แกงคั่วหอยขม เมี่ยงคำ เมนูไทยเลื่องชื่อ ต่างก็มี “ใบชะพลู” เป็นตัวชูโรง เพิ่มความอร่อยด้วยกันทั้งสิ้น สมุนไพรรสร้อนที่ดูเหมือนจะเข้ากับเมนูอาหารได้ยากยิ่ง แต่กลับกลมกลืนกันอย่างลงตัว ให้คุณค่าทางโภชนาการ ของดีแบบนี้ ปลูกติดบ้านไว้มีชัยไปกว่าครึ่ง อยากกินก็แค่เดินไปเด็ดใบสด ๆ จากต้น และถ้าหากคุณกำลังสนใจตามหาข้อมูล เรียนรู้นิสัยใจคอของเขาเพื่อการปลูกและดูแลอย่างถูกวิธี ต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องรู้เอาไว้!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ชะพลู” สมุนไพรพื้นบ้าน กับเรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน!
ชะพลู จัดอยู่ในประเภทไม้ล้มลุกอายุหลายปี ไม้พุ่มเตี้ย และยังเป็นไม้เถาที่ทอดเลื้อยไปตามผืนดินอีกด้วย แม้จะเป็นพืชในวงศ์เดียวกันกับพริกไทย แต่กลับถูกจำสับสนกับ “พลู” เนื่องจากรูปใบและชื่อใกล้เคียงกัน ความจริงแล้วไม่ใช้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมของบ้านเรา แต่มีถิ่นกำเนิดมาจากทางหมู่เกาะมาเลย์และหมู่เกาะชวา ประเทศมาเลเซีย ถ้าพูดถึงสภาพอากาศไม่ค่อยแตกต่างจากเมืองไทยสักเท่าไรนัก เมื่อนำเข้ามาปลูกจึงดูแลง่าย ขยายพันธุ์ไว และแทรกซึมเข้าไปอยู่ในเมนูอาหารของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper samentosum Roxb.
ชื่อวงศ์ : PIPERACEAE (วงศ์พริกไทย)
ชื่อสามัญ : Wildbetal leafbush
ชื่อท้องถิ่น : ผักปูนา พลูลิง ผักพลูนก ปูลิงนก ปูลิง (ภาคเหนือ), ผักอีเลิด ผักนางเลิด ผักแค (ภาคอีสาน), ช้าพลู (ภาคกลาง) และนมวา (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เป็นไม้พุ่มเตี้ย ความสูงตั้งแต่ 30-50 เซนติเมตรโดยประมาณ ลำต้นตรง มีปุ่มปม มีรากตามข้อ ผิวสีเขียวเรียบ แตกกิ่งเลื้อยทอดยาวไปตามพื้น เรียกว่าไหล งอกเป็นต้นใหม่
ใบ : ออกใบเดี่ยวออกเป็นคู่ตรงข้ามกันที่กิ่ง โดยเริ่มต้นด้วยสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีเขียวเข้มเมื่อใบเริ่มแก่ ลักษณะใบคล้ายรูปหัวใจ โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ผิวใบมัน ส่วนนี้คนไทยนิยมนำไปประกอบอาหาร
ดอก : ออกดอกแบบเป็นช่อทรงกระบอกสีขาวชูชัน ที่บริเวณยอด ลักษณะเป็นดอกแบบแยกเพศ
ผล : เป็นผลกลมฝังตัวในช่อดอก มีสีเขียว ผิวมัน มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนเป็นหลัก
กินใบชะพลูสดได้ไหม?
ใบของเขามีกลิ่นฉุน รสร้อน เป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อน แต่ก็สามารถนำมากินสดได้ ยกตัวอย่างเช่นในเมนูเมี่ยงคำที่นำเอาใบสดมารับประทานคู่เครื่องเคียง แต่ทั้งนี้เราไม่ควรกินใบสดของเขามากจนเกินไปและไม่ควรกินทุกวัน ถ้าหากจำเป็นต้องกินจริง ๆ ขอแค่ครั้งละ 7-10 ใบก็พอ หากทานเยอะจนเกินอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ไม่ดีแน่
ประโยชน์และโทษ
ชะพลู เป็นผักที่อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน มีส่วนช่วยในการมองเห็น มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก หากทานแต่น้อย รสเผ็ดร้อนนั่นจะช่วยให้เจริญอาหารยิ่งขึ้น แต่ไม่ควรทานมากจนเกินไป และไม่ควรทานติดต่อกันเป็นเวลานานเนื่องจากแคลเซียมในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต (Oxalate) หนึ่งในสาเหตุของการเกิดนิ่วในไต
การขยายพันธุ์
ชะพลู ขยายพันธุ์ง่าย แม้ผู้ครอบครองจะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลยก็ตาม สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังสนใจอยากลองเพิ่มจำนวนประชากรเจ้าต้นนี้ด้วยสองมือของตนเอง แนะนำให้ใช้วิธีการปักชำในน้ำก่อน ค่อยนำมาลงกระถาง สามารถทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ได้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– แก้วหรือขวดทึบแสง (สำหรับใส่น้ำ)
– กรรไกรตัดกิ่ง
– ชะพลูต้นแม่
– ดินปลูก
– กระถางมีรูระบายที่ก้น
ขั้นตอนการปักชำกิ่งชะพลู
1. อันดับแรกให้เลือกตัดกิ่งหรือต้นชะพลูที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร
2. จากนั้นนำกิ่งที่ตัดออกมาแล้วไปแช่น้ำทิ้งเอาไว้ในขวดทึบแสง
3. วางเอาไว้ในบ้าน พื้นที่ร่ม อุณหภูมิปกติ สักประมาณ 1 เดือน รากจะงอกออกมาพร้อมนำไปปลูกลงดินได้
4. เมื่อรากงอกพร้อมปลูกลงดิน ให้เรานำกิ่งไปลงกระถางที่มีดินปลูกได้เลย หรือจะปลูกลงดินก็ได้เช่นกัน
การปลูก/ดูแล
พื้นที่ : หากต้องการปลูกแบบควบคุมทรงพุ่ม ให้ปลูกลงในกระถาง และตัดกิ่งทิ้งบ่อย ๆ เนื่องจากเมื่อต้นเริ่มเลื้อยแล้ว ไหลจะลงสู่พื้นดินและเกิดเป็นต้นใหม่จนดูรกไปเลย
แสง : เน้นพื้นที่แสงรำไร มีแดดพาดผ่านบ้างเล็กน้อย แต่แสงฟุ้งกระจาย อย่างเช่น ใต้ร่มไม้ใหญ่ หรือปลูกเอาไว้บริเวณใต้ชายคาบ้าน ในขณะเดียวกันก็สามารถปลูกริมรั้วเป็นผักสวนครัวได้เลย
ดิน : เน้นดินร่วน เก็บความชื้นดี อินทรียวัตถุสูงหน่อย
น้ำ : เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก หากใช้วัสดุปลูกแบบกักเก็บความชื้นดี รดน้ำวันละ 1 ครั้งก็เป็นอันเพียงพอ หรือจะปล่อยเขาทิ้งเอาไว้ตามฤดูกาลก็ยังไม่ล้มหายตายจากไป เพียงแต่ต้นอาจไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าที่ควร
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “ชะพลู” ผักพื้นบ้านที่อยู่ในหลายเมนูอาหารไทย ๆ กลิ่นฉุน รสชาติเผ็ดร้อน ถูกใจคนไทยส่วนใหญ่ ถ้าใครชื่นชอบพืชชนิดนี้มาก อยากปลูกเอาไว้ทำกับข้าวกินเอง ก็สามารถนำวิธีการ เคล็ดลับ และความรู้ทั้งหมดไปประยุกต์ใช้ได้เลย รับรองว่าต้นไม้ของคุณจะเจริญงอกงามไปพร้อมกับสุขภาพจิตอันแจ่มใสของผู้ปลูกอย่างแน่นอน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net