หากกล่าวถึงต้นพุด เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักกับเขาดี เจ้าดอกไม้สีขาว กลิ่นแอบแรง ตามสไตล์ White floral แต่ถ้าชอบฟอร์มสวย กลิ่นฉุนน้อยก็ต้องมามุงกันที่ “พุดกุหลาบ” ดอกไม้ประดับที่แอดวานซ์กว่าพุดไหน ๆ สวยงาม น่าปลูก ต้นใหญ่ และหากคุณกำลังสนใจ นี่คือสิ่งที่ควรต้องรู้เอาไว้ เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับพุดกุหลาบ ไม้ประดับ แต่งสวนแบบไทยไม่แท้ กับสิ่งที่คุณต้องรู้!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. & Schult
ชื่อวงศ์ : Apocynoideae (วงศ์ตีนเป็ด)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Crepe jasmine
ชื่ออื่น ๆ ในภาษาไทย : พุดจีบ
พุดกุหลาบ คือหนึ่งในพันธุ์ไม้พุ่ม ดอกสีขาวสวย รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกับกุหลาบ ส่งกลิ่นหอม ประโยชน์มากมาย เขามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียเช่นเดียวกับพุดอื่น ๆ แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีพุดที่มาจากเนเธอแลนด์เช่นเดียวกัน ในประเทศไทยเราสามารถปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่ เราจึงพบเห็นเจ้าต้นนี้กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะตามบ้านเรือนไทย บ้านสวนและสถานที่ราชการ
ความเชื่อ
คนไทยเชื่อว่า ดอกพุด (ครอบคลุมถึงพุดทุกชนิด) เป็นดอกไม้มงคล อันสื่อถึงความบริสุทธิ์ ดุจดั่งสีขาว หากปลูกเอาไว้ภายในอาณาบริเวณบ้าน จะทำให้เจอแต่เรื่องราวดี ๆ เป็นสิริมงคล เสริมบารมี เรื่องโชคลาภ เงินทอง ความสำเร็จ ความมั่นคง มั่งคั่ง แก่ผู้อยู่อาศัย ให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข นอกจากนี้ก็ยังนิยมนำดอกไม้ไปทำบุญ ถวายพระอีกด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : พุดกุหลาบเป็นไม้พุ่ม ลำต้นทรงกรวยที่มีความสูงราว ๆ 1.5-3 เมตร ต่างจากพุดซ้อนธรรมดาที่มีความสูงราว ๆ 1-2 เมตร พุ่มหนา ทึบ เปลือกไม้สีน้ำตาล ฟอร์มต้นสวย กิ่งก้านเป็นทรงชัดเจน
ใบ : พุดต้นนี้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ออกใบเรียงสลับตรงข้ามกันเป็นช่อหนา ลักษณะใบเป็นรูปหอก โคนและปลายใบแหลม เขียวเข้มหม่น ๆ เส้นใบชัดเจนกว่าพุดซ้อน ขอบใบเป็นลอน ไม่เรียบ ผิวใบมัน สวย
ดอก : ดอกสีขาวเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์เด็ดของพุดกุหลาบเลยก็ว่าได้ รูปร่างของเขาโดดเด่น สะดุดตา มักออกดอกที่บริเวณซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกซ้อนกันคล้ายดอกกุหลาบ เพียงแต่ว่าไม่ได้ซ้อนจนหนามาก
ผล : พุดกุหลาบก็มีผลกับเขาเช่นกัน โดยลักษณะผลของเขาจะเป็นทรงไข่ หากแก่แล้วมีสีเหลืองหรือส้ม ด้านในเต็มไปด้วยเมล็ดจำนวนมาก
ประโยชน์
– ใช้เป็นไม้ประดับ จัดสวนสวยงาม ปลูกบริเวณริมรั้วให้เป็นร่มเงาสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียวพร้อมกลิ่นหอม ที่ไม่ฉุนรุนแรงเหมือนพุดชนิดอื่น
– ปลูกเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ เสริมมงคล
– นำไปลอยน้ำเพื่อดื่มหอมสดชื่น
– ปลุกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ พุดตูม สามารถนำไปร้อยพวงมาลัยได้
– นำดอกพุดกุหลาบมาวางใส่แจกัน ก็เพิ่มความสวยงาม เป็นดอกไม้สไตล์มินิมอล ตกแต่งบ้านสวยงาม ส่งกลิ่นหอม
สรรพคุณทางยา
– ราก เป็นสมุนไพรรสขมออกฤทธิ์เย็น ช่วยแก้ร้อนใน แก้ไข้สูง แก้ท้องอืด หากนำมาตำพอกแผลสดก็ช่วยห้ามเลือด สมานบาดแผล แก้ปวดบวม แก้ผื่นคันตามผิวหนัง
– ใบ ตำแล้วพอกแก้ปวดศีรษะ
– ผล แก้ไข้สูง กระจายเลือดที่อุดตัน ลดอาการนอนไม่หลับ แก้ปวดฟัน อาเจียนเป็นเลือด
การขยายพันธุ์
พุดกุหลาบ ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่นิยมการปักชำกันมากที่สุด เป็นกระบวนการที่ทำง่าย ไม่ยุ่งยาก มือใหม่ก็สามารถเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ได้ และต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรทราบเอาไว้เกี่ยวกับการปักชำต้นพุด
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
1.กรรไกรตัดกิ่ง
2.ขวดทึบ
3.กระถางต้นไม้ มีรูระบายน้ำที่ก้น
4.ดินปลูก
ขั้นตอนวิธีการปักชำกิ่ง
1.ตัดกิ่งยอดของพุดกุหลาบ โดยเริ่มตัดจากกิ่งที่มีสีน้ำตาล ความยาวประมาณ 10 เซนติเมตรออกมาจากต้น โดยใช้กรรไกรตัดได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเฉียงแต่อย่างใด เน้นตัดที่ใต้ข้อ
2.ตัดใบที่อยู่ส่วนล่างออก
3.นำกิ่งนั้นไปแช่น้ำในขวดทึบแสงที่เตรียมไว้ก่อนหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ก็จะเริ่มเห็นรากงอกออกมาบ้างแล้ว
4.หลังจากนั้นให้นำดินปลูกที่เตรียมไว้ใส่กระถาง และปักชำยอดพุดลงไป จากนั้นใช้ดินกลบและกดให้กิ่งแนบกับดินมากยิ่งขึ้น
5.รดน้ำทุกวัน และตั้งกระถางเอาไว้ในที่ร่ม สักประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มแตกใบอ่อน แปลว่ารากเริ่มเดินแล้ว เมื่อต้นแข็งแรงดี จึงนำไปปลูกต่อ
การปลูก / ดูแล
การปลูกต้นพุดกุหลาบ ต้องให้แสงแดดส่องถึงอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน จะทำให้พุดออกดอกได้ดีมากยิ่งขึ้น หากปลูกในกระถาง จำเป็นจะต้องใช้กระถางขนาดใหญ่หน่อย ไม่จำกัดว่าจะเป็นดินอะไร เพราะเขาเติบโตได้ดี ในดินทุกรูปแบบ เพียงแค่รดน้ำให้ชุ่ม ไม่แฉะ สักวันละ 1 ครั้ง และหมั่นเติมปุ๋ยคอกบ้างเดือนละ 1 ครั้ง เขาก็จะออกดอกสวยงาม เบ่งบานให้เราได้ชื่นใจแล้วล่ะ แต่อย่าลืมเด็ดดอกที่เหี่ยวออกจากต้นด้วยล่ะ จะช่วยกระตุ้นให้เขาแตกกิ่ง และเกิดดอกใหม่ ลดโรคภัยด้วยนะ
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ “พุดกุหลาบ” ต้นไม้สวยงามตามแบบฉบับไทย ๆ ที่แม้จะไม่ใช่ไทยแต่ก็แต่งสวนสวย นำมาปรับใช้ได้หลากหลาย ประโยชน์มากมาย ใครอยากปลูกก็อย่าลืมนำสิ่งที่เราแนะนำไปปรับใช้กันนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net