หยาดน้ำค้าง ต้นไม้กินแมลง

by plantlover
หยาดน้ำค้าง

หยาดน้ำค้าง เป็นต้นไม้กินแมลงที่มีขนาดเล็ก ลำต้นของน้องจะติดกับดินเลย มีความสูงเพียง 2 ซม. เท่านั้น ชอบดินและสภาพอากาศที่ชื้น ไปทางแฉะเลยก็ว่าได้ ต้นไม้กินแมลงต้นนี้ล่อ จับ และย่อยเหยื่อของมันด้วยต่อมเมือกที่ปกคลุมอยู่ที่ใบ พบมากตามภูเขาที่เป็นหินทราย และตามทุ่งหญ้าลำธาร วันนี้ PlantLover จะพาทุกคนไปรู้จักกับต้นไม้กินแมลงต้นนี้กันค่ะ

ลักษณะทั่วไปของต้นหยาดน้ำค้าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drosera burmannii Vahl. 

วงศ์ : Droseraceae

หยาดน้ำค้าง

ต้นไม้ชนิดนี้เป็นพืชกินสัตว์สกุลใหญ่ในวงศ์หญ้าน้ำค้าง มีอยู่ด้วยกันประมาณ 194 ชนิด เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นสั้น ใบมีลักษณะเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว เรียงสลับและซ้อนกัน กระจุกตัวอยู่ใกล้ราก ยาวประมาณ 6-10 มม. กว้างประมาณ 4-6 มม. สูงประมาณ 2-3 ซม. โดยทั่วไปแล้วพืชชนิดนี้จะเติบโตในที่ที่มีความชุ่มชื้นหรือพื้นที่ที่เปียกชื้นอยู่ตลอดปี ดินมีสภาพเป็นกรดและได้รับแสงในปริมาณที่สูง พืชชนิดนี้มีถิ่นอาศัยอยู่ตามหนองน้ำ, พื้นที่ลุ่ม, ที่ลุ่มหนอง, ที่ลุ่มมีน้ำขัง, และลำห้วยที่ชุ่มชื้น 

สำหรับกลไกในการจับและย่อยแมลง จะใช้ต่อมทั้งหมดสองชนิด ชนิดที่หนึ่งคือต่อมที่มีก้าน ซึ่งจะคอยหลั่งเมือกที่มีรสหวานออกมา เพื่อล่อแมลงให้เข้ามาและจับแมลงเอาไว้ เมื่อจับแมลงได้จะหลั่งสารเอนไซม์ออกมาเพื่อทำการย่อยแมลงตัวนั้น ต่อมชนิดที่ 2 คือ ต่อมไร้ก้าน ต่อมนี้จะดูดซึมสารอาหารจากแมลงที่ได้จากการย่อยอีกที

วิธีการขยายพันธุ์

หยาดน้ำค้าง

ต้นหยาดน้ำค้าง สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องอาศัยแมลงในการผสมเกสรเหมือนกับพืชชนิดอื่น หลาย ๆ ครั้งจะมีการผสมเรณูภายในดอกเดียวกัน ทำให้เกิดเมล็ดออกมา เมล็ดจะเป็นสีดำ และจะเริ่มงอกเป็นอีกต้น เมื่อได้รับความชื้นและแสงที่มากพอ เมล็ดของชนิดที่อยู่ในเขตอบอุ่นจะต้องการความเย็นและอากาศชื้นเพื่อกระตุ้นให้งอก ส่วนชนิดที่มีหัว จะต้องการความร้อน ฤดูที่มีอากาศร้อน ตามด้วยฤดูหนาวที่เปียกชื่อเพื่อกระตุ้นให้เมล็ดงอก

ประโยชน์และสรรพคุณทางยา

ต้นหยาดน้ำค้างถูกใช้ในทางการแพทย์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 12 โดยถูกบันทึกว่านำมาใช้รักษาอาการไอ ชาที่ทำจากต้นหยาดน้ำค้างได้รับการแนะนำจากนักสมุนไพรว่าสามารถรักษาอาการไอแห้ง โรคหลอดลมอักเสบ ไอกรน โรคหืด และอาการหายใจลำบากที่มีสาเหตุมาจากหลอดลม ในปัจจุบันมีการศึกษาว่าพืชชนิดนี้ มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการไอ และในช่วงปี ค.ศ. 1927 มีการรายงานว่าถูกใช้เป็นยากระตุ้นและรักษาอาการหลอดลมอักเสบ ไอกรน และวัณโรค

หยาดน้ำค้าง

ต้นไม้ชนิดนี้มีประโยชน์มากมายอย่างที่คาดไม่ถึง อีกทั้งยังนำไปเป็นไม้ประดับอีกด้วย ในหลาย ๆ พื้นที่ของโลก ต้นไม้ชนิดนี้ได้รับการอนุรักษ์เพื่อปกป้องพวกมันจากการคุกคามของมนุษย์ ซึ่งต้นหยาดน้ำค้างก็เหมือนกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ถ้าหากไม่ได้รับการอนุรักษ์ก็เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้เช่นกัน

You may also like

Leave a Comment