มะขามเทศด่าง ไม้ประดับ 3 สี แต่งสวนสวย ดูแลโคตรง่าย! 

by plantlover
มะขามเทศด่าง

มะขามเทศด่าง หนึ่งในพันธุ์ไม้ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อความสวยงาม ไม่ว่าจะปลูกแบบเป็นพุ่มหรือไม้ยืนต้นก็มีสีสันทั้งขาว เขียว แซมชมพูสวยงามเกินบรรยาย และถ้าหากว่าคุณกำลังสนใจที่อยากจะปลูก หรือมีไว้ในครอบครอง วันนี้เราก็มีเกร็ดความรู้พร้อมเคล็ดไม่ลับในการดูแลมาฝาก ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักกับเจ้าต้นไม้สวยงามนี้ให้มากยิ่งขึ้นกันเลยดีกว่า 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับมะขามเทศด่าง ต้นไม้สวย น่าปลูก สายแต่งสวนไม่ควรพลาด!

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pithecellobium dulce (Variegated) 

ชื่อวงศ์ : Variegated Madras Thorn 

ชื่อสามัญ : Fabaceae (วงศ์ถั่ว) 

มะขามเทศด่าง

มะขามเทศด่าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่ถูกจัดให้อยู่ในตระกูลเดียวกันกับถั่ว ต้องบอกเลยว่าบรรพบุรุษของเขาอย่างมะขามเทศนั้น มีถิ่นกำเนิดมาจากทางทวีปอเมริกากลางไปจนถึงอเมริกาใต้ สภาพแวดล้อมมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยเราอยู่บ้าง บ้านเราจึงสามารถนำเข้ามาปลูกได้สบาย ๆ ที่สำคัญเราสามารถเลี้ยงเขาให้เป็นทรงได้หลากหลายรูปแบบมาก ไม่ว่าจะเลี้ยงแบบพุ่มต่ำ พุ่มสูง หรือปล่อยให้ยืนต้นสูงก็ตามแต่ใจเราต้องการเลยล่ะ 

มะขามเทศด่าง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : เจ้าต้นนี้เป็นไม้ยืนต้นที่อาจมีความสูงถึง 6.0 – 15.0 เมตรเลยทีเดียว หากเลี้ยงเอาไว้เป็นเวลานาน ลักษณะลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา เต็มไปด้วยหนามสั้น ๆ จำนวนมาก ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียว แตกกิ่งก้านพุ่มหนาแน่น 

ใบ : ในส่วนใบของเขาจะเป็นใบประกอบแบบขนนกที่ออกแบบเป็นคู่ ตรงข้ามกัน ซึ่งใบย่อยก็จะแตกออกเป็นสองแฉกลึก มองผิวเผินก็คล้ายกับปีกของผีเสื้อเช่นกัน ปลายใบทั้งสองข้างค่อนข้างมน ส่วนผิวใบจะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นใบแก่อาจมีสีขาวด่างเขียว หรือมีสีเขียวด่างขาว ส่วนยอดอ่อนหรือใบที่อ่อนจะเป็นสีชมพูอ่อนอมแดง จึงเป็นที่มาของชื่อมะขามเทศใบสีชมพู 

ดอก : ส่วนดอกมะขามเทศก็จะออกเป็นช่อแบบกระจุก บริเวณซอกใบใกล้กับปลายกิ่ง หากดอกตูมจะมีสีเขียวอมเหลือง แต้มชมพูเล็กน้อย เมื่อบานแล้วพบเกสรเพศผู้แผ่กระจายออกเป็นจำนวนมาก 

ผล : สำหรับมะขามเทศด่าง ไม่พบว่าออกผลในประเทศไทย 

ประโยชน์

ส่วนใหญ่แล้ว คนก็มักนิยมปลูกมะขามเทศด่างเอาไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ แต่งสวนเป็นส่วนใหญ่ สามารถปลูกได้ทั้งกลางสวน หรือแต่งริมรั้วบ้าน ไม่ว่าจะเป็นไม้พุ่มในรูปแบบใด หรือจะทำเป็นบอนไซเลี้ยงเอาไว้ก็ขายได้ราคาเช่นกัน 

มะขามเทศด่าง

การขยายพันธุ์

มะขามเทศด่าง สามารถขยายพันธุ์ได้เฉกเช่นเดียวกันกับต้นไม้ใหญ่ทั่วไป อย่างเช่น วิธีการปักชำ แต่มีโอกาสจะติดรากน้อยกว่า จึงไม่ค่อยเหมาะสำหรับมือใหม่เท่าไรนัก จึงอยากจะแนะนำให้เพื่อน ๆ ทำโดยวิธีการตอนกิ่งดังต่อไปนี้ 

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

1.มีดคว้าน 

2.ตุ้มตอน (ขนาด 4×6 นิ้ว) สามารถซื้อแบบสำเร็จรูปจากร้านค้าหรือช่องทางออนไลน์ก็ง่ายและสะดวกกว่านำมาทำเอง 

3.เชือกหรือลวดสำหรับรัด 2 เส้น 

4.กรรไกรตัดแต่งกิ่ง  

5.กระถางสำหรับปลูก 

6.ดินปลูก 

7.อินทรียวัตถุ 

ขั้นตอนการตอนกิ่ง

1.อันดับแรกให้เราทำการเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไปของต้นที่มีความสมบูรณ์ประมาณหนึ่ง 

2.จากนั้นให้เราทำการควั่นกิ่ง โดยการใช้มีดกรีดวนเป็นวงแหวนสองวงรอบกิ่ง ห่างกันประมาณ 3 – 5 เซนติเมตร 

3.จากนั้นก็ทำการปอกเปลือกลอกเอาผิวไม้ออกจนกระทั่งเห็นเนื้อไม้ด้านใน 

4.ใช้สันมีดขูดเมือกบริเวณเนื้อไม้ออกอย่างเบามือ 

5.ทำการหุ้มกิ่งที่ตอน ซึ่งเราจะใช้มีดผ่าเป็นแนวยาวลงไปที่บริเวณกลางพุงของตุ้ม แล้วนำไปหุ้มบริเวณแผลของกิ่ง 

6.ทำการใช้ลวดหรือเชือกมัดหัวและท้ายตุ้มตอนให้แน่น โดยไม่หลุดออกไป 

7.ระหว่างรอให้เขาออกราก จำเป็นที่จะต้องหมั่นดูตุ้มตอนอยู่เสมอ ถ้าเห็นว่ามีไอน้ำขังอยู่ในถุงตุ้มก็แสดงว่ายังมีความชุ่มชื้นดีอยู่ แต่ถ้าหากตุ้มเริ่มแห้งให้เราเติมน้ำลงไป โดยอาจจะใช้ไซริงค์ฉีดน้ำเข้าไปในขุยมะพร้าวก็ได้เช่นกัน 

8.จากนั้นก็รอให้เขาออกราก แล้วนำกรรไกรตัดกิ่งมาตัดออกไปเพาะชำต่อในกระถาง โดยใช้ดินปลูกผสมกับอินทรียวัตถุได้เลย 

มะขามเทศด่าง

การดูแล

แสง : มะขามเทศด่าง เป็นต้นไม้ปลูกหน้าบ้านได้สบาย ๆ เพราะเขาเป็นต้นไม้ที่ชื่นชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน และอาจอยู่ในพื้นที่ร่มรำไรได้บ้าง แต่ต้องให้มีแสงผ่านเข้า 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน 

ดิน : เน้นดินที่ระบายน้ำได้เป็นอย่างดี หากปลูกกับพื้นให้เน้นเป็นดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง 

น้ำ : เจ้าต้นนี้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่น้ำน้อย ไม่ต้องรดน้ำบ่อยขอเพียงแค่สัปดาห์ละ 2 ครั้งก็เพียงพอ หรือถ้าหากว่าเราไม่อยู่บ้านจะขาดการรดน้ำสัก 1 สัปดาห์เขาก็อยู่ได้ แต่อาจจะมีความเหี่ยวลงเล็กน้อย เมื่อได้รับน้ำก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับมะขามเทศด่าง ต้นไม้สวยงาม 3 สี เลี้ยงดูง่าย ปล่อยให้เทวดาดูแลก็ได้ ซึ่งเราอยากแนะนำสำหรับเพื่อน ๆ ที่ชื่นชอบไม้ด่าง แต่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูหรือใส่ใจมากนักได้รู้จัก สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่า สิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้นานาพันธุ์ได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment