“อังกาบหนู” กับเรื่องที่คุณต้องรู้ก่อนนำมาทำสมุนไพร!! 

by plantlover
อังกาบหนู

“อังกาบหนู” เรียกได้ว่าเคยเป็นที่ฮือฮากันอยู่พักหนึ่ง ว่ากันว่าเขาเป็นพืชที่สวยและรักษามะเร็งได้ แต่นั่นไม่เป็นความจริง และหากใช้สมุนไพรในทางที่ผิดก็อาจก่อให้เกิดโทษแทนประโยชน์ วันนี้ Plantlover จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับเจ้าต้นไม้นี้ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงวิธีการปลูก ดูแล และแนวทางการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง 

รู้จักกับ “อังกาบหนู” สมุนไพรหายาก มีประโยชน์แค่ไหนมาดู!! 

อังกาบหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barleria prionitis L. 

วงศ์ : ACANTHACEAE 

ชื่ออื่น ๆ : ต้นอังกาบเหลือง, มันไก่, เขี้ยวเนื้อ, เขี้ยวแก้ง, อังกาบ, ก้านชั่ง, ลืมเฒ่าใหญ่, อังกาบกานพลู, ทองระอา เป็นต้น 

อังกาบหนู เรียกได้ว่าเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีคนรู้จักไม่มากนัก สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณเขาหินปูนในที่แห้งแล้งทางภาคใต้ รวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการกระจายพันธุ์ตามประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิเช่น อินเดีย พม่า มาเลเซีย ปากีสถาน ตามภูมิภาคอินโดจีนและแอฟริกา 

ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ 

อังกาบหนู

ต้น : เป็นไม้พุ่มเตี้ย ลำต้นเกลี้ยง ความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านออกไปเป็นจำนวนมาก มีหนามยาว 1-2 เซนติเมตรอยู่รอบข้อ 

ใบ : ลักษณะใบของเขานั้นเป็นแบบใบเลี้ยงเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ใบรูปไข่ ขอบขนาน โคนเรียวจรดก้านใบ ปลายแหลมมีติ่ง ความยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีขนแข็งขึ้นตามขอบใบ แผ่นใบด้านล่างมีขนนุ่มสั้นกระจายอยู่ 

ดอก : ดอกมีสีเหลือง ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง มีกลีบคู่รูปไข่ ปลายแหลมยาว มีทั้งหมด 5 กลีบดอก หลอดกลีบเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีเกสรตัวผู้ 2 ก้าน ยื่นออกมาเลยปากหลอดกลีบเล็กน้อย เกสรตัวเมียเรียวยาวกว่าเกสรตัวผู้ ยอดเกสรเป็นสองพูไม่ชัดเจนนัก 

ผล : ผลมีลักษณะคล้ายกับแคปซูล ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีจะงอยบริเวณปลาย เมล็ดด้านในแบน ขนคล้ายไหม 

สรรพคุณ 

อังกาบหนู

อังกาบหนู มีสรรพคุณทางยาอย่างที่หลายคนทราบกันอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่การรักษามะเร็งได้อย่างแน่นอน ดีไม่ดีกินเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา ส่งผลเสียต่อตับ ไต แทนที่จะหายกลับพังเข้าไปอีก เช่นนั้นแล้วเรามาเรียนรู้การใช้สมุนไพรชนิดนี้รักษาโรคอย่างถูกต้องจะดีกว่า 

– ราก หากนำมาตากแห้ง ปรุงเป็นยาจะช่วยเรื่องบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาหารไม่ย่อย หากนำมาคั้นกินจะช่วยลดไข้ ลดเสมหะได้ หรือนำรากมาผสมกับน้ำมะนาวก็ช่วยรักษากากเกลื้อน เป็นยาแก้ผี 

– ดอก หากนำมาตากแห้งแล้วต้มดื่มสามารถช่วยขับเสมหะได้ 

– ใบ ใบคือส่วนที่มีประโยชน์มากที่สุด หากนำมาคั้นน้ำกินจะช่วยรักษาหวัด นำใบสดมาเคี้ยวช่วยแก้อาการปวดฟันได้ ใบของเขามีรสเย็นหากนำมาผสมกับน้ำผึ้งช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน นำมาคั้นน้ำหยอดรูหูแก้หูอักเสบ แก้พิษงู รักษาโรคคัน ใช้ทาแก้ปวดหลัง ปวดบวม แก้ส้นเท้าแตก นำมาต้มดื่มก็แก้อาการท้องผูกได้ นำใบมาผสมกับน้ำมะนาวช่วยรักษากลากเกลื้อน 

ส่วนสารสกัดจากอังกาบหนู ได้รับการทดลองในหนูว่าสามารถคุมกำเนิดได้ 100% เพราะมีฤทธิ์ในการรบกวนการสร้างสเปิร์ม ลดจำนวนลงและเคลื่อนไหวช้าลงจนโครงสร้างของสเปิร์มผิดปกติไป 

การขยายพันธุ์ 

อังกาบหนู

อังกาบ สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ แต่ดอกสีเหลืองนั้นหายากขึ้นทุกวัน หากต้องการขยายพันธุ์ สามารถทำได้ถึง 2 วิธี ทั้งการเพราะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่การตอนกิ่งนั้นอาจมีความยากไปหน่อย ดังนั้นส่วนใหญ่มักขายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดแทน 

มันเป็นพืชที่ชอบดินเนื้อหยาบเสียมากกว่าเนื้อละเอียด ดังนั้นจึงควรปลูกลงในดินทรายที่ร่วนซุย ชอบดินเป็นกรดและดินกลาง ๆ มีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน 

การดูแล 

เมื่อเราปลูกเขาจนมีต้นขึ้นมาสำเร็จ การดูแลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกาบเติบโตและมีอัตราการรอดที่สูงขึ้น ด้วยความที่เขาเป็นพืชป่าก็จะดูแลง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องรดน้ำมากมาย เพราะเขาชอบความชื้นแบบปานกลางรดน้ำวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ แต่ต้องระวังอย่างให้ดินแฉะจนเกินไป ทั้งนี้เราสามารถปลูกเขาเอาไว้กลางแจ้งได้เลย อังกาบไม่ชอบร่มเงา ต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน แต่ต้องเป็นแสงแดดปานกลาง ไม่ต้องเสริมปุ๋ยหรือใช้ยากำจัดแมลงให้ยุ่งยากเพราะไม่ค่อยมีแมลงมารบกวนอยู่แล้ว 

แหล่งซื้อขายและราคา 

ถึงแม้ว่าจะเป็นพืชหายาก แต่เทคโนโลยีการซื้อขายในปัจจุบัน ทำให้เราหาซื้อต้นอังกาบได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตามแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะมีขายทั้งแบบต้นกล้าและต้นโต เท่าที่เราสำรวจมาบ้าง ราคาจะตกอยู่ที่ต้นละ 25 – 50 บาท ส่วนเมล็ดนั้นมีราคาอยู่ที่ 7 – 10 บาท/เมล็ด 

และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “อังกาบหนู” สมุนไพรมากประโยชน์ ที่เราอยากให้คุณได้รู้จักก่อนนำมาทำเป็นสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ เพราะหากใช้ไม่ถูกที่ถูกทางก็อาจเป็นอันตรายได้ รู้แบบนี้แล้วเพื่อน ๆ ก็คงจะใช้สมุนไพรอย่างถูกวิธี หรือถ้าใครอยากปลูกแนะนำให้ไปซื้อต้นกล้าหรือเมล็ดจากแพลตฟอร์มออนไลน์มาลองทำตามวิธีที่เราแนะนำดูก็ได้เช่นกัน สุดท้ายนี้เราหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ

You may also like

Leave a Comment