หากกล่าวถึง “มะสัง” ก็เชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่น่าจะไม่ค่อยรู้จักกันสักเท่าไร เนื่องจากปัจจุบันเป็นพันธุ์ไม้สมุนไพรที่หากดูได้ยากแม้กระทั่งตามชนบทก็ปลูกกันเพียงบางบ้านเท่านั้น ต้นไม้ต้นนี้มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะผลของเขาสามารถนำมาปรุงอาหารได้ เสริมรสความอร่อย แต่จะมีสิ่งใดน่าสนใจนอกเหนือจากนี้และจะน่าปลูกอย่างไรบ้าง ต้องตามมาดูด่วน ๆ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับมะสัง สมุนไพรไทยโบราณ ประโยชน์มากมาย ปลูกอย่างไรมาดู!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Feroniella lucida (Scheff.) Swingle
ชื่อวงศ์ : Rutaceae (วงศ์ส้ม)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Wood apple tree
ชื่อไทย อื่น ๆ : กระสัง (ภาคกลาง), หมากสัง ผักสัง (ภาคอีสาน), กะสัง (ภาคใต้)
มะสัง เป็นไม้ยืนต้นและไม้เลื้อยอันมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย โดยธรรมชาติพบได้ตามป่าเต็งรังและป่าดิบชื้น ในปัจจุบันมีความนิยมในการนำไปทำบอนไซเสียมากกว่าการปลูกแบบต้นใหญ่ แต่ไม่ว่าจะปลูกแบบไหนต้นไม้ต้นนี้ก็มีประโยชน์และน่าสนใจไม่ต่างไปจากเดิม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : มะสังเป็นต้นไม้ขนาดกลางที่มีความสูงราว ๆ 5-10 เมตร ลักษณะพิเศษที่โดดเด่นก็คือ มีหนามแหลมยื่นออกมารอบลำต้นความยาว 1-2 เซนติเมตรโดยประมาณ เปลือกต้นขรุขระ แตกสะเก็ด มีสีน้ำตาลเข้ม เทา แซมดำบ้างเล็กน้อย
ใบ : ใบของเขาเป็นแบบประกอบขนนก จะออกเวียนไปตามกิ่งในลักษณะเป็นเกลียว ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ส่วนใบยอดมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น รูปใบรี โคนและปลายใบแหลม กลางใบอ้วนน่ารัก
ดอก : ดอกมะสังจะออกเป็นช่อมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระถิน มี 5-6 กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ประมาณ 10-12 อัน ตามมาด้วยเกสรเพศเมียจำนวน 1 อัน สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
ประโยชน์
ในสมัยอดีต ลูกมะสังดิบนั้นเคยถูกใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเปรี้ยวแทนมะนาว ไม่ว่าจะนำมาปรุงพริกหรือยำต่าง ๆ ก็เพิ่มความอร่อยและน่าสนใจได้ไม่ต่างกัน นอกจากนี้ยังสามารถนำผลสดมาทานคู่กับพริกเกลือได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากยิ่งขึ้น อาทิเช่น แยม วุ้น เยลลี่ ไวน์ ส่วนยอดอ่อนของเขานำมากินเป็นผักสดได้ มีรสฝาดหน่อย ปิ้งไฟอ่อน ๆ ส่งกลิ่นหอมทานแกล้มลาบ ก้อย ก็อร่อยเกินคาด นอกจากนี้เขาก็ยังมีสรรพคุณทางยาที่โดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น แก้ไข้ เป็นยาระบาย แก้ท้องอืด สมานแผล แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
การขยายพันธุ์ต้นไม้
ความจริงแล้วการขยายพันธุ์ต้นกระสังนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีทว่าการเพาะเมล็ดกลับได้รับความนิยมมากที่สุด ข้อดีก็คือจะได้ต้นไม้ที่เติบโต แข็งแรง ไม่กลายพันธุ์ง่าย แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้างในเรื่องของระยะเวลา ต้องรอนานพอสมควรกว่ามะสังจะผลิดอกออกผลมาให้เราได้ชื่นชมหน้าค่าตา
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– เมล็ดต้นมะสัง
– กล่องมีฝาปิด
– ทิชชู่
– ฟ็อกกี้
– ถาดเพาะ หรือถุงเพาะ
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดพืช
1.นำผลสุกของมะสังมาคว้านเอาเมล็ดด้านใน ล้างน้ำสะอาดและซับแห้งตากไว้สักพัก
2.นำทิชชู่ลงไปวางในกล่องมีฝาปิดจากนั้นพรมน้ำให้ชุ่ม
3.นำเมล็ดลงไปวางในกล่องตามจำนวนที่เราพอใจ
4.ใช้ทิชชู่โปะทับลงไปอีกหนึ่งชั้นก่อนสเปรย์น้ำด้วยฟ็อกกี้ให้ชุ่มชื้น จากนั้นปิดฝากล่องแล้ววางทิ้งเอาไว้ในอุณหภูมิปกติ
5.รอเวลาประมาณ 3-5 วันก็จะมีรากสีขาวงอกออกมาจากเมล็ด
6.นำดินสำหรับปลูกพืชหรือเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดมาใส่ลงในถุงหรือถาดสำหรับเพาะชำ แล้วใส่เมล็ดต้นไม้ของเราลงไป จากนั้นใช้ดินกลบ
7.รดน้ำให้ชุ่มชื้นในทุกวันจนกว่าต้นกล้าของเขาจะเติบใหญ่ จึงนำไปปลูกลงแปลงตามที่เราต้องการได้
การปลูก / ดูแล
เมื่อต้นกล้าของเขาเติบโตอย่างเต็มที่ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 8 เดือน เราก็สามารถนำต้นของเขาไปลงแปลงหรือลงดินได้เลย แต่ต้องเลือกพื้นที่ที่เป็นดินร่วน เน้นกลางแจ้ง แสงแดดส่องถึงจำนวนมากจะช่วยให้มะสังเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อช่วยในการบำรุงด้วยก็ได้ 2 ปีต่อ 1 ครั้งไม่ต้องบำรุงมากมาย
ในกรณีต้องการทำบอนไซ ก็สามารถนำต้นมาปลูกลงกระถางได้เลย เพียงแต่ต้องผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปด้วย และวางต้นไม้เอาไว้ในพื้นที่แดดส่องถึงอย่างเพียงพอ
ราคาต้นมะสัง
สำหรับราคาของเขามีราคาย่อมเยา น่ารัก เหมาะแก่การซื้อหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นขนาดเล็กซึ่งถูกนำมาทำบอนไซก็ราคาไม่แพง ตกอยู่ที่ต้นละ 100-120 บาทเท่านั้น ทั้งนี้เป็นราคาต้นเปล่าไม่รวมกระถางสวยงาม หากเพื่อน ๆ เลือกต้นที่มีกระถางสวยหรูหน่อยราคาก็อาจจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก ใครอยากลองปลูกแนะนำซื้อหาแบบออนไลน์ได้เลย แต่ต้องเลือกแฟลตฟอร์มและร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือกันด้วยนะคะ
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับต้นมะสัง ไม้ไทยโบราณมากประโยชน์ สมุนไพรชื่อดังอันดับต้น ๆ ที่เด็กยุคใหม่อาจไม่ค่อยรู้จักมักคุ้นกันมากนัก เป็นอย่างไรบ้างคะ เจ้าต้นนี้อาจปลูกยากหน่อย และใช้เวลาในช่วงแรกของการเติบโตค่อนข้างยาวนาน แต่ก็นับว่าคุ้มหากจะต้องรอให้เขาออกผลผลิต สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net