาใช้กับเจ้าเหมียว โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ขึ้นชื่อนำหน้าว่า “กัญชา” เป็นธรรมดาที่เหล่าทาสจะต้องกังวลเรื่องอันตรายใช่ไหมล่ะ? ตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ชี้ว่าเขาเป็นอันตรายต่อน้อง แต่ถ้าหากใช้งานมากเกินไปก็อาจส่งผลให้มีอาการน้ำลายไหล กระวนกระวาย จึงไม่ควรให้เขาใช้บ่อยและใช้เท่าที่จำเป็นก็พอ และกัญชาแมวก็ไม่ใช่สารเสพติดอย่างที่หลายคนเข้าใจ
การขยายพันธุ์
เชื่อว่าหลายคนคงสนใจอยากลองปลูกต้นไม้ชนิดนี้กันเอาไว้ที่บ้านกันใช่ไหมคะ และกัญชาแมวสามารถปลูกเอาไว้ในเชิงธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน การขยายพันธุ์ สามารถทำได้ทั้งแบบปักชำกิ่งและเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณต้องเตรียมเอาไว้สำหรับการขยายพันธุ์
อุปกรณ์
1.ถาดเพาะ
2.ดินปลูก
3.เมล็ดแคทนิป
4.ฟ็อกกี้ฉีดน้ำ
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
1.นำดินปลูกที่เราซื้อมา ใส่ลงในถาดเพาะเมล็ด
2.จากนั้นทำการรดน้ำให้ชุ่มสักหน่อย
3.โรยเมล็ดกัญชาแมวลงไปประมาณหลุมละ 2 เมล็ด
4.รดน้ำซ้ำอีกรอบ และนำไปวางเอาไว้ในพื้นที่ที่มีแดดรำไร
5.รดน้ำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ รอให้ต้นงอกออกมาจนโตหน่อย ค่อยย้ายไปปลูกในกระถางตามใจต้องการ
นี่คือวิธีการเพาะเมล็ดที่ง่ายมากที่สุด แต่ถ้าหากเพื่อน ๆ อยากย่นเวลาในการเพาะปลูกหน่อย ก็อาจจะใช้วิธีการแช่เมล็ดกับแผ่นทิชชู่ แล้วปิดฝากล่องเอาไว้ก่อนก็ได้เช่นกันขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน
การปลูก / ดูแล
การดูแลเจ้าต้นกัญชาแมว จัดว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป แต่ต้องเอาใจใส่ตั้งแต่เลือกดิน เขาค่อนข้างชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี ส่วนการรดน้ำในขณะที่ต้นของเขาโตแล้ว ก็ยังต้องหมั่นให้น้ำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพียงแค่ระวังอย่าให้ดินแฉะ ให้ต้นไม้โดนแดดรำไรบ้าง ห้ามอยู่ในร่มเกินไป มีอายุเก็บเกี่ยวอยู่ที่ราว ๆ 85 วัน ใครกำลังคิดจะนำไปแปรรูปนี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
กัญชาแมว ใช้กับสัตว์ชนิดอื่นได้
นอกจากจะเป็นต้นไม้แมวกินได้แล้ว เราสามารถใช้เจ้าต้นนี้กับสุนัข และสัตว์ในประเภทใกล้เคียงได้ด้วย รวมไปถึงเสือ สิงโต น่าสนใจใช่ไหมล่ะ
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “กัญชาแมว” พืชตระกูลมิ้นต์ ประโยชน์มากมาย ที่เหล่าทาสควรมีติดบ้านเอาไว้ แต่ก็ต้องกำกับการใช้กับน้องด้วยนะ ใครสนใจปลูก แอบกระซิบว่าเขามีชุดเพาะเมล็ดพันธุ์ขายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย ซื้อมาลองดูก่อนได้ หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net