ออดิบ เรียกได้ว่าเป็นพืชที่หลายคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เขาอยู่ในตระกูลเดียวกันกับพวกบอน เผือก สามารถนำมารับประทานได้ อร่อยด้วย แต่ก็ยังมีข้อควรระวังในหลายเรื่อง ตอนนี้กำลังเป็นต้นไม้ที่มาแรงแซงทางโค้ง โดยเฉพาะพันธุ์ใบด่างที่ทำราคาได้ราว ๆ ครึ่งล้าน ในเมืองนิยมปลูกเอาไว้เพื่อเป็นไม้ประดับสวยงาม และถ้าเพื่อน ๆ กำลังสนใจเจ้าต้นนี้อยู่ เรามาทำความรู้จักกับเขาไปพร้อมกันเลยดีกว่า
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ออดิบ” ไม้ประดับราคาแพง มาแรง กินได้!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Colocasia gigantea
ชื่อวงศ์ : Araceae (วงศ์บอน)
ชื่อสามัญ : Giant elephant’s ear
ชื่อไทยอื่น ๆ : โชน ออกดิบ (ภาคใต้), คูน (ภาคกลาง), กระดาดขาว ตูน ทูน ตุน (ภาคเหนือ)
ออดิบ เป็นพืชที่มีรากหรือเหง้าเหมือนกันกับบัว เมื่อได้เห็นหน้าค่าตาของเขาก็คงจะพอเดาออกว่า นี่คือพืชในตระกูลเดียวกันกับบอน เขามีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียตะวันออกอย่างเช่นประเทศไทยของเรา สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคตามห้วย หนอง คลอง บึง แต่ถ้าเพื่อน ๆ ไปเจออย่าเพิ่งเก็บมาประกอบอาหารเด็ดขาด ถ้ายังแยกระหว่างต้นออดิบกับต้นโหราไม่ออก เพราะโหรามีพิษอันตรายมาก!
ความเชื่อ
“ตุน” ชื่อของเขาในภาษาเหนือมีความหมายถึง การสะสม ผู้คนจึงอนุมานว่าเป็นต้นไม้แห่งหารกักตุน เก็บทรัพย์สินเอาไว้กับตัว ส่วนหนึ่งเรียกว่า “ต้นทุน” หมายถึง ทุนทรัพย์ จึงกลายเป็นต้นไม้มงคลความหมายดี ถ้าปลูกเอาไว้ในอาณาบริเวณบ้าน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ออดิบคือพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ลำต้นของเขามีลักษณะเป็นเหง้าใต้ดินเฉกเช่นเดียวกันกับบัว หัวกลม สีดำ หากผ่าออกดูจะพบว่ามีความคล้ายคลึงกับหัวเผือก
ใบ : ก้านใบสีเขียวของเขาแทงออกมาจากบริเวณหัว บริเวณผิวมีผงแป้งสีขาวนวลเคลือบเอาไว้ เนื้อก้านใบกรอบ อวบน้ำ เต็มไปด้วยรูอากาศตามแบบฉบับพืชในตระกูลเดียวกัน ส่วนใบนั้นจะออกแบบใบเดี่ยวรูปหัวใจขนาดใหญ่ กว้าง 16-17 นิ้ว ยาว 15-19 นิ้วโดยประมาณ ปลายใบแหลม ฐานใบเว้า ขอบใบหยักเป็นคลื่นเพียงเล็กน้อย มีเส้นใบสีเขียวอ่อน เห็นเด่นชัด ใบไม่มัน แต่เมื่อโดนน้ำจะกลับกลอกกลิ้งไปมา
ออดิบ VS โหรา แตกต่างกันอย่างไร?
ออดิบ (กินได้) : ลำต้นสีเขียวอ่อน เคลือบแป้ง ก้านใบสีขาวนวล ใบเล็กและบาง มีสีเขียวอ่อน
โหรา (กินไม่ได้) : น้ำยางของบอนโหรามีพิษ เนื่องจากมีสารที่ชื่อว่าแคลเซียมออกซาเลต (Calcium Oxalate) ในน้ำยาง หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกในปากและลำคอ คันปาก คันคอ แสบร้อน เกิดตุ่มน้ำใส หากรุนแรงมากก็อาจจะถึงขั้นพูดและหายใจลำบาก มีลักษณะลำต้นสีเขียวเข้ม ไม่มีแป้งเคลือบ ใบขนาดใหญ่และหนา มีสีเขียวเข้ม มองแล้วคล้ายกลับตาลปัตร
ประโยชน์ของต้นไม้
สำหรับประโยชน์ของเจ้าต้นนี้หลัก ๆ ก็จะปลูกเอาไว้เพื่อเป็นไม้ประดับตามบ้าน โดยเฉพาะออดิบด่าง ที่มีการแบ่งสีสันและมีชื่อเรียกเฉพาะตัวตั้งแต่ด่างขาว ด่างเหลือง เหลืองอันดามัน ด่างมินท์ วากิว ด่างเขียว หินอ่อน หยาดพิรุณ บางสายพันธุ์เป็นต้นไม้ราคาแพงเหยียบครึ่งล้าน แต่ถ้าจะเอาไปประกอบอาหารก็ต้องใบเขียว ๆ ตามบ้านเรา ปอกเปลือกบริเวณก้านทำเป็นผักสดจิ้มน้ำพริก แกงกะทิ แกงส้ม อร่อยฟินมากแน่นอน
การขยายพันธุ์
จะเห็นว่าหน่อของออดิบที่งอกมาจากต้นแม่นั้นมีจำนวนเยอะมาก เกิดเป็นต้นเล็ก ๆ ที่ด้านข้าง ตรงนี้เราสามารถจับเขาแยกออกมาเพื่อขยายพันธุ์ได้เลย ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถทำตามได้ดังต่อไปนี้
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
1.กระถางมีรูระบายที่ก้น
2.ถาดรองกระถางต้นไม้ (สามารถใส่น้ำได้)
3.ออดิบที่มีหน่อออกมาแล้ว
4.มีด
5.ดินปลูก 1 ส่วน
6.อินทรียวัตถุ 1 ส่วน
7.เปลือกถั่วลิสง หรือใบก้ามปู หรือกาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน
8.ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13
ขั้นตอนวิธีการแยกหน่อ
1.นำดินปลูก อินทรียวัตถุ และเปลือกถั่วลิสงอย่างละ 1 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วใส่ดินรองก้นกระถางเล็กน้อย
2.จากนั้นใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะลงไป
3.ให้เราใช้มีด เสียบลงไปในหน้าดินเพื่อตัดหน่อต้นลูก ออกจากต้นแม่แล้วงัดขึ้น รากของเขาก็จะตามมาอย่างง่ายดาย
4.จากนั้นวางหน่อลงไปในกระถาง แล้วใช้ดินที่เหลือกลบพอประคองต้นเอาไว้แล้วรดน้ำ
5.วางต้นไม้เอาไว้ในพื้นที่ร่มรำไร
6.อย่าลืมใช้จานรองกระถาง โดยใส่น้ำเอาไว้เพื่อหล่อเลี้ยงให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา หมั่นเติมน้ำอย่าให้แห้ง
7.เมื่อเริ่มมั่นใจว่ารากของเขาติดกับดินแล้วให้ค่อย ๆ นำออกมาตากแดดให้จัดขึ้น
การดูแล
เจ้าต้นนี้เรียกได้ว่าเป็นไม้ประดับ ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยาก หากใช้ดินปลูกตามสูตรที่เราแนะนำจะอยู่ได้นานมาก และเป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัดต้องอยู่กลางแจ้ง เว้นระยะการรดน้ำ 2 – 3 วันต่อหนึ่งครั้งก็เพียงพอให้เขาเจริญเติบโตอย่างงดงาม
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับออดิบ ไม้ประดับมากประโยชน์ ที่นอกจากจะนำมาตกแต่งสวนสวย ตามอาคารบ้านเรือนแล้วก็ยังนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย ถ้าบ้านใครมีก็แนะนำให้ลองตัดก้านใบมารังสรรค์เมนูเพื่อชิมรสชาติ แต่อย่าเผลอไปตัดต้นโหรามากินกันนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net