หากกล่าวถึง “ขี้เหล็ก” คนต่างจังหวัดก็น่าจะคุ้นเคยกันดี กับภาพต้นไม้ข้างทางที่มีคนชอบจอดรถลงไปเด็ดยอดเก็บกลับบ้านไปประกอบอาหาร ต้นไม้ที่ไม่ได้รับการดูแลใด ๆ แต่ก็อยู่รอดทุกสถานการณ์แบบนี้เป็นสมุนไพรชั้นดี ถ้าชอบทานก็เพาะพันธุ์เก็บไว้กินเองที่บ้านไปเลยสิ เดี๋ยวแนะนำเอง เก็บขายตลาดก็ดี สร้างรายได้ อาชีพเสริม ใครกำลังสนใจเจ้าต้นนี้อยู่ บอกเลยห้ามพลาด
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จัก “ขี้เหล็ก” พืชสารพัดประโยชน์ สมุนไพร น่าปลูกติดบ้าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby
ชื่อวงศ์ : Fabaceae หรือ Leguminosae (วงศ์ถั่ว)
ชื่อสามัญ : Siamese senna
ชื่ออื่น : ผักจี้ลี้ (แม่ฮ่องสอน), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ)
ขี้เหล็ก เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไปจนถึงปานกลาง ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยเรา คำว่า Siamese จากชื่อสามัญของเขาแท้จริงแล้วก็มาจากคำว่า Siam เป็นการตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติกับประเทศสยามของเรานั่นเอง ทั้งนี้ก็ยังพบในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก็มีการปลูกเอาไว้เป็นไม้ประดับด้วยนะ ไม่คาดคิดมาก่อนเลยใช่ไหมล่ะว่าสมุนไพรพื้นบ้านของเราก็หน้าตาดีกับเขาเหมือนกับ แอบกระซิบว่ามีประโยชน์มากด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ต้นของเขาจะมีความสูงราว ๆ 5-15 เมตร ต้นไม่สมมาตรมากนัก มักบิดงอ คดเคี้ยว เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างสากมือ เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็นร่อง เป็นสะเก็ด แตกกิ่งออกจำนวนมากตามลำต้น
ใบ : เจ้าต้นนี้เป็นพืชใบประกอบขนนกแบบคู่ประมาณ 7-16 คู่ แตกใบออกบริเวณกิ่ง เรียงสลับกัน ลักษณะใบย่อยแตกตรงข้ามกัน รูปร่างรี ปลายและโคนใบมน เว้าตรงกลางเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ใบอ่อนจะมีสีเขียวอมแดงระเรื่อ เป็นส่วนที่มักถูกเด็ดไปประกอบอาหาร ส่วนใบแก่สีเขียวเป็นมัน ไม่นิยมรับประทาน
ดอก : ดอกขี้เหล็กนั้นออกเป็นช่อขนาดใหญ่ แทงจากปลายกิ่ง ในหนึ่งช่อจะประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก บานจากล่างขึ้นบนในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก่อนร่วงโรยราลงและติดฝัก
ฝัก : สำหรับฝักของเจ้าต้นนี้จะติดช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฝักอ่อนสีเขียว ลักษณะฝักแบน ยาว 15-25 เซนติเมตร และกว้าง 1.5 เซนติเมตร ภายในประกอบด้วยเมล็ดจำนวน 20-30 เมล็ด
เมนูพื้นบ้าน กินแล้วหลับสบาย
แกงขี้เหล็ก เป็นหนึ่งในอาหารที่เรารู้จักกันดีตั้งแต่เด็ก เป็นผักกินยอดรสชาติค่อนข้างขม แต่เมื่อรวมเข้ากับเครื่องแกงก็ทำให้ได้รสสัมผัสที่แปลกใหม่ อร่อยไปอีกรูปแบบหนึ่ง เมนูนี้ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ แต่ยังมาพร้อมความเชื่อว่าหากทำแกงนี้ในวันเพ็ญ เดือน 12 จะเป็นยารักษาโรคชั้นดีกว่าวันอื่น
คุณค่าทางโภชนาการ
หลายคนคงทราบแล้วว่า เจ้าต้นนี้เป็นผักใบเขียวที่มีประโยชน์ไม่น้อย อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เส้นใยอาหาร โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินบี1 วิตามินซี และวิตามินเอ เป็นพืชผักที่ช่วยในเรื่องของการนอนหลับได้เป็นอย่างดี ยิ่งได้กินแกงร้อน ๆ ในช่วงหน้าหนาวบอกเลยดีงามมาก ระบบขับถ่ายคล่องแคล่ว ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค บำรุงสายตา ประโยชน์เยอะเกินความคาดหมาย
การขยายพันธุ์
ส่วนใหญ่แล้ว การขยายพันธุ์ขี้เหล็กนั้นมักทำกันโดยวิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก โดยเราจะเก็บเอาเมล็ดจากต้นเดิมของเขาตามข้างทางมาเพาะได้เลย เป็นพืชที่เกิดง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากนัก ถ้าพร้อมแล้วเราไปดูการเพาะเมล็ดกันเลยดีกว่า
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– ดินร่วนธรรมดาปนแกลบ
– แก้ว
– น้ำอุ่น
– เมล็ดขี้เหล็ก
– ถุงเพาะชำ
วิธีการเพาะเมล็ด
1.เริ่มจากการนำเมล็ดของเขาไปแช่น้ำอุ่นทิ้งไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะช่วยให้เมล็ดงอกง่ายและเร็วกว่าปกติ
2.จากนั้นก็ให้เราผสมดินกับแกลบเข้าด้วยกันจะใช้สัดส่วน 1:1 ก็ได้ แล้วนำไปใส่ลงในถุงเพาะชำไม่ต้องเต็ม เว้นปากถุงไว้ประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร
3.จากนั้นรดน้ำดินของเราใช้ชุ่มชื้นแล้วนำเมล็ดดังกล่าวฝังลงไปเล็กน้อย วางถุงเพาะเอาไว้ในพื้นที่ร่มมีแดดรำไร สักประมาณ 1 – 2 เดือนต้นกล้าก็จะงอกออกมาให้เห็นมากยิ่งขึ้น ต้องรอให้ต้นแข็งแรงเต็มที่แล้วจึงค่อยนำไปปลูกยังพื้นที่ที่เราต้องการ
การปลูก / ดูแล
ขี้เหล็กเป็นต้นไม้ทนแล้งได้ดี แถมยังปลูกง่ายอย่างที่เราได้บอกไปแล้วข้างต้น ดังนั้นเพื่อน ๆ จะฝังเขาลงในดินรูปแบบใดก็ย่อมได้ ทั้งดินร่วน ดินเหนียว ส่วนการรดน้ำปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติได้เลย แต่ถ้าจะให้ดีก็รดน้ำบ้าง สัปดาห์ละครั้งก็ยังดี ทั้งนี้เน้นปลูกกลางแจ้ง พื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง จะช่วยให้ใบของเขาเขียวสวย กินอร่อย ถ้าอยากให้เขาบ้าใบสักหน่อยก็ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เข้าไปบ้าง รับรองว่าเลิศ
และทั้งหมดนี้ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “ต้นขี้เหล็ก” พืชสามัญประจำบ้านชาวบ้านเขารู้ดีว่าอร่อยแค่ไหน แถมยังมีประโยชน์เกินคาด อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแล ทิ้งไว้เป็นต้นไม้ริมรั้ว ตัดกิ่งบ่อย ๆ ไม่ให้เขาสูงเกินไปเพราะจะเก็บกินยาก แอบกระซิบว่าทำได้หลายเมนูด้วย ไม่ใช่แค่แกงอย่างเดียว หวังว่าสิ่งที่เรานำมาฝากในวันนี้จะตอบโจทย์เพื่อน ๆ ที่กำลังสนใจอยากปลูกกันนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net