“ต้นสะแก” ไม้ใหญ่มากประโยชน์ สรรพคุณเด่น ที่คุณไม่ควรมองข้าม!! 

by plantlover
ต้นสะแก

หากกล่าวถึงต้นไม้ที่นิยมนำมาเผาถ่าน หลายคนก็น่าจะนึกถึง “ต้นสะแก” เป็นอันดับแรก ๆ ในความจริงแล้วเจ้าต้นนี้ไม่ได้มีดีแค่ทำเชื้อเพลิงหรอกนะ แต่แอบซ่อนไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมายที่คุณอาจยังไม่รู้ และเราได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาฝาก บอกเลยว่าน่าสนใจแน่นอน หากคุณคือคนหนึ่งที่อยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับต้นสะแก ก็ไม่ควรพลาดบทความของเราในวันนี้เลยแม้แต่น้อย 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับต้นสะแก ต้นไม้น่าปลูกในไร่นา มีประโยชน์เกินคาดคิด!! 

ต้นสะแก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Combretum quadrangulare Kurz 

วงศ์ : Combretaceae (วงศ์สมอ)

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bushwillows 

ชื่อไทยและท้องถิ่น : สะแก, สะแกนา (ภาคกลาง), แพ่ง (ภาคเหนือ), ขอนแข้, จองแข้ (แพร่), แก (ภาคอีสาน), ซังแก (ปราจีนบุรี) 

สะแก หรือ สะแกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงราว ๆ 5-20 เมตร เดิมทีมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียและกระจายตัวไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเริ่มจากเมียนมาร์ ก่อนแพร่ไปยังไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และอีกมากมาย มักพบตามเขาหินปูนเตี้ย ๆ และที่โล่ง ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปอย่างเช่น ตามป่าเต็งรัง ป่าละเมาะ ท้องนา ท้องไร่ ที่รกร้าง ริมธาร หรือแม้กระทั่งริมถนน เป็นไม้ที่มาพร้อมประโยชน์มากมาย ทั้งสรรพคุณทางยา ความเชื่อ แถมดูแลง่าย 

ความเชื่อ 

สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับต้นสะแก เขาคือหนึ่งในต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชาวภาคอีสาน เนื่องจากเขาเป็นต้นไม้สูงใหญ่กลางไร่นา ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดา อาศัยอยู่ โดยเฉพาะในต้นที่มีอายุยืนนาน บรรดาเทวาก็จะช่วยรักษาพืชผลทางการเกษตร ท้องไร่ท้องนา ให้เจริญงอกงามเป็นอย่างดี และนอกจากนี้ก็ยังนิยมเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางใต้ต้นสะแกอีกด้วย 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

ต้นสะแก

ลำต้น : สะแก เป็นต้นไม้สูงใหญ่ สีเทานวล เปลือกต้นเรียบ ลำต้นมีขนเป็นเกล็ดกลม ต้นใดมีอายุมากที่บริเวณโคนต้นจะเป็นหนามแหลมยาวและแข็ง 

ใบ : ใบของเจ้าต้นนี่เป็นแบบใบเลี้ยงเดี่ยว รูปรีแกมขอบขนานหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบมน อาจเว้าเป็นแอ่งตื้น โคนใบแคบ ใบยาว 6-15 เซนติเมตรโดยประมาณ มีความกว้างราว ๆ 3-6 เซนติเมตร 

ดอก : สะแกจะออกดอกเป็นช่อตามซอกหรือปลายใบ ลักษณะแบบช่อเชิงลด ความยาวราว ๆ 4-5 เซนติเมตร ดอกย่อยอาจมีสีขาวไปจนถึงเหลืองอ่อน ดอกจิ๋วมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายแยกออก กลีบ มีเกสรเพศผู้ทั้งหมด 8 อัน ดอกร่วงค่อนข้างง่ายและจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น 

ผล : ส่วนผลของเขาจะเป็นรูปไข่ มีครีบ 4 แฉก ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่แล้วมีสีน้ำตาล มีเมล็ดด้านในรูปกระสวย 

ประโยชน์ 

ต้นสะแก

สะแกนา เป็นต้นไม้เศรษฐกิจที่มีคุณค่าอย่างมาก โดยเฉพาะกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ชาวบ้านมักนำไปทำฟืนหรือเผาถ่าน เนื่องจากเขามีลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีค่าคาร์บอนสูงจึงช่วยให้เกิดไฟแรงหรือไฟร้อนสูงเมื่อเรานำไปใช้ 

สรรพคุณ 

เมล็ด : สามารถช่วยรักษาโรคพยาธิไส้เดือนได้ โดยวิธีการก็คือใช้เมล็ดหนักประมาณ 3 กรัม นำมาตำให้ละเอียด ทอดกับไข่ไก่ 1 ฟอง และกินขณะท้องว่าง 

ใบ : สำหรับใบอ่อนใช้ปรุงเป็นยาเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ ส่วนใบสดหากนำมาตำแล้วพอกเป็นยาจะช่วยรักษาแผลสดได้ 

ราก : ช่วยรักษาโรคไส้ด้วนไส้ลาม แก้มูกเลือด ขับเสมหะ แก้ริดสีดวง รักษาฝีมะม่วง 

ทั้งนี้เมล็ดของสะแกก็ยังมีพิษกลาง ๆ หากจะนำไปใช้งานจริง อาจจะต้องระมัดระวังอย่างรอบคอบ แต่ถ้าจะให้ชัวร์ควรต้องพึ่งพายาแผนปัจจุบันจะดีที่สุด 

การขยายพันธุ์ / ปลูก 

ต้นสะแก

สำหรับการขยายพันธุ์ต้นสะแก หากทำโดยวิธีการเพาะเมล็ด ก็สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้ 

1.เตรียมแปลงเพาะชำ ซึ่งส่วนนี้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีร่มเงาหรือโล่งแจ้งก็ได้ หากเตรียมพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มากอย่างเช่น 1×10 ตารางเมตร ก็จะสามารถเพาะกล้าได้ประมาณ 20,000 ต้น 

2.ใช้ทรายลงเพื่อรองพื้นดินหนาประมาณ 2 เซนติเมตร 

3.เมื่อเตรียมพื้นที่เสร็จสรรพก็นำเมล็ดแช่น้ำ 1 คืน จากนั้นให้แกะเปลือกออก 

4.นำเมล็ดสะแกที่แกะแล้วหว่านลงบนแปลงเพาะชำให้ทั่ว 

5.ใช้ดินทรายหว่านทับบาง ๆ พอให้เมล็ดโผล่ขึ้นมา 

6.จากนั้นให้โรยฟาง หรือหากไม่มีก็ใช้หญ้าแห้งทับเอาไว้บาง ๆ จนทั่ว เรียกว่าการห่มดิน 

7.รดน้ำเช้า-เย็น ติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน เมื่อเห็นต้นอ่อนเริ่มงอกออกมาแล้วจึงนำไปเพาะชำในถุงต่อเพื่อรอการนำไปปลูก 

การปลูก / ดูแล 

ต้นสะแก

การดูแลต้นไม้ใหญ่ทั่วไปอาจไม่แตกต่างกันมากนัก สะแกก็เช่นกัน เขาเป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงแดดมาก แสงจัดตลอดทั้งวัน จึงต้องปลูกเอาไว้ที่กลางแจ้งตามสวน ท้องไร่ ท้องนา จะดีกว่าในร่ม เนื่องจากเขามีขนาดค่อนข้างสูง จึงไม่ควรปลูกเอาไว้ในร่มเงาของหลังคา 

ทั้งนี้การรดน้ำส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับอายุ หากต้นที่ยังไม่เติบโตมากพอก็อาจจะรดน้ำบ่อยสักวันละ 1 ครั้ง ส่วนต้นที่เติบโตสูงใหญ่แล้วอาจรดน้ำสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็เพียงพอ ทว่าเขาก็ทนแล้งได้ดีพอสมควร 

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “ต้นสะแก” ที่เราได้รวบรวมมากให้ทุกท่านได้รู้จัก ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูก การดูแล ความเชื่อ รวมถึงวิธีการสร้างมูลค่า และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment