ปัญหาของคนที่ครอบครองพุดสามสีเอาไว้ในบ้านเรือน ก็คือเรื่องกลิ่นที่หอมจนเกินไป หลายคนเข้าใจว่าเจ้าต้นนี้ออกดอก 3 สีพร้อมกันคราเดียวในหนึ่งต้น ทว่าเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมหันต์ น้องค่อนข้างมหัศจรรย์ ออกดอกสีม่วง และค่อย ๆ ซีดจางลงไปเรื่อย ทำให้เกิดความหลากหลาย ในแต่ละวันเราจะเห็นทั้งดอกสีม่วงเข้ม ม่วงอ่อนเลือนราง และสีขาวปะปนกันไป สำหรับใครที่ปลูกแล้วพบเจอปัญหา ไม่เห็นว่าจะผลิดอกทั้งปีตามคำคุย วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากด้วยล่ะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “พุดสามสี” ไม้พุ่มสีม่วงแก่ ม่วงอ่อน ขาว กับเรื่องที่คนปลูกต้องเข้าใจ!
พุดสามสี จัดเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก อันมีถิ่นกำเนิดมาจากทางทวีปอเมริกากลาง เขตร้อนชื้นทางตะวันออก และตะวันตกของบราซิล ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด มีเพียงข้อสันนิษฐานว่านำเข้ามาปลูกผ่านทางประเทศเวียดนาม และเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกในสภาพอากาศเขตร้อนอย่างบ้านเราได้สบาย ๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brunfelsia pauciflora
ชื่อวงศ์ : Solanaceae (วงศ์มะเขือ)
ชื่อสามัญ : Yesterday Today and Tomorrow หรือ Morning Noon & Night Tree
ชื่อไทยอื่น : สามราศี, พุดสี และ พุทธชาดม่วง
ความเชื่อ และความหมาย
สีสันดอกพุด เปรียบเสมือนตัวแทนของวัฏจักรชีวิต ซึ่งมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดั่งดอกไม้แรกแย้มสีม่วงสดใส ค่อย ๆ ซีดเผือดลง เป็นสีขาว และร่วงโรยท้ายที่สุด คนไทยนิยามให้เขาเป็นหนึ่งในไม้มงคล ปลูกเอาไว้เพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืน และร่ำรวย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (ทั่วไป)
ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นที่อาจมีความสูงถึง 4 เมตรหากปลูกเลี้ยงเอาไว้โดยไม่ตัดแต่งควบคุมทรงพุ่ม ผิวเปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลอมเทา แตกกิ่งก้านสาขาต่ำ
ใบ : เป็นพืชใบเดี่ยว ที่ออกใบเรียงสลับกันบนกิ่ง สัณฐานใบรูปไข่ ขอบขนาน โคนใบสอบ เนื้อใบหนา ผิวใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน เส้นใบชัดเจน
ดอก : จัดว่าเป็นต้นไม้ออกดอกทั้งปี ส่งกลิ่นหอมแบบผู้ดีตลบอบอวล โดยพุดสามสีจะให้ดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแบ่งออกเป็น 5 กลีบยับย่น โดยช่วงแรกจะออกดอกสีม่วงเข้ม จากนั้นเลือนรางกลายเป็นม่วงอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีขาวก่อนร่วงโรย หนึ่งดอกมีอายุอยู่เพียง 2-3 วันเท่านั้น จึงทำให้บริเวณใต้ต้นไม้เต็มไปด้วยดอกและใบ เป็นภาระงานให้เราเก็บกวาดอยู่เสมอ
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ต้นพุดนั้นไม่ยุ่งยาก และสามารถทำได้หลากหลายวิธีตามความถนัด ไม่ว่าจะเป็นการตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง หรือขุดหน่อออกมาปลูกใหม่ ซึ่งเห็นผลใกล้เคียงกันทั้งอัตราการรอด และความแข็งแรง สำหรับมือใหม่ที่อยากลองเพิ่มจำนวนประชากรต้นไม้ด้วยสองมือของตัวเอง ลองพิจารณาดูว่าพุดสามสีที่บ้านเรานั้นเป็นต้นใหญ่ที่มีหน่องอกออกมาใต้ต้นแล้วหรือยัง? กรณีนี้แนะนำการให้ขุดหน่อไปปลูกลงกระถาง จะง่ายมากที่สุด แต่ถ้าต้นที่บ้านยังเล็กจิ๋ว แต่แข็งแรง ขอแนะนำวิธีการปักชำกิ่งดังต่อไปนี้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– ดินปลูก
– แก้วพลาสติกใช้แล้ว อย่างเช่นแก้วกาแฟ
– ถุงแกงขนาดครอบปากฝาแก้วได้ (สำหรับควบแน่น)
– เชือกแก้ว
– กรรไกรตัดกิ่ง
– น้ำยาเร่งราก
ขั้นตอนการปักชำกิ่ง
1. เลือกดูกิ่งพุดสามสีที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป
2. ใช้กรรไกร ตัดกิ่งนั้นออกมา วัดความยาวจากยอดไม่เกิน 20 เซนติเมตร
3. จากนั้นตัดใบออกทุกใบ ให้เหลือแต่กิ่งสด
4. นำกิ่งไปแช่น้ำยาเร่งรากทิ้งไว้ 30 วินาที
5. ระหว่างนั้นบรรจุดินลงในแก้ว
6. เสร็จสรรพนำยอดไปเสียบลงดิน
7. รดน้ำให้ดินชุ่มชื้น
8. ใช้ถุงพลาสติกครอบลงไป ก่อนรัดด้วยเชือกแก้ว เพื่อควบแน่นเพื่อรักษาความชุ่มชื้น
9. วางกิ่งที่เพาะชำเอาไว้บริเวณพื้นที่ร่ม จนกว่าเขาจะติดราก และมีใบออกมาค่อยแกถุงควบแน่นออก นำไปโดนแสงแดด รดน้ำตามปกติ
วิธีดูแลพุดสามสี
พื้นที่ปลูก : แสงแดด คือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หากต้องการทำให้ดอกพุดสีม่วงเบ่งบานทั้งปีเต็มต้นก็ควรให้เขาได้รับแสงตลอดทั้งวัน หรือย่อหย่อนไปกว่านั้นก็ควรได้รับแสง 4-6 ชั่วโมงต่อวัน ใครมีปัญหาพุดไม่ออกดอก ลองเปลี่ยนพื้นที่ให้เขาดูสิ
ดิน : เน้นดินร่วน ระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง หากปลูกลงบนพื้นดิน แนะนำให้พูนเนินดินให้สูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียงสัก 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
การค้ำยัน : ระยะเวลา 6 เดือน ควรค้ำยันหลังจากปลูกต้นไม้ใหม่
น้ำ : ชอบน้ำปานกลาง ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง แต่ในช่วงฤดูแล้งอาจเพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นจะดีที่สุด
ปุ๋ย : เป็นต้นไม้ที่ออกดอกง่ายอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ เพิ่มเติม
การตัดแต่ง : ตามความชื่นชอบ เพื่อให้ได้รูปทรงตามใจต้องการ
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเรื่องราวของ “พุดสามสี” ดอกไม้สามสี แฟนตาซี สุดเลิศที่เราได้แนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ทำความรู้จักกันไปแล้ว ใครกำลังตามหาดอกไม้กลิ่นหอม สีสันสวยงาม ดูแลง่ายไว้ปลูกหน้าบ้านต้อนรับแขกไปใครมา บอกเลยว่าเจ้าต้นนี้ตอบโจทย์แน่นอน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net