“ต้นประดู่” เรียกได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน หลายคนเคยเห็นผ่านตา คุ้นหน้าเขาดี เพราะเจ้าต้นไม้ต้นนี้มักกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ เพื่อน ๆ ทราบไหมว่าทำไมเขาจึงได้รับความนิยมมากมายถึงเพียงนี้ มันมีเหตุผลหลากหลายประการ และวันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับประดู่ให้มากยิ่งขึ้น
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ต้นไม้ราคาแพง
รู้จักกับ “ต้นประดู่” ต้นไม้ใหญ่ น่าปลูก มีอะไรน่าสนใจ?
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus Willd.
วงศ์ : Leguminosae (วงศ์ถั่ว)
ชื่อสามัญ : Burma Padauk
ชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ : Angsana Norra, Malay Padauk, Andaman Redwood, Burmese Rosewood, Indian rosewood
ชื่อไทยและท้องถิ่น : ประดู่, สะโน (มาเลย์-นราธิวาส), ประดู่บ้าน ประดู่ลาย ประดู่กิ่งอ่อน อังสนา (ภาคกลาง), ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) เป็นต้น
ทราบหรือไม่? ต้นประดู่นั้นมีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบอันดามัน เบงกอล ทว่าก็ยังมีข้อมูลอีกจำนวนหนึ่งระบุว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียเช่นกัน ส่วนในประเทศไทยพบได้มากที่สุดตามป่าเบญจพรรณทางตอนใต้ หากคุณกำลังตามหาต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงาขอบอกว่ามาถูกทางแล้วล่ะ เพราะต้นประดู่เขามีความสำคัญด้านนี้และในอีกหลายเรื่อง ปลูกง่าย ดูแลง่าย แถมยังมีคุณสมบัติเกี่ยวกับความเชื่อทางจิตใจอีกด้วย
ความเชื่อ
ความจริงแล้วประดู่ ไม่ได้มีความเชื่อลึกลับเลยเสียทีเดียว แต่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ถึงความสามัคคีของคนในหมู่คณะ ให้สอดคล้องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนอกจากนี้เขายังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรืออีกด้วย ว่ากันว่าหากปลูกไม้มงคลชนิดนี้เอาไว้ในเคหสถานจะเสริมสร้างบารมีอย่างมากโดยเฉพาะบ้านที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ สมาชิกทุกคนจะสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน และนอกจากนี้ประดู่ยังเป็นไม้มงคลทางพุทธศาสนาอีกด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ประดู่เป็นไม้ยืนต้นสูงตั้งแต่ 10 – 25 เมตรโดยประมาณ เขาจะแตกกิ่งก้านสาขาออกเป็นทรงพุ่มค่อนข้างกว้าง ปลายกิ่งห้อยลง เปลือกต้นหนาและหยาบ แตกออกเป็นร่อง มีสีน้ำตาลอมเทา
ใบ : ต้นประดู่เป็นไม้ผลัดใบ หากใครอยากนำไปปลูกก็ต้องเตรียมใจเก็บกวาดใต้ต้นก่อนเลยเป็นอันดับแรก ใบของเขาจะเป็นแบบใบประกอบขนนก ออกใบเป็นช่อ และในแต่ละช่อจะมีทั้งสิ้น 7 – 13 ใบ ลักษณะใบรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา มีสีเขียว
ดอก : ดอกประดู่มีสีเหลือง ส่งกลิ่นหอม และผลิบานในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม มักออกเป็นช่อบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับดอกถั่ว ลักษณะโคนกลีบเลี้ยงเป็นกรวยโค้ง มี 5 กลีบดอก ในหนึ่งช่อไม่บานพร้อมกัน ดอกที่ใกล้โรยราจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล
ผล : ลูกประดู่จะกลม มีปีกออกรอบข้างแบน ๆ เป็นคลื่นเล็กน้อย ให้อารมณ์ใกล้เคียงกับจานบิน ภายในมี 1 เมล็ดลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดง ผิวสัมผัสขรุขระ
ประโยชน์
ต้นประดู่มีประโยชน์อย่างมากทางด้านเศรษฐกิจ มักนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง เนื่องจากประดู่เป็นไม้เนื้อแข็ง มีกลิ่นหอม ละเอียดปานกลาง แต่แข็งแรง ทนทานพอ ๆ กับไม้แดง อัตราการหดตัวน้อยมาก ที่สำคัญคือเนื้อไม้นั้นมีสีสันสวยงาม และที่ยิ่งไปกว่านี้เขาเป็นต้นไม้สมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาอีกด้วยนะ ทั้งเปลือกและใบ ทุกส่วนมีรสฝาด แต่ไม่ขอแนะนำประโยชน์ทางด้านนี้สักเท่าไหร่ แนะนำให้ใช้การแพทย์แผนปัจจุบันมากกว่า
การขยายพันธุ์ / ปลูก
ต้นประดู่ขยายพันธุ์ง่าย ไม่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก เนื่องจากทำง่าย ไม่ยุ่งยาก และประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถไปเก็บเมล็ดใต้ต้นแม่ที่เติบโตอย่างแข็งแรงมาเพาะได้เลย แต่ข้อควรระวังในการเก็บเมล็ดใต้ต้นก็คือ ต้องเก็บจากต้นที่ออกผลอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และเลือกต้นพันธุ์ที่ไร้โรค ต้นตรงสวย ทรงพุ่มสวย หลังจากนั้นก็นำมาเพาะเสมือนไม้ยืนต้นอื่น ๆ ได้เลย
การปลูกประดู่เมื่อต้นกล้าเขาแข็งแรงแล้ว แนะนำให้ปลูกเขาไว้บนดินที่ร่วนซุย หรือจะเป็นดินทรายผสมดินร่วนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ดินเหนียว ทั้งนี้ต้องให้ต้นเขาได้รับแสงแดดจัดตลอดทั้งวันอย่างเพียงพอและทั่วถึงทั้งต้น ดังนั้นจึงควรปลูกต้นประดู่เอาไว้กลางแจ้ง
ส่วนการดูแลต้นไม้ด้านอื่น ๆ อย่างเช่น การรดน้ำก็แทบไม่ต้องกังวล เนื่องจากเขาเป็นต้นไม้ที่ชื่นชอบน้ำปานกลาง ทนแล้งดี จึงไม่ต้องพะว้าพะวังกับการรดน้ำ ทำเพียงสัปดาห์ละ 2 ครั้งก็เพียงพอ ส่วนเรื่องปุ๋ยเน้นปุ๋ยคอกปีละ 2 – 3 หน ก็จะได้เห็นต้นประดู่ที่เจริญเติบโตอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วล่ะ
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับต้นประดู่ที่เราได้ทำการรวบรวมมาฝากเพื่อน ๆ โดยสังเขป หรือจะเรียกว่าเกร็ดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประดู่ก็ได้ ทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอ ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่สนใจต้นไม้ใหญ่ดังกล่าว เห็นกันแล้วใช่ไหมว่าเขาคือต้นไม้ที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ใคร ๆ ก็สามารถปลูกได้อย่างแน่นอน ไปเรียนและทำงานได้โดยไม่ต้องห่วงว่าต้นไม้จะตาย หากปลูกเอาไว้เป็นพืชเศรษฐกิจขายเนื้อไม้ก็ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำดีเช่นกัน เราหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net