ถ้าตัวตึงผักแกล้มจากฝั่งญี่ปุ่นคือ ผักสลัดมิซูน่า บ้านเราก็ต้องนึกถึง ผักไผ่ หรือ ผักแพว อันมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นฉุน ทานแกล้มกับลาบก้อยอร่อย เพียงแต่ว่าคนไทยภาคกลางส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก เนื่องจากเขาฮอตฮิตในฝั่งภาคอีสานเสียมากกว่า ใครบ้านอยู่แถวตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคเหนือ บอกเลยว่าปลูกขายกำไรงาม มีตลาดรองรับ หรือปลูกติดกระถางเอาไว้กินเองก็ง่ายมาก
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับผักไผ่ หรือผักแพว ผักสวนครัวพื้นบ้าน พร้อมวิธีปลูกให้ใบงาม!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polygonum odoratum Lour.
ชื่อวงศ์ : Polygonaceae (วงศ์ผักไผ่)
ชื่อสามัญ : Vietnamese coriander
ชื่อภาษาไทย : พริกม่า, ผักแพ้ว (ภาคอีสาน) ผักไผ่น้ำ , ผักขาว, ผักแพวแดง (ภาคกลาง), จันทร์แดง (ภาคใต้), ผักแพรว, ผักแจว, พริกบ้า, หอมจันทร์ เป็นต้น
ผักไผ่ เป็นพืชล้มลุกแบบเลื้อยที่ขนาดความยาวต้นประมาณ 30-35 เซนติเมตร เขามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลากหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา พบขึ้นอยู่ได้ทั่วทุกภูมิภาค ขึ้นเองได้ตามธรรมชาติบริเวณแหล่งน้ำในป่า นาข้าว ห้วย หนอง คลอง บึง รสชาติของผักแพวค่อนข้างเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุน จึงอาจทำให้หลายคนไม่ชอบนำมารับประทานสดเท่าไร ใช้แกล้มกับบรรดาลาบ ก้อย หรือกินกับแหนมเนือง ซึ่งความเผ็ดร้อนของเขาให้สรรพคุณเป็นยาแก้ท้องอืดชั้นดี บ้านไหนชื่นชอบอาหารแนวนี้ควรปลูกเป็นผักสวนครัวในกระถางติดเอาไว้เลย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักแพว
ลำต้น : ลำต้นของผักแพวจะทอดเลื้อยไปตามดิน มีข้อเป็นระยะ และมีรากงอกออกมาตามข้อเมื่อสัมผัสกับดิน ขนาดของลำต้นเท่า ๆ กับไม้เสียบลูกชิ้น ส่วนยอดจะชูช่อขึ้นเหนือพื้นเล็กน้อย
ใบ : ใบผักไผ่หรือผักแพว ถือเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการประกอบอาหาร ลักษณะจะเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวออกสลับกันตามลำต้น มีใบเป็นรูปหอกความยาว 5.5 – 8 เซนติเมตร ปลายใบของเขาเรียวคล้ายใบไผ่ โคนใบแคบ กลางใบกว้าง ปลายเรียวแหลม ขอบใบเรียบ มีสีเขียวเข้ม ผิวใบมันเล็กน้อย ส่งกลิ่นฉุนแม้ไม่ได้ขยี้
ดอก : เห็นต้นเล็ก ๆ แบบนี้เขาก็มีดอกเหมือนกันนะ แต่จะออกเป็นช่อ มีดอกย่อยขนาดเล็กมาก สีขาวอมม่วงสวยงาม แปรเปลี่ยนไปเป็นผลซึ่งมีขนาดเล็กเช่นกัน
การศึกษาเกี่ยวกับผักไผ่
ผักชนิดนี้มีความเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน ให้คุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย ซึ่งในต่างประเทศได้ทำการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างเช่น Kaempferol, Rutin, Quercetin, Isorhamnetin และ Catechin รักษาระดับของกลูตาไธโอนในร่างกายของสัตว์ทดลองได้เป็นอย่างดี
แต่ทั้งนี้การรับประทานผักชนิดนี้ก็ยังมีข้อควรระวังอยู่บ้าง เพราะหากกินเยอะจนเกินไปจะเกิดอาการแสบร้อนบริเวณริมฝีปาก ในลำคอ จนถึงขั้นเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้เลย แนะนำให้กินแต่พอดีเพื่อสุขภาพมากกว่าใช้เป็นสมุนไพรโดยตรง
การขยายพันธุ์
ผักไผ่เรียกได้ว่าเป็นผักสวนครัว ปลูกง่าย โตเร็ว สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การเพาะเมล็ดไปจนถึงการปักชำ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้วิธีการปักชำเป็นหลัก เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และได้ผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ และสำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากลองปักชำเอาไว้กินเอง เรามีเทคนิคดี ๆ มาฝาก
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– กิ่งผักแพรว
– แก้วน้ำสำหรับเลี้ยงราก
– เครื่องดื่มชูกำลัง
– กระถางมีรูระบายที่ก้น
– ดินปลูก ดินร่วน หรือดินเหนียว ตามความสะดวก
ขั้นตอนการปักชำ
1.เลือกตัดลำต้นหรือกิ่งผักแพรวที่สมบูรณ์ ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป ในความยาว 8 – 10 เซนติเมตร
2.จากนั้นตัดใบออกให้หมด
3.นำกิ่งไปแช่ลงในแก้วน้ำ ที่มีน้ำอยู่ครึ่งแก้ว ผสมเครื่องดื่มชูกำลังเข้าไปประมาณ 1 ฝา บรรดาวิตามินจะช่วยให้รากของเขาออกมาเร็วมากยิ่งขึ้น
4. นำแก้วน้ำไปวางไว้ในพื้นที่ร่มประมาณ 7 วัน รากสีขาวก็จะงอกออกมาเต็มไปหมด
5. จากนั้นให้เราเตรียมดินสำหรับเพาะปลูก แนะนำว่าหากไม่มีพื้นที่ให้ปลูกลงในกระถาง ใช้ดินร่วนหรือดินปลูกก็ได้เช่นกัน
6. จากนั้นก็ให้เราทำการนำต้นผัก ลงไปปลูกในดินทั้งกอ เขาจะแตกพุ่มออกสวยงามกว่าการปลูกเป็นต้น ไม่กี่วันรากก็ติดดินดี ออกใบแผ่ขยาย
การดูแลผักแพว
สำหรับการดูแลผักแพวไม่ยากอย่างที่คิด และการปลูกในกระถางจะทำให้เราควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะทางด้านความชื้น เกษตรกรที่เขาปลูกขายถึงกับใช้พื้นที่แปลงนาเพื่อเพิ่มความชื้นแฉะอย่างที่ผักไผ่ชอบ เพื่อให้ได้ผลผลิตดี ต้นใหญ่ ใบสวย แต่หากเราปลูกเอาไว้กินเองในบ้านก็เพียงแค่รดน้ำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ตั้งกระถางเอาไว้ให้เขาโดนแสงแดดอย่างน้อย 60% ในหนึ่งวันก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงได้มากยิ่งขึ้น ใครกำลังตามหาผักแกล้มลาบ ต้องลองปลูกเองแล้วนะ
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับผักไผ่หรือที่รู้จักกันในชื่อผักแพว สุดยอดผักสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับสายแกล้มที่คุณไม่ควรพลาด ถ้าใครนึกอยากลองเมนูแปลกก็จับไปกินกับสลัด อารมณ์ใกล้เคียงกับพวกผักสลัดมิซูน่า ผักร็อคเก็ต แต่จี๊ดจ๊าดแบบไทย บ้านไหนชอบอาหารอีสานบอกเลยต้องมี ปลูกเอาไว้กินเองคือดีที่สุด ปลอดภัย ไร้สารพิษ แถมยังประหยัดและได้ความภาคภูมิใจอีกต่างหาก มีคนปลูกน้องเอาไว้เป็นไม้ประดับด้วยนะ ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมล่ะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net