กวักมรกตดำ ใบมัน สวยเด่น ไม้เรียกทรัพย์ ใครอยากปลูกต้องรู้! 

by plantlover
กวักมรกตดำ

กวักมรกตดำ เป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนไทย เพราะนอกจากความเป็นมงคลของเขาแล้ว การดูแลก็ยังสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ปลูกในบ้านได้ ฟอกอากาศ เหมาะสำหรับมือใหม่หัดปลูก มีพื้นที่น้อย ประโยชน์มากมาย สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังสนใจอยากจับจองเป็นเจ้าของ วันนี้เรามีเรื่องที่คุณต้องรู้และศึกษาเกี่ยวกับเจ้าต้นไม้ชนิดนี้มาฝาก 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับ “กวักมรกตดำ” ไม้มงคล เรียกทรัพย์ ที่ใคร ๆ ก็ปลูกได้!

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zamioculcas Zamiifolia 

ชื่อวงศ์ : Araceae (วงศ์บอน) 

ชื่อสามัญ : Zanzibar Gem. 

กวักมรกตดำ

กวักมรกตดำ คือหนึ่งในกวักมรกต สายพันธุ์ยอดนิยม มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศทางแอฟริกาตะวันออก เช่นประเทศแทนซาเนีย ทางตอนใต้ของเคนยา ซึ่งเขามักอาศัยอยู่ตามป่าเขตร้อน ก่อนนำมาใช้ประโยชน์เป็นไม้ประดับสวยงาม จนกระทั่งแพร่กระจายไปทั่วโลก ชาวไทยเราก็ไม่พลาดที่จะนำมาตั้งชื่อมงคล ใส่สตอรี่ลงไปด้านความเชื่อ เพื่อเป็นกุศโลบายในการค้าขายประกอบกับลักษณะอันน่าสนใจของต้นไม้ก็จะทำให้ผู้คนอยากมีไว้ครอบครองมากยิ่งขึ้น 

ความเชื่อ

ก่อนอื่นต้องบอกเลยว่า ทั้งกวักมรกตดำและสายพันธุ์ใบสีเขียวนั้น จะให้ความเชื่อในทำนองเดียวกัน คือเป็นไม้มงคล เสริมโชคลาภ โดดเด่นด้านการกวักเงินกวักทองเข้าบ้านดุจดั่งชื่อของเขา ทำให้ผู้ปลูกสมความปรารถนาในทุกเรื่อง โดยเฉพาะอาชีพค้าขายมีติดบ้านไว้จะดีที่สุด 

กวักมรกตดำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : ลำต้นของเขาจะเกิดเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน คอยทำหน้าที่สะสมอาหารเฉกเช่นเดียวกันกับมันฝรั่ง มี 1 – 3 ข้อปล้อง สามารถแตกเป็นกอใหม่ได้ ปกคลุมด้วยรากขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับหัวกระชายรอบ ๆ 

ใบ : ในส่วนที่โผล่ออกมาจากหัวจนเราเข้าใจว่าเป็นลำต้นนั้น แท้จริงแล้วคือก้านใบ มีสีดำอมเขียวแก่ ลักษณะอวบน้ำ ออกใบประกอบแบบขนนก สำหรับกวักมรกตดำผิวใบอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จัดผิวใบจะดำขลับเป็นมัน ใบย่อยค่อนข้างแข็ง รูปหอก ปลายแหลม โคนมน ขอบใบเรียบอวบน้ำเช่นกัน 

ดอก : ดอกกวักมรกต จะออกมาแบบช่อเชิงลดกาบ คล้ายกับดอกหน้าวัวที่บริเวณก้านใบ หากมองผิวเผินก็เหมือนกับว่าดอกเขาโผล่ออกมาจากดินเช่นกัน 

กวักมรกตดำ

ประโยชน์

กวักมรกตดำเป็นต้นไม้ฟอกอากาศ ดูดซับสารพิษต่าง ๆ รอบกาย หลายคนจึงนิยมปลูกเอาไว้ในบ้านหรือในห้อง หรือปลูกเอาไว้เพื่อตกแต่งโต๊ะทำงาน ก็ช่วยเสริมดวง เสริมฮวงจุ้ยได้เช่นกัน 

กวักมรกตมีพิษร้าย

หลายคนคงพอจะเคยได้ยินข่าวเด็กชายเคี้ยวใบกวักมรกตแล้วเกิดอาการแสบร้อน ตัวสั่น ไปจนถึงชัก นั่นก็เพราะสารแคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate) ที่อยู่ในน้ำยางของต้นไม้ ซึ่งอันตรายต่อเด็กและสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก หากสัมผัสหรือทานเข้าไปก็อาจจะทำให้ช่องปากไหม้ เกิดอาการแสบร้อน ระคายเคือง ผิวบวม น้ำลายไหล หากร้ายแรงที่สุดก็อาจถึงขั้นหายใจลำบากกันเลยทีเดียว 

กวักมรกตดำ

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์กวักมรกตที่ได้รับความนิยมมีอยู่ด้วยกันสองแบบได้แก่ การชำใบและการแยกกอ ซึ่งถ้าเป็นมือใหม่ก็แนะนำให้แยกกอกวักมรกตดำจะง่ายกว่า ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ 

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

1.ดินปลูก 1 ส่วน  

2.กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน 

3.ขุยมะพร้าว 1/2 ส่วน 

4.อินทรียวัตถุ 1 ส่วน 

5.ปุ๋ยละลายช้า

6.กระถาง

7.มีดคม ๆ สำหรับผ่าแยกกอ

8.กวักมรกตดำต้นแม่

ขั้นตอนวิธีการขยายพันธุ์

1.มาเริ่มต้นกันด้วยการปรุงดินสำหรับปลูก โดยนำวัสดุอย่างดินปลูก กาบมะพร้าว ขุยมะพร้าว และอินทรียวัตถุ ตามสัดส่วนด้านบนมาคลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อเตรียมเอาไว้ก่อน

2.จากนั้นให้เรานำกวักมรกตดำต้นแม่ออกมาจากกระถางเก่า โดยการใช้นิ้วดันเข้าไปที่ก้นกระถาง จะง่ายกว่าการใช้แรงดึงถอนออก

3.นำมีดคม ๆ มาเฉือนแยกกอที่เราต้องการจะขยายออกมา อาจแยกเป็น 2 หรือ 3 ส่วนก็ได้ 

4.ให้นำดินปลูกไปวางรองที่ก้นกระถางในปริมาณ 1/3 

5.เติมปุ๋ยละลายช้าลงไปราว ๆ 1 กำมือ 

6.นำกอต้นกวักมรกตไปใส่ลงในกระถางแล้วเติมดินปลูกเพื่อกลบประคองต้น แล้วรดน้ำจนดินชุ่มชื้น วางไว้ในที่ร่มได้เลย 

กวักมรกตดำ

วิธีดูแล 

ดิน : กวักมรกต ดูแลง่าย เติบโตได้ดีในดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง สามารถใช้ดินตามสูตรที่เราแนะนำได้เลยเป็นเวลาครึ่งปี ค่อยรื้อออกมาเปลี่ยนดินใหม่ ใส่ปุ๋ยละลายช้าลงไปเท่าเดิม 

แสง : กวักมรกตดำเป็นพืชที่สามารถปลูกในร่มได้เลยสบายมาก ต้องการแสงแดดน้อย แต่ถ้าได้ร่มรำไรหน่อยจะดีมาก ประดับอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ก็ได้เช่นกัน 

น้ำ : รดน้ำให้เขาเพียงแค่สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งก็เพียงพอแล้วล่ะ แต่ต้องพยายามดูบ่อย ๆ อย่าให้ดินแห้งจนเกินไป 

และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าต้น “กวักมรกตดำ” ที่เราได้ทำการรวบรวมมาฝากทุกคน เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เจ้าต้นนี้น่าสนใจไหมล่ะ ปลูกเอาไว้ในบ้านมีประโยชน์มาก ดูแลง่าย คนทำงาน นักเรียนนักศึกษาก็ปลูกได้ เขาเป็นต้นไม้ที่ไม่เอาแต่ใจแน่นอน สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่กำลังสนใจนะคะ 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment