ผงชูรสที่เราใส่เข้าไปในอาหาร หากได้รับในปริมาณมากก็ค่อนข้างน่ากังวลเรื่องโซเดียม ถ้าอยากให้อาหารแซ่บนัว ชูรสแบบจัดเต็มไม่กลัวไต “ผักไชยา” ช่วยคุณได้อย่างแน่นอน ใบของเขามีประโยชน์ ทั้งในเรื่องการทำอาหารและแปรรูป เรียกได้ว่าน่าสนใจแบบขั้นสุด ใครกำลังอยากทำความรู้จักก็อย่าได้พลาดเรื่องราวที่เรานำมาฝากในวันนี้เด็ดขาด
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ผักไชยา” หรือผักผงชูรสของคนไทย ปลูกง่าย กินยังไงมาดู!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cnidoscolus aconitifolius (Mill.) I.M.Johnst.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae (วงศ์ยางพารา)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Tree spinach
ชื่ออื่น ๆ : คะน้าเม็กซิโก, มะละกอกินใบ
ผักไชยา ได้ชื่อว่าเป็นพืชมหัศจรรย์อายุหลายปี ที่สามารถนำมารังสรรค์เมนูได้หลากหลายชนิด รวมไปถึงนำมาแปรรูปใช้แทนผงชูรส เพื่อลดโซเดียม มีประโยชน์มากกว่าผักโขมถึง 2 เท่า เล่าลือกันว่าผักใบเขียวชนิดนี้เขามีถิ่นกำเนิดมาจากคาบสมุทรยูกาตัน ประเทศเม็กซิโก ซึ่งอากาศค่อนข้างร้อน ก่อนกระจายตัวไปยังกัวเตมาลา และอเมริกากลาง
รูปร่างหน้าตาของผักไชยาเมื่อมองผิวเผินก็มีความคล้ายคลึงกับมันสำปะหลังและเป็นพืชในตระกูลที่ใกล้เคียงกัน เรื่องการบริโภคจะต้องกินแบบสุกเท่านั้น ห้ามนำมาทานสดเนื่องจากมีสารกลูโคไซด์ที่เป็นพิษ อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เช่น ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ แสบท้อง และไปกระตุ้นอาการหืด ดังนั้นควรนำผักมาปรุงสุกก่อนทุกอย่าง ส่วนเมนูที่นิยมก็อย่างเช่นเมนูผัดน้ำมันหอย รสชาติต้นผงชูรสนั้นเหมือนคะน้าทั่วไป แต่สัมผัสแข็งกว่าเล็กน้อย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ไชยาเป็นไม้ทรงพุ่ม ความสูงตั้งแต่ 2-6 เมตรโดยประมาณ ก้านอวบน้ำ ในส่วนของลำต้นเปลือกสีน้ำตาล หากตัดกิ่งจะเห็นว่ามีน้ำยางสีขาว
ใบ : เขาเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่มีลักษณะใบคล้ายกับมะละกอ แต่ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือ หรือมองอีกนัยหนึ่งก็คล้ายกับใบมันสำปะหลัง แตกออกเป็น 3-4 แฉก
ดอก : ผักไชยาจะออกดอกแบบเป็นช่อที่บริเวณปลายกิ่ง ซึ่งหาดูได้ค่อนข้างยาก
คุณค่าทางโภชนาการ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าเขาเป็นสุดยอดผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าผักใบเขียวชนิดอื่น ๆ มากมาย ประกอบด้วยน้ำกว่า 85.3% อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต, โปรตีน, ไขมัน, เส้นใยอาหาร, แคลเซียม, โพแทสเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, วิตามินซี, วิตามินเอ ซึ่งค่อนข้างโดดเด่นเรื่องการต้านอนุมูลอิสระ การย่อยอาหาร บำรุงสายตา ช่วยให้ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดคอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด รักษาเบาหวาน บำรุงสมอง ช่วยให้หลับง่ายมากยิ่งขึ้น
How to ทำผงชูรส ใบไชยา
สำหรับการนำผักไชยามาทำเป็นผงปรุงรส สามารถทำได้โดยการเด็ดเอาแต่ใบแก่ของเขามาหั่นฝอยแล้วตากแดดจนแห้ง จากนั้นให้นำมาคั่วจนเกิดกลิ่นหอม ใบกรอบ แล้วนำไปปั่นละเอียด ใครชอบความเนียนแบบผงมัทฉะก็ให้ใช้กระชอนกรองผงผักอีกหนึ่งชั้น เนื้อจะเนียนมาก นำไปโรยกับข้าว หรือใส่ผัดผัก ส้มตำได้เลย รสชาติเหมือนผงชูรสแน่นอน
การขยายพันธุ์
ผักไชยา ขยายพันธุ์ง่าย ไม่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่มักนิยมทำโดยวิธีการปักชำกิ่ง ซึ่งสามารถทำตามได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้
1.ตัดกิ่งอ่อนของไชยาประมาณ 30 เซนติเมตร
2.ใช้มีดคมตัดก้านใบออกจากกิ่งให้หมด
3.นำต้นไปปักลงบนดิน ซึ่งจะเลือกเป็นดินปลูกตามร้านขายต้นไม้มาใส่ถุงดำเพาะชำเลยก็ทำได้
4.วางกิ่งที่ชำเอาไว้ในพื้นที่ที่แดดส่องถึงรำไร หรือถ้าจะให้ดีวางเอาไว้ในที่โล่ง แดดแรงแล้วขึงซาแรนเพื่อให้แสงลอดผ่านแต่ไม่ร้อนจนเกินไป
5.รดน้ำเช้า – เย็นให้ดินชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ใบใหม่ก็จะเริ่มแตกออกมาดูโลก
6.รอให้ต้นของเขาแข็งแรงสักหน่อยแล้วจึงค่อยนำไปปลูกยังพื้นที่ที่เราต้องการ
การปลูก / ดูแล
สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังจะปลูกผักไชยา ไม่ต้องมีตรรกะหรือวิธีคิดมากมาย เนื่องจากเขาเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่าย เติบโตได้ดีกับดินทุกประเภทแต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเลี้ยงเขาไว้ในดินร่วน และให้แสงแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน แถมยังไม่ต้องรดน้ำมากมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นไม้อวบน้ำก็ตาม ช่วงไหนแล้งหากมีความเกียจคร้านก็ลองให้น้ำสักสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็อยู่ได้แล้วล่ะ แนะนำให้ปลูกเอาไว้เป็นผักริมรั้วบ้าน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยนะ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับผักไชยา
หากต้องการเก็บผักเพื่อไปประกอบอาหาร จะต้องระวังเรื่องน้ำยางสีขาวของเขาซึ่งเมื่อโดนแล้วจะรู้สึกคันคะเยอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใส่ถุงมือเพื่อป้องกันน้ำยางสัมผัสผิว และใช้มีดคม ๆ ตัดจะดีที่สุด
และนี่ก็คือข้อมูลและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ “ผักไชยา” ที่เราตั้งใจรวบรวมมาฝากเพื่อน ๆ เป็นอย่างไรบ้าง เห็นกันแล้วใช่ไหมว่าเจ้าต้นนี้มีประโยชน์ไม่ธรรมดา น่ามีติดบ้าน แถมยังปลูกง่าย ไม่เสียเวลาดูแล ทำได้หลากหลายเมนูกว่าที่คิด หากคุณกำลังตามหาผักดี ๆ มากสรรพคุณมาปลูกเอาไว้ใกล้ตัว บอกเลยว่าไชยาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ และสุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมอบความรู้ให้แก่ทุกคนได้นะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net