ว่าด้วยเรื่องผักสลัดรสเผ็ด “ผักร็อคเก็ต” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่หลายคนชื่นชอบ เจ้าตัวนี้เขาออกสไตล์อิตาเลียนหน่อย ๆ เหมาะสำหรับอาหารฝรั่ง แต่คนไทยก็เอามาจิ้มน้ำพริกเก๋ ๆ ได้รับประโยชน์ไปแบบเต็มคำ ยิ่งอยู่ต่างจังหวัดบอกเลยว่าหากินยากมาก ต้องปลูกกินเองถึงจะสะใจ ส่วนใครกำลังตามหาเคล็ดลับดี ๆ ในการปลูกเขาอยู่ โดยเฉพาะมือใหม่ ต้องตามมาดูด่วน ๆ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับผักร็อคเก็ต พร้อมวิธีปลูกไว้กินเองง่าย ๆ ใครก็ทำได้!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eruca sativa
ชื่อวงศ์ : Brassicaceae (วงศ์ผักกาด)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Arugula, Rocket salad
ผักร็อคเก็ต เป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนโดยเฉพาะอิตาลี นั่นคือเหตุผลที่ว่าเจ้าผักสลัดใบเขียวชนิดนี้ค่อนข้างชื่นชอบอากาศหนาวเย็น ถึงแม้ว่าจะมีรสชาติเผ็ดปนขมและฉุน กลิ่นแอบคล้ายน้ำมันงาบวกกับหน้าตาดุร้าย แต่เมื่อนำมาใส่ในเมนูอาหารหลายอย่างกลับเข้ากันได้ดี ตั้งแต่ทานกับน้ำสลัด เป็นผักโรยหน้าพิซซ่า พาสต้า สเต็ก ส่วนคนไทยนิยมนำมาทานคู่กับเมนูที่มีความเลี่ยน ใช้เป็นผักแกล้มก็ฟินไม่แพ้กัน แถมประโยชน์เยอะมาก
สายพันธุ์ที่แตกต่าง นำพามาซึ่งรสชาติ
หลัก ๆ แล้วจะมีผักร็อคเก็ตที่นิยมอยู่ประมาณ 2 สายพันธุ์ และหน้าตาของทั้งสองสายพันธุ์ก็จะแตกต่างกันออกไปอีกเล็กน้อย
– Wild Rocket นิยมปลูกในไทย ขอบใบหยักลึกเป็นซี่เลื่อย รสเผ็ดและซ่ามากกว่า
– Garden Rocket ขอบใบโค้งกลม ขอบเป็นคลื่น รสเผ็ดน้อยกว่า
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลักษณะต้นของเขาจะเป็นทรงพุ่ม ลำต้นเล็กกลมและบาง อวบน้ำ ข้อสั้น มีก้านใบหุ้ม
ใบ : สำหรับใบจะให้อารมณ์เหมือนกับปะการัง แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่จะออกเรียงสลับรอบต้น ซ้อนใบแน่นเหมือนกัน
ดอก : ผักร็อคเก็ตเองก็มีดอกกับเขาเหมือนกัน โดยจะออกเป็นช่อเล็ก ๆ มี 4 กลีบสีเหลืองนวล
ข้อมูลทางโภชนาการ
ผักร็อคเก็ตเป็นผักสลัด น่าปลูกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงไม่แพ้ผักสายพันธุ์อื่น ๆ ตั้งแต่แคลเซียม, โพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, เบตาแคโรทีน, แมกนีเซียม, โปรตีน, ไขมัน, วิตามินซี, วิตามินเอ, วิตามินอี, วิตามินบี1 / บี2 / บี3 / บี5 / บี6 และบี9 โดดเด่นในเรื่องช่วยบำรุงสายตา และนอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน เนื่องจากเขาเป็นผักที่ช่วยขับน้ำนมได้เป็นอย่างดี แก้ปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดความดันโลหิตสูง
ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ VS ในดิน
ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่าผักร็อคเก็ตชื่นชอบน้ำมากเป็นพิเศษ นั่นอาจไม่ใช่ปัญหาหากเพื่อน ๆ ปลูกผัดลงดินแล้วหมั่นรดน้ำ บำรุง และไม่กังวลเรื่องความเปื้อน การปลูกผักกับดินก็ช่วยประหยัดต้นทุนได้ดีประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเกิดว่าเพื่อน ๆ นึกสนุกอยากลองปลูกผักในน้ำดูบ้าง การปลูกแบบน้ำนิ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจสำหรับมือใหม่ งบน้อย ปลูกผักเอากินเอง ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำเป็นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในกล่องโฟม ที่ทำตามกันได้ง่ายมาก ๆ
การปลูกผักสลัด
สำหรับการปลูกผักในกล่องโฟมที่เพื่อน ๆ เคยเห็น โดยหลักแล้วเราจะให้วิธีการให้สารละลายอาหารลงไปในน้ำ เพื่อให้ผักร็อคเก็ต เจริญเติบโตได้โดยไม่อาศัยดิน วิธีการดังกล่าวนิยมใช้กับผักที่มีอายุสั้นเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น รู้แบบนี้แล้วเราไปทำการปลูกผักด้วยวิธีการนี้กันเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– แก้วหรือถ้วยสำหรับใส่น้ำ
– เมล็ดผักร็อคเก็ต
– ชุดปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในกล่อง (ราคาประมาณ 300 บาท) แนะนำว่าหากซื้อเป็นเซ็ตจะได้มาในราคาที่ถูกกว่าซื้อแยก และได้อุปกรณ์มาครบครันตั้งแต่กล่องเจาะรู, ฟองน้ำเพาะเมล็ด, ถาดเพาะเมล็ด, ถ้วยปลูก, ปุ๋ยน้ำ AB และไซริงค์ตวง
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
1.นำเมล็ดลงไปแช่ในน้ำอุ่นทิ้งไว้ประมาณ 8-10 ชั่วโมง
2.เมื่อครบตามเวลาที่กำหนด ให้นำน้ำสะอาดเติมใส่ถาดเพาะเมล็ด
3.นำฟองน้ำลงไปในถาดแล้วกดนวดเพื่อดูดน้ำเข้าไปด้านในให้ชุ่มเต็มแผ่น
4.นำเมล็ดที่ได้มาหยอดใส่ลงในฟองน้ำ ประมาณ 2 – 4 เมล็ดต่อฟองน้ำหนึ่งอัน กดลงไปให้เมล็ดจมเล็กน้อยเท่านั้น
5.เมื่อต้นของเขาเริ่มแตกใบที่ 3 ออกก็ให้ใส่ปุ๋ยน้ำ AB แบบอ่อน ๆ ลงไปในถาดได้เลยปริมาณ 3 cc ต่อน้ำ 1 ลิตรแล้วอนุบาลต่อไปอีกประมาณ 5 วัน
วิธีการปลูกผัก ในกล่องโฟมแบบง่าย
1.เติมน้ำลงในกล่องและละลายปุ๋ย AB ตามขนาดที่ฉลากระบุไว้
2.เมื่ออนุบาลเสร็จสรรพก็ถึงเวลานำฟองน้ำใส่ลงในถ้วยปลูก ให้ก้นของฟองน้ำเลยออกมาจากก้นถ้วยครึ่งหนึ่ง
3.นำถ้วยปลูกไปวางลงบนกล่องที่เจาะรูแล้ว โดยให้ก้นของฟองน้ำจุ่มน้ำปุ๋ยอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในพื้นที่ที่แสงแดดเพียงพอ อากาศถ่ายเทได้สะดวกสักประมาณ 40-50 วัน ก็ได้เวลาเก็บเกี่ยวแล้วล่ะ
และนี่ก็คือข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับเจ้า ผักร็อคเก็ต ผัดรสเผ็ดแต่ฟินที่เราตั้งใจนำมาฝากเพื่อน ๆ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เจ้าผักต้นนี้ปลูกง่ายและน่าสนใจมากเลยใช่ไหม เพื่อน ๆ สามารถนำเอาวิธีดังกล่าวไปปรับใช้กับผักของตัวเองกันได้ตามความเหมาะสมนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net
แนะนำ ผักไฮโดรโปนิกส์น่าปลูก