เบี้ยเศรษฐีด่าง คือหนึ่งพันธุ์ไม้ต้นเล็กกระจุ๋มกระจิ๋มที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากความน่ารัก มองแล้วเพลินตาผนวกกับชื่อที่เป็นมงคลก็ยิ่งดึงดูดความสนใจจากบรรดาคนรักต้นไม้ได้เป็นอย่างดี และถ้าคุณคือหนึ่งในผู้ที่อยากทำความรู้จักกับไม้ประดับชนิดนี้ เรามีข้อมูลดี ๆ วิธีการดูแล ขยายพันธุ์และอีกมากมายมาเล่าให้ฟัง!!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับเบี้ยเศรษฐีด่าง พันธุ์ไม้อวบน้ำสุดน่ารัก ชื่อเป็นมงคล น่าปลูก!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Portulacaria afra variegate
ชื่อวงศ์ : Didiereaceae
ชื่อสามัญ : Elephant Bush, Elephant Food, Tricolor Elephant’s Bush และ Dwarf Jade
ชื่อไทยอื่น ๆ : ปะการังด่าง
เบี้ยเศรษฐีด่าง เรียกได้ว่าเป็นไม้พุ่มที่มีความน่าสนใจอย่างมาก หากเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ก็อาจจะกลายเป็นไม้พุ่มได้ในที่สุด ชื่อของเขาบ่งบอกที่มาของสายพันธุ์ว่า มีถิ่นกำเนิดมาจากทางแถบแอฟริกา นอกจากนี้ก็ยังเป็นอาหารอันแสนโปรดปรานของช้าง จนกระทั่งได้รับฉายาว่า พุ่มไม้ช้าง เห็นต้นเล็ก ๆ แบบนี้ไม่ตายง่ายนะบอกเลย อยู่ได้นานหลายปีมาก ดูแลไม่ยุ่งยากจนเกินไป เป็นต้นไม้ปลูกหน้าบ้าน แต่งสวนสวยที่มองแล้วเพลินตาแบบขั้นสุด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เบี้ยเศรษฐีด่าง จัดว่าเป็นไม้อวบน้ำ พุ่มเตี้ยเรี่ยดินที่แตกกิ่งก้านสาขาออกไปด้านข้างปกคลุมพื้นที่โดยรอบ ประหนึ่งว่าเป็นพืชคลุมดินชนิดหนึ่ง แต่เมื่อเริ่มโตขึ้นมาหน่อยจะเห็นว่ามีลำต้นอวบอ้วน ทรงแท่งสีน้ำตาลแดงคล้ายกับพวกคุณนายตื่นสาย หรือแพรเซี่ยงไฮ้ แตกกิ่งอ่อนสีเขียวออกไปด้านข้าง เมื่อกิ่งแก่แล้วจะมีสีน้ำตาล ลำต้นและกิ่งมีข้อเล็กและถี่ ค่อนข้างเปราะ หากเลี้ยงเอาไว้จนแก่ต้นก็จะเติบใหญ่แข็งแรงจนอาจมีความสูงถึง 2 เมตรเลยทีเดียว
ใบ : ในส่วนของใบจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกันทุก ๆ ข้อ เรียงเวียนสลับกันไป แผ่นใบแบน อวบฉ่ำน้ำ ทรงอ้วน โคนใบสอบแหลม ปลายใบมน ใบที่ออกใหม่จะเป็นสีขาว ชมพู หรือเขียวอ่อนที่แซมด้วยสีด่างขาว สว่างกว่าต้นเบี้ยเศรษฐีสีเขียวทั่วไป
ดอก : เจ้าต้นนี้จะออกดอกเป็นช่อที่บริเวณปลายกิ่ง เป็นสีม่วงสวย ซึ่งแต่ละดอกบานไม่พร้อมกัน ดอกย่อยของเขามี 5 กลีบดอก ก้านดอกยาวสวย แต่ไม่พบว่าออกดอกในประเทศไทย
ประโยชน์ที่น่าสนใจ
นอกจากจะเป็นไม้ประดับตกแต่งบ้านเพื่อความสวยงามแล้ว ยังเชื่อว่าเบี้ยเศรษฐีด่างนั้นคือไม้มงคล เสริมดวงด้านการเงิน ช่วยให้ผู้ครอบครองประสบพบเจอกับความร่ำรวย และนอกจากนี้ยังนิยมนำไปทำบอนไซสวยงาม ขายได้ราคามาก ๆ อีกด้วย
การขยายพันธุ์
สำหรับการขยายพันธุ์เบี้ยเศรษฐีด่าง รับรองว่าใครก็สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะสามารถใช้วิธีการตัดแล้วปักชำได้เลย เฉกเช่นเดียวกันกับคุณนายตื่นสายหรือแพรเซี่ยงไฮ้ ถ้าพร้อมแล้วเราไปเรียนรู้วิธีการปักชำอย่างง่ายกันเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
1.ดินปลูก 2 ส่วน
2.ทรายหยาบ 1 ส่วน
3.เบี้ยเศรษฐีต้นแม่
4.กรรไกรตัดกิ่ง หรือถ้าไม่มีก็สามารถใช้กรรไกรธรรมดา มีดคม ๆ ก็ได้เช่นกัน
5.กระถางต้นไม้มีรูระบายน้ำ
6.หินภูเขาไฟ (ถ้ามีจะดีมาก)
ขั้นตอนวิธีปักชำ เบี้ยเศรษฐี
1.ให้เราสำรวจหากิ่งเบี้ยเศรษฐีด่างที่อวบอ้วน มีขนาดใหญ่ แต่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป
2.ใช้กรรไกรตัดกิ่งตัดออกมาเลยง่าย ๆ ความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร จะเลือกมากี่กิ่งก็ได้ตามความต้องการ
3.ทำการผสมดินปลูก 2 ส่วนและดินทรายหยาบ 1 ส่วนเข้าด้วยกัน ซึ่งทรายจะเป็นตัวช่วยให้ดินโปร่ง ระบายน้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น หรือถ้าใครมีเพอร์ไลท์จะนำมาผสมดินด้วยก็ยอดเยี่ยมเข้าไปใหญ่
4.นำหินภูเขาไฟใส่ลงไปบริเวณก้นกระถาง เพื่อเพิ่มความโปร่ง ลดความอับชื้นในดิน
5.จากนั้นนำดินปลุกที่ผสมเอาไว้ใส่ลงไปในกระถางจนเต็ม
6.นำกิ่งของเบี้ยเศรษฐีด่างมาปักลงดินได้เลย ถ้าจะให้ดีต้องปักชำหลายต้นจะได้ทรงพุ่มสวยงาม
7.จากนั้นรดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นพอประมาณและไม่แฉะจนเกินไป
8.นำไปวางไว้บริเวณพื้นที่ที่มีแดดรำไร ข้อสำคัญคือต้องอยู่เหนือพื้นดิน อาจวางไว้บนโต๊ะ โขดหิน หรือแขวนก็ได้ ไม่นานเขาก็จะติดรากแล้วล่ะ
การดูแล
แสงแดด : ถึงแม้ว่าจะเป็นต้นไม้มินิมอล น่ารักแต่เขาไม่เหมาะสำหรับปลูกในห้องอับ ๆ เนื่องจากต้องการแสงแดดจำนวนมาก โดยเฉพาะแสงแดดช่วงเช้า ต้องปลูกไว้ในพื้นที่โปร่ง โดนแดดเป็นเวลา 6 – 8 ชั่วโมงขึ้นไป
ดิน : สูตรดินมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต้องเน้นเรื่องความโปร่ง ระบายน้ำดี ตามสูตรที่เราแนะนำได้เลย
น้ำ : เขาเป็นพืชชอบน้ำน้อย ทนแล้ง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรดน้ำบ่อย ให้น้ำสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งก็เพียงพอ ต้องระวังอย่าให้อยู่กับความชื้นนาน มักตายในช่วงฤดูฝน ดังนั้นก็ควรปลูกเอาไว้ในพื้นที่สูง หรือตัวอาคารด้านนอกอย่างเช่น ริมระเบียงบ้าน
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับเบี้ยเศรษฐีด่าง เจ้าต้นไม้แคระที่คนไม่มีเวลาก็สามารถเลี้ยงดูเขาได้ เพียงแต่ว่าต้องระวังเรื่องความชื้นเป็นพิเศษ ถ้าไม่อยู่บ้านช่วงหน้าฝนอาจจะต้องเก็บไว้ในห้องริมหน้าต่าง ใครอยากปลูกก็สามารถนำวิธีการที่เราแนะนำไปใช้กันได้เลยนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net