สนน้ำตก คือหนึ่งในไม้พุ่มคลุมดินน่าปลูกที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และสามารถปลุกในบ้านเราได้ รูปร่างหน้าตาน่ารัก น่าสนใจ แต่งสวนสวย แต่เหมือนว่าจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงข้อมูลที่น่าสนใจของเขาสักเท่าไร วันนี้เราจึงอยากจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับเจ้าสนชนิดนี้ให้มากยิ่งขึ้น ถ้าใครอยากปลูก แต่ไม่รู้ว่าจะดูแลอย่างไร ห้ามพลาดเด็ดขาด!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับสนน้ำตก หรือสนออสเตรเลีย ปลูกประดับบ้านได้!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Casuarina glauca
ชื่อวงศ์ : Casuarinaceae (วงศ์สนทะเล)
ชื่อสามัญ : Cousin it, Shagpile, Little River Wattle, Swamp sheoak
ชื่อไทยอื่น : สนออสเตรเลีย
สนน้ำตก จัดอยู่ในประเภทไม้คลุมดินชนิดหนึ่ง เขามีถิ่นกำเนิดมาจากแถบประเทศออสเตรเลีย ชื่อวิทยาศาสตร์ของเขาแสดงให้เห็นถึงรูปร่างโดยคร่าว ซึ่งคำว่า “Casuarina” นั้นมาจากภาษามลายูอันหมายถึงนกคาสซาวารี ขนของเขามีความคล้ายคลึงกับใบสนชนิดนี้เป็นอย่างมาก ส่วนคำว่า “glauca” มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกมีความหมายถึงสีเขียวอมฟ้า ซึ่งเป็นไทป์ของใบไม้นั่นเอง ส่วนชื่อในภาษาไทยของเขาก็มาจากรูปร่างของใบที่ตกหล่นลงมาคล้ายคลึงกับม่านน้ำตกนั่นเอง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะโดยคร่าวของสนน้ำตก เขาก็จะดูเหมือนไม้เลื้อยหรือพืชคลุมดินทั่วไป ซึ่งอาจมีความสูงถึง 40 – 60 เซนติเมตร และขนาดความกว้างของพุ่มอยู่ที่ 0.5 – 1.5 เมตรโดยประมาณ ลำต้นเตี้ยและกิ่งก้านหนาแน่นแผ่ขยายออก เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลอมเทา ผิวมีลักษณะขรุขระคล้ายเกล็ด เป็นพืชใบเดี่ยวที่มีลักษณะใบเป็นแบบเข็มยาวออกจากก้าน เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวอมฟ้าหรือน้ำเงิน จะออกดอกขนาดเล็กบริเวณซอกใบ และติดผลเป็นลูกสนจำนวนมาก ทว่ากลับไม่ค่อยพบเห็นผลมากนักเมื่อปลูกในประเทศไทย
การขยายพันธุ์
ไม้ประดับแต่งสวนสวย ๆ อย่างสนน้ำตก สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธีมาก ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง หรือการชำกิ่ง สามารถเลือกวิธีได้ตามความต้องการ ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถทำตามนี้กันได้เลย
การชำกิ่งสน
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– มีดคม ๆ
– สนน้ำตกต้นแม่
– แก้วน้ำ
– น้ำ
– เครื่องดื่มชูกำลัง
– ขุยมะพร้าว
– กระถาง หรือกล่องขนาดตามสมควร
– ดินสำหรับปลูกทั่วไป
ขั้นตอนวิธีการชำกิ่ง
1.ใช้มือแหวกใบสนออกเพื่อตามหากิ่งที่อยู่ด้านในพุ่ม ให้เลือกใช้กิ่งที่ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไปแล้วตัดมาในความยาวประมาณ 8 – 10 เซนติเมตร
2.จากนั้นให้เราเทน้ำใส่แก้วปริมาณพอแช่กิ่งสนหรือ 2 – 3 เซนติเมตรจากก้นแก้ว
3.จากนั้นใส่เครื่องดื่มชูกำลังลงไป 1/2 ฝาเพื่อเป็นการช่วยเร่งราก ระวังอย่าใส่เยอะจนเกินไปเพราะอาจทำให้รากไม่งอกได้
4.จากนั้นนำกิ่งสนน้ำตกใส่ลงไปเพื่อชำน้ำก่อน รอให้เขางอกรากออกมาจำนวนหนึ่ง
5.เมื่อเห็นว่ารากสนเริ่มงอกออกมาพอประมาณ ให้เรานำขุยมะพร้าวแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืนเพื่อให้เขาอิ่มน้ำ จากนั้นก็จัดใส่ภาชนะอย่างเช่นกระถาง หรือกล่อง
6.ใช้ไม้นำร่องลงไปให้เกิดรูลึก แล้วหย่อนกิ่งสนที่รากงอกแล้วลงไปแล้วกลบ ในขั้นตอนนี้ถ้าใครอยากควบแน่นก็สามารถใช้ถุงพลาสติดมาคลุมหรือปิดฝากล่องได้ ทำให้เราไม่ต้องรดน้ำซ้ำ
7.วางเขาเอาไว้ในพื้นที่ร่มจนกว่าจะติดรากแล้วจึงค่อยแยกไปปลูกในพื้นที่ที่ต้องการ
การเพาะเมล็ดสน
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– เมล็ดสนน้ำตก
– พีทมอส 1 ส่วน
– หินภูเขาไฟ 1 ส่วน (เลือกขนาดเล็กที่สุด)
– เวอร์มิคูไลท์ 1/2 ส่วน (เลือกขนาดเล็กที่สุด)
– เพอร์ไลท์ 1/2 ส่วน (เลือกขนาดเล็กที่สุด)
– กระถาง เลือกขนาดพอเหมาะ
ขั้นตอนวิธีการเพาะเมล็ด
1.นำเมล็ดสนแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
2.จากนั้นให้เราทำการผสมพีทมอส หินภูเขาไฟ เวอร์มิคูไลท์ และเพอร์ไลท์เข้าด้วยกันแล้วใส่กระถาง
3.จากนั้นรดน้ำให้วัสดุปลูกให้ชุ่มชื้น
4.ใช้ไม้นำร่องลงไปในดินให้เกิดหลุมเล็กน้อย
5.หยอดเมล็ดลงไปแล้วใช้ดินกลบบาง ๆ ทิ้งเอาไว้ในร่มจนกว่าต้นกล้าจะงอก แล้วค่อยนำไปปลูกในดินอีกทีหนึ่ง
การปลูก / ดูแล
สนน้ำตก เป็นต้นไม้แต่งสวนที่สามารถเติบโตได้เป็นอย่างดีในดินหลากหลายรูปแบบ แต่ถ้าจะให้ชัวร์แนะนำว่าปลูกกับดินตามบ้านเราอย่างเช่น ดินร่วน เน้นระบายน้ำดีจะดีกว่า แต่สิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษเลยก็คือแสงแดด ต้องให้เจ้าต้นนี้เขารับแดดจัดตลอดทั้งวันหรืออย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง ประกอบกับความชุ่มชื้น ซึ่งสนชนิดนี้ต้องการค่อนข้างมาก ให้รดน้ำ 1 – 2 ครั้งต่อวันและเพิ่มปุ๋ยละลายช้าลงไปด้วย อย่าให้เขาขาดน้ำและแสงแดดเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นแล้วต้นไม้ก็อาจจะตายได้ภายใน 2 – 3 วัน เพิ่มเติมคือหมั่นตัดแต่งกิ่งด้านล่างออก ไม่เช่นนั้นจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้ง่าย ๆ
และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับเจ้า “สนน้ำตก” พืชคลุมดินสวย ๆ ที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองไปทำความรู้จัก หน้าตาเขาค่อนข้างน่ารัก ปลูกง่าย แถมบางคนยังนำไปปลูกลงในกระถางรูปหน้าคนให้ใบย้อยออกมาเหมือนผมเก๋ ๆ แต่ก็จะเป็นพืชที่ดูแลยากหน่อย ต้องการความรัก การเอาใจใส่ สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net