หากเพื่อน ๆ อยู่ในวงการต้นไม้มาสักระยะก็น่าจะเคยได้ยินชื่อ “สยามมอนสเตอร่า” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เขาคือหนึ่งในสายพันธุ์มอนสเตอร่าที่ร่ำลือว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศไทย แต่จะจริงหรือไม่? ถ้าอยากเลี้ยงต้องทำอย่างไร? ดูแลยากไหม? วันนี้เราได้รวบรวมเอาคำตอบในสิ่งที่เพื่อน ๆ กำลังสงสัยมาฝาก!!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับสยามมอนสเตอร่า มอนสเตอร่าต้นใหญ่ ที่ใครก็ปลูกได้!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monstera pinnatipartita
ชื่อวงศ์ : Araceae (วงศ์บอน)
ชื่อสามัญ : Siam Monstera
สยามมอนสเตอร่า หรือหลายคนเรียกเขาว่า มอนสเตอร่าสยาม เจ้าต้นนี้เป็นไม้กึ่งอิงอาศัยที่เติบโตตามรูปแบบของมอนสเตอร่า กล่าวคือใบของเขาจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเรื่อยซึ่งเจ้าต้นนี้จะมีด้วยกันทั้งหมด 3 ร่าง เดี๋ยวเราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักรูปพรรณสัณฐานของทั้ง 3 ร่างอย่างละเอียด
สยามมอนสเตอร่า มาจากไทยจริงไหม?
ไม่รู้ว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่มีคำร่ำลือว่าพบเจ้าต้นนี้อยู่ในป่าแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากหลักฐานไม่ปรากฏแน่ชัด และไม่มีข้อมูลทางวิชาการใด ๆ สนับสนุน ถ้าหากเพื่อน ๆ ลองสืบค้นข้อมูลด้วยคำว่า Monstera pinnatipartita จาก Google ก็จะพบพืชหน้าตาแบบเดียวกันกับสยามมอนฯ มากมายเต็มไปหมด แต่ไม่มีแหล่งข้อมูลใดเลยที่อ้างอิงว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศไทย และหากสืบค้นไปอีกนิดจะพบว่า เขามีถิ่นกำเนิดมาจากเขตป่าฝนในทวีปอเมริกาใต้ โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู แต่มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศอย่างยาวนานแล้วต่างหาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลำต้นของเขาค่อนข้างกลม เห็นไม่ชัดเนื่องจากก้านใบมีขนาดใหญ่ หากเอาไม้มาเสียบเอาไว้ให้เขาเกาะ ต้นและใบก็จะมีความยาวไปเรื่อย ๆ
ใบ : สยามมอนสเตอร่า เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ก้านใบแข็งและยาว สีเขียว ซึ่งเขาจะมีวิวัฒนาการของใบทั้งหมด 3 Step ด้วยกันดังต่อไปนี้
– ระยะที่ 1 ออกใบแบบรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ขนาดใบไม่สมมาตรกัน เส้นร่างแหของใบเด่นชัด เยื่อใบยกนูนเป็นช่วง
– ระยะที่ 2 ระยะนี้ใบจะเริ่มมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น และมีรอยหยักเว้าไม่ลึกมาก ใบเป็นรูในบางโอกาส
– ระยะที่ 3 เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ใบแก่จัด มีร่องรอยการเว้าราวกับถูกฉีกอย่างเด่นชัดในลักษณะคล้ายคลึงกับขนนก ขนาดใบใหญ่ยิ่งขึ้น สีเขียวเป็นมัน ในระยะเวลา 1 เดือนจะมีใบใหม่ออกมาเรื่อย ๆ เฉลี่ยเดือนละ 1 ใบ
ดอก : สำหรับดอกของเขาก็จะมีความคล้ายคลึงกับมอนสเตอร่าต้นอื่น ลักษณะปลีดอกสั้น ไม่ค่อยติดผลในเมืองไทย
การขยายพันธุ์
มอนสเตอร่า ขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธีเช่นเดียวกันกับต้นไม้ตระกูล Araceae อื่น ๆ ซึ่งวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ การชำข้อ นั่นเอง ซึ่งใครก็สามารถทำได้ ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องลงทุนซื้อของหน่อย ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักกับวิธีการชำข้อเจ้าสยามมอนสเตอร่ากันเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– มอนสเตอร่าต้นแม่
– คัตเตอร์คม ๆ
– ปูนแดง
– กระถางขนาด 6 – 8 นิ้ว มีรูระบายที่ก้น
– กาบมะพร้าว
– ถุงขนาดใหญ่สำหรับอบ
– เชือกรัดปากถุง
ขั้นตอนการชำข้อมอนสเตอร่า
1.ให้เราใช้คัตเตอร์คม ๆ ตัดลงไปที่ต้นสยามมอนสเตอร่า บริเวณใต้ข้อใบของเขา ซึ่งในหนึ่งต้นอาจตัดออกมาได้หลายข้อมาก ๆ
2.อย่าลืมทาปูนแดงบริเวณแผลของต้นแม่
3.และใช้ปูนแดงทาแผลที่ใต้ข้อใบของแต่ละข้อให้หมด
4.จากนั้นพักทิ้งเอาไว้ 15 นาที
5.นำกาบมะพร้าวที่แช่น้ำทิ้งเอาไว้ประมาณ 1 คืนมาวางปูลงที่ก้นกระถางก่อนเล็กน้อย
6.จากนั้นนำข้อต้นมอนฯ ของเราไปวางบริเวณกึ่งกลางกระถาง แล้วถมกาบมะพร้าวลงไปแบบหลวม ๆ ให้เพียงพอต่อการประคองต้น และวางทิ้งเอาไว้สักพักเพื่อให้ความชื้นเริ่มหายไปเล็กน้อย
7.จากนั้นนำกระถางมาใส่ลงในถุงแล้วมัดเชือกปิดให้มิดเพื่ออบเขาไว้ รอจนกว่ายอดจะเกิดขึ้นมาใหม่ หรือรากงอกออกแล้วจึงค่อยย้ายกระถางใหม่
การปลูก / ดูแล
ดิน : การปลูกมอนเตอร่าไม่จำเป็นต้องใช้ดิน ขอเพียงแค่มีวัสดุปลูกให้ความชุ่มชื้นอย่างเช่น กาบมะพร้าว เขาก็อิงอาศัยอยู่ได้แล้วล่ะ จะผสมอินทรียวัตถุเข้าไปด้วยก็ได้เช่นกัน
แสง : ส่วนในเรื่องแสง พืชตระกูลนี้จะชอบพื้นที่ร่มรำไร แสงฟุ้งเข้ามาแต่ไม่สัมผัสกับแดดโดยตรง หากอยู่กลางแจ้งก็ควรบังแดดด้วยสแลน 70% หากให้เขาเป็นต้นไม้ปลูกในบ้านก็ควรวางเอาไว้ให้แสงแดดส่องถึงบ้าง
น้ำ : สยามมอนสเตอร่า ชอบน้ำปานกลาง แต่ต้องมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ควรหมั่นรดน้ำวันละ 1 ครั้ง หรือจะใส่น้ำเอาไว้บริเวณถาดรองกระถางด้วยก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ต้องระวังอย่าให้พื้นดินชื้นแฉะจนเกินไป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “สยามมอนสเตอร่า” ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองทำความรู้จัก เจ้าต้นไม้ฟอกอากาศสีเขียวขนาดยักษ์ ใบสวยที่ยังไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงแน่ชัดว่ากำเนิดมาจากประเทศไทยหรือไม่ แต่พอตั้งชื่อนี้ก็ดูเท่ดีไปอีกแบบ จริงไหมล่ะ หวังว่าข้อมูลดี ๆ ในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนด้วยนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net