ตาลฟ้า ปาล์มใบสวย ต้นใหญ่ ให้ร่มเงา อยากปลูกต้องรู้!

by plantlover
ตาลฟ้า

หากคุณคือผู้หลงใหลในความงดงามของพืชตระกูลปาล์ม ก็คงพอรู้จักกับต้น “ตาลฟ้า” ที่รูปร่างสูงโปร่ง ใบพัดโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กันมาบ้าง ปลูกไว้มุมไหนของบ้านก็โดดเด่น สร้างความสว่างไสวให้สวนอย่างง่ายดาย รับรองว่าปลูกง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่อย่าลืมศึกษาวิธีการดูแลต้นไม้อย่างถูกต้องเพื่อให้เขาเจริญเติบโตเต็มวัย ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักกับเจ้าต้นนี้ให้มากยิ่งขึ้นกันเลยดีกว่า

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับ “ตาลฟ้า” สายพันธุ์ปาล์มสวยงาม น่าปลูก พร้อมการดูแล!

ตาลฟ้า จัดว่าเป็นพืชในตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง เขามีถิ่นกำเนิดมาจากมาดากัสการ์ ในมหาสมุทรอินเดีย มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้เมื่อนำสายพันธุ์ปาล์มชนิดนี้เข้ามาปลูกในบ้านเรา จึงสามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ สมบูรณ์และอยู่ได้ ทั้งนี้ต้องอาศัยการดูแลอย่างถูกวิธีด้วย 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bismarckia nobilis 

ชื่อวงศ์ : Arecaceae (ปาล์ม) 

ชื่อสามัญ : Bismarck palm 

ชื่อไทย : ปาล์มมาดากัสการ์, ปาล์มใบฟ้า, ตาลใบฟ้า หรือตาลสีฟ้า 

ตาลฟ้า

ความเชื่อเกี่ยวกับปาล์ม 

คนไทยเชื่อกันว่า ปาล์มทุกสายพันธุ์เป็นต้นไม้นำโชค หากปลูกเอาไว้ภายในบ้านจะนำมาซึ่งโชคลาภ เงินทอง ลาภลอย อำนาจ บารมี ตลอดไปจนถึงเรื่องความเจริญรุ่งเรือง แต่ควรหลีกเลี่ยงการปลูกปาล์มหน้าบ้านเพราะเชื่อว่าจะบดบังพลังงานดี ๆ ที่ผ่านเข้ามา ให้ปลูกเอาไว้ด้านหลังหรือข้างบ้านแทน

ตาลฟ้า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : ในช่วงระยะแรก เรามักจะไม่เห็นในส่วนของลำต้นเนื่องจากกาบใบขึ้นปกคลุมเวียนจนบดบังลำต้นที่แท้จริงหมด แต่เมื่อเขาเริ่มทิ้งก้าน ลำต้นตาลฟ้าจะปรากฏออกมาอย่างชัดเจน มีลักษณะทรงกระบอกสูง 9-15 เมตร นับแต่โคนต้นจรดปลายใบ ผิวเปลือกสีน้ำตาล

ใบ : มีลักษณะเป็นรูปใบพัดแกนขนาดใหญ่ ขอบจักลึกถึงครึ่งกลางใบ คล้ายกับใบของต้นตาล แผ่นใบกว้าง 2-3 เมตร ออกมาจากก้านความยาว 2 เมตร ผิวใบมีสีเขียวอมขาว หรือสีเขียวอมฟ้า ปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลอ่อน จึงเป็นที่มาของชื่อว่าตาลฟ้านั่นเอง

ดอก : ออกดอกเป็นช่อกระจะสีเหลือง ระหว่างกาบใบ

ผล : ติดผลกลม สีเขียวอมฟ้า เมื่อผลสุกแล้วเป็นสีน้ำตาล มีหนึ่งเมล็ดด้านใน

ประโยชน์

ตาลฟ้า เป็นไม้ประดับมากประโยชน์ นอกจากการใช้ต้นของเขาปลูกสำหรับตกแต่งสวนแล้ว ใบยังสามารถนำมาตากแห้งแล้วมุงกระท่อมหรือสานตะกร้าสร้างรายได้ได้ ส่วนแกนกลางลำต้นสามารถนำมาทำเป็นแป้งได้ นอกจากนี้ยังนิยมนำไปทำบอนไซอีกด้วย

ข้อเสียของการปลูกตาลฟ้า

1. มีแมลงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หากต้องการใช้ร่มไม้ อาจจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์ในการกำจัดแมลงออกบ่อยครั้ง

2. ก้านของเขาค่อนข้างคม หากเด็ก ๆ เผลอไปจับเข้าอาจบาดมือได้

3. ควรปลูกให้ห่างจากบ้านเนื่องจากรากและลำต้นของเขาอาจทำลายโครงสร้างบ้านได้

ตาลฟ้า

การขยายพันธุ์

ตาลฟ้า สามารถขยายพันธุ์ได้เฉกเช่นเดียวกันกับปาล์มทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก ใครอยากปลูกต้นโตไว ทันใจ แนะนำซื้อต้นใหญ่มาเลยดีกว่า แต่ถ้าหากที่บ้านของเรามีเจ้าต้นนี้อยู่แล้ว และอยากเพิ่มจำนวนประชากรต้นไม้ ก็สามารถทำตามวิธีการดังต่อไปนี้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

– กระบะเพาะ

– ทรายก่อสร้าง

– ขุยมะพร้าว

– ผลแก่ตาลฟ้า

ตาลฟ้า

ขั้นตอนวิธีการเพาะเมล็ดปาล์ม

1. ให้เรานำผลตาลฟ้าที่แก่แล้วมาลอกเปลือกออก

2. แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 2 คืน เพื่อเพิ่มอัตราการงอก

3. นำขุยมะพร้าวแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน

3. จากนั้นนำทราย ผสมกับขุยมะพร้าว คลุกเคล้าให้เข้ากันเพื่อทำวัสดุปลูก

4. บรรจุวัสดุปลูกลงในกระบะเพาะชำ

5. รดน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะ

6. ทำหลุมเล็กน้อย เพื่อวางเมล็ดลงไปและกลบดินหนาประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร

7. จากนั้นรดน้ำตาม

8. วางกระบะเพาะเอาไว้ใจพื้นที่ที่มีอุณหภูมิปกติ ร่มรำไร จนกว่ากล้าจะงอกออกมาค่อยย้ายแยกลงถุงเพาะชำต่อไป

ตาลฟ้า

การปลูก/ดูแล 

พื้นที่ : อย่างที่บอกไปว่าเขาเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่หากปลูกเอาไว้จำเป็นต้องมีพื้นที่ห่างจากตัวบ้านหน่อย เมื่อเขาขยายร่มเงาออกจะได้ไม่เกิดการชำรุด แตกหักของโครงสร้าง

แสง : ตาลใบฟ้าเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ที่ต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน ควรปลูกเอาไว้ในโซนโล่งแจ้ง หรือแดดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หากทำบอนไซก็ต้องให้เขาถูกแสงแดดเช่นกัน

ดิน : แม้ว่าเขาจะชื่นชอบน้ำมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขังจึงควรปลูกลงในดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง ในช่วงเริ่มลงหลุม อาจผสมดินเข้ากับปุ๋ยคอกเพื่อเพิ่มธาตุอาหารก็ได้เช่นกัน แนะนำใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13 รองก้นหลุมจะดีมาก

น้ำ : พยายามให้น้ำเขาทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องเราเกี่ยวกับ “ตาลฟ้า” ปาล์มใบฟ้าสวย ยอดฮิต ปลูกและดูแลง่ายที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้รู้จัก เป็นอย่างไรบ้างคะ เจ้าต้นนี้น่าสนใจมากเลยใช่ไหม ข้อเสียมีน้อย แถมยังรูปร่างหน้าตาโดนใจอีกต่างหาก ใครอยากปลูกก็อย่าลืมคำนึงถึงพื้นที่ในบ้าน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการดูแลอย่างถูกวิธี รับรองว่าเจ้าต้นนี้จะเติบโตอย่างสวยงามจนเป็นขวัญใจชาวบ้านอย่างแน่นอน 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment