มิซูน่า จัดว่าเป็นผักสลัดรสชาติแปลกที่ไม่ค่อยนิยมปลูกในประเทศไทยสักเท่าไร หากมองทางด้านรสชาติ ก็เชื่อว่าเขาเป็นหนึ่งในผักที่สามารถทานแก้เลี่ยนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีรสชาติเผ็ดและยังมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ หากคุณคือคนหนึ่งที่กำลังสนใจอยากปลูกเจ้าผักชนิดนี้เอาไว้ทานเป็นเครื่องเคียงกับอาหาร ก็อย่าได้พลาดสิ่งดี ๆ ที่เรานำมาฝากเด็ดขาด!!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับมิซูน่า และวิธีปลูกผักสลัดอย่างง่าย รู้แล้วต้องทำตาม!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica rapa var. nipposinica
ชื่อวงศ์ : Brassicaceae (วงศ์ผักกาด)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Mizuna
ชื่อไทย อื่น ๆ : ผักน้ำญี่ปุ่น, มัสตาร์ดญี่ปุ่น, มัสตาร์ดแมงมุม
มิซูน่า คือพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยโบราณกาล สามารถพบได้ทั่วไป เจ้าผักสลัดใบสีเขียวชนิดนี้ เริ่มได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่นประมาณช่วงก่อนกลางศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะทางเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย รวมไปถึงอเมริกาเหนือ เห็นต้นเล็กน้อยแบบนี้แต่มีประโยชน์เกินคาดเดา คุณค่าทางโภชนาการสูงลิบลิ่วเลยล่ะ
รสชาติของมิซูน่านั้นแตกต่าง เนื้อสัมผัสค่อนข้างกรอบตามแบบฉบับผักกาด มีรสฝาดนิด ฉุนหน่อย เผ็ดเล็กน้อย ชวนจินตนาการถึงวาซาบิ ชาวเจแปนเขานิยมนำไปประกอบเมนูอาหารผัด ใส่ในซุปมิโซะ สุกี้ หม้อไฟ และอีกมากมาย ส่วนถ้าเป็นเมืองไทยแนะนำทานคู่ลาบ ก้อย น้ำพริกอร่อยแน่นอน
ข้อมูลทางโภชนาการ
เห็นแบบนี้เขาเป็นผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยสิ่งที่ดีต่อร่างกายเยอะมาก ๆ โดดเด่นด้วยวิตามินเค, วิตามินเอ, วิตามินบี1 / บี2 / บี3 / บี5 / บี6 / บี9, วิตามินซี, วิตามินอี, แคลเซียม, กรดโฟลิก, มีเบต้าแคโรทีนและกากใยอาหารสูง หลัก ๆ จะช่วยในเรื่องบำรุงสายตา บำรุงหัวใจ ช่วยในเรื่องผิวพรรณด้วยนะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
มิซูน่าเป็นผักที่มีลำต้นและก้านใบขนาดเล็ก สีขาว แตกออกเป็นกอ ใบเรียวยาว ขอบหยักลึกเหมือนฟันเลื่อย ปลายใบแหลม
ปลูกผักสลัด ไฮโดรโปนิกส์ VS ปลูกกับดิน
การปลูกผักกับดินและการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์นั้นมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป สำหรับมิซูน่า เป็นผักที่ดูแลไม่ยาก แต่อยากแนะนำให้ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์หรือเลี้ยงเขาในน้ำเสียมากกว่า จะได้ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการรดน้ำมากมาย ใครมีระบบน้ำวนอยู่แล้วก็จัดการตามระเบียบได้เลย แต่สำหรับมือใหม่ถ้าไม่อยากลงทุนเยอะ การปลูกผักในกล่องโฟมก็นับว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด
การเพาะเมล็ด / ปลูกผัก
วิธีการเพาะเมล็ดผักมิซูน่า สำหรับคนที่อยากปลูกผักในกล่องโฟม นั้นไม่ยุ่งยากเกินความสามารถของมือใหม่หัดปลูกอย่างแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปเตรียมของสำหรับฟาร์มเมล็ดกันเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– เมล็ดพันธุ์
– กล่องมีฝาปิด
– ทิชชู่
– ฟ็อกกี้
– ไม้แหลม
– ฟองน้ำเพาะเมล็ด
– ถาดใส่ฟองน้ำเพาะเมล็ด
– ปุ๋ย AB
– ถุงขยะสีดำ
– ถ้วยปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
– กล่องโฟมเจาะรู
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดผัก
1.นำทิชชู่วางลงบนกล่องที่มีฝาปิด และสเปรย์น้ำให้เปียกชื้นทั่วทุกแผ่น
2.จากนั้นนำเมล็ดมิซูน่ามาวางลงบนทิชชู่อย่างเป็นระเบียบ
3.ปูทิชชู่ทับเมล็ดผักอีกประมาณ 2 แผ่นก่อนสเปรย์น้ำตามลงไป แล้วปิดฝาวางทิ้งไวประมาณ 1-2 วัน รากสีขาวของเขาก็จะงอกออกมา
4.จากนั้นนำฟองน้ำสำหรับเพาะมานวดชุบน้ำให้ชุ่มแล้ววางลงบนถาด ใช้ไม้แหลมนำเมล็ดมิซูน่าในส่วนที่มีรากมาฝังลงในฟองน้ำ จากนั้นเติมน้ำในถาดให้เต็ม
5.ทิ้งไว้ประมาณ 7 วันใบสีเขียวก็จะงอกออกมา
6.เริ่มละลายปุ๋ย AB แบบอ่อนใส่ลงไปในน้ำหลังจากวันที่ 7 โดยใช้ในปริมาณประมาณ 3 CC ต่อน้ำ 1 ลิตรแล้วเลี้ยงเขาต่ออีกประมาณ 5 วัน
ขั้นตอนการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ แบบน้ำนิ่งในกล่องโฟม
1.นำถุงขยะมาตัดครึ่งแล้ววางลงในกล่องโฟมเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากกล่องเกิดการรั่วซึม
2.ละลายปุ๋ย AB ลงในกล่องโฟมโดยใช้ในปริมาณตามที่ระบุเอาไว้ข้างฉลากปุ๋ย จากนั้นคนให้ปุ๋ยกระจายตัวดี
3.นำต้นกล้ามาใส่ลงในถ้วยปลูก โดยจะใส่ฟองน้ำให้หย่อนลงในก้นถ้วยประมาณครึ่งหนึ่ง โดยต้องพึงระวังอย่าให้รากของเขาช้ำ
4.นำถ้วยไปวางลงในกล่องโฟมที่เจาะรูเอาไว้แล้ว
5.นำกล่องไปวางเอาไว้ในพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง เพื่อให้ต้นไม้แข็งแรงและไม่ยืด
6.ดูแลเขาโดยการสเปรย์น้ำยามเช้าสักหน่อยเพื่อความสดชื่น และจะช่วยลดความขมของผักลงได้
อายุเก็บเกี่ยว
อายุเก็บเกี่ยวของมิซูน่านั้นอยู่ที่ประมาณ 30-35 วัน เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับผักสลัดชนิดอื่น ๆ เลยล่ะ
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก ผักสลัดมิซูน่า ที่เราอยากให้เพื่อน ๆ ได้ทำความรู้จัก เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เจ้าผักชนิดนี้น่าสนใจหรือเปล่า เราว่าเขานำมาทำอาหารได้ค่อนข้างหลากหลาย อีกทั้งยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อน ๆ อย่าลืมลองนำวิธีการปลูกผักดังกล่าวไปปรับใช้กันล่ะ เพราะเป็นวิธีที่ค่อนข้างเหมาะสำหรับคนขี้เกียจดูแลบ่อย ๆ สุดท้ายนี้เราวังว่าเรื่องราวทั้งหมดจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net
แนะนำ ผักไฮโดรโปนิกส์น่าปลูก