“ต้นหูกวาง” กับเรื่องที่ต้องรู้!! ปลูกไว้เสริมฮวงจุ้ย มากประโยชน์ 

by plantlover
ต้นหูกวาง

หากกล่าวถึง “ต้นหูกวาง” หลายคนน่าจะรู้จักกับเจ้าต้นไม้รูปร่างหน้าตาสวยงามชนิดนี้กันมาบ้าง รู้หรือไม่ว่านอกจากเสน่ห์อันชวนหลงใหลแล้วเขายังมีประโยชน์มากมาย ทั้งด้านการใช้สอยและความเชื่อ บ้านใครมีเจ้าหูกวาง หรือกำลังอยากรับน้องมาดูแลใกล้ชายคา นี่คือสิ่งที่คุณควรต้องรู้!! 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับ “ต้นหูกวาง” ไม้มงคล เสริมฮวงจุ้ย พร้อมการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia catappa L. 

ชื่อภาษาอังกฤษ : Bengal almond  

วงศ์ : Combretaceae 

สปีชีส์ : T. catappa 

หมวด : Magnoliophyta 

ชื่อภาษาไทย / ท้องถิ่น : หูกวาง, ตาปัง, โคน, หลุมปัง, ตาแปห์, ตัดมือ, คัดมือ, 

อย่างที่เราทราบกันดีว่าหูกวางนั้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง – ใหญ่ เขาจึงให้ร่มเงามากเป็นพิเศษ เขามีถิ่นกำเนิดอยู่แถบพื้นที่เขตร้อนตั้งแต่อินเดีย, เอเชียอาคเนย์, โอเชียเนีย ตลอดจนหมู่เกาะฮาวาย มักพบเจอต้นไม้ชนิดนี้ที่บริเวณชายหาด เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่ชอบดินร่วนปนทราย 

ความสำคัญของต้นไม้ชนิดนี้ในประเทศไทยคือ เขาเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตราด และยังเป็นต้นไม่ที่พบได้มากที่สุดในจังหวัดตราด ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี นราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดมีพื้นที่ติดทะเล 

ความเชื่อเกี่ยวกับหูกวาง 

ตามหลักฮวงจุ้ยของจีน ต้นหูกวางถือเป็นต้นไม้ธาตุเย็น มักถูกใช้เป็นไม้ประดับสำหรับปรับหรือเสริมฮวงจุ้ยให้แก่บ้านเพื่อความร่มเย็น เป็นสุข ลดพลังร้อน เนื่องจากลักษณะพุ่มใบของเขาหนาแน่น ทึบ ให้ร่มเงาดี เชื่อกันว่าหากปลูกเอาไว้บริเวณบ้าน จะทำให้คนในครอบครัวที่อารมณ์ร้อนใจเย็นลงได้ มีสติมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใครที่กำลัง Work from home ใช้ความคิดในการทำงาน แนะนำให้จัดโต๊ะทำงานให้อยู่ภายใต้ร่มเงาของหูกวาง จะช่วยทำให้มีสมาธิ ผุดความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับคนเกิดธาตุไฟโดยเฉพาะ 

ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์ของหูกวาง 

ต้นหูกวาง

ลำต้น : มีสีน้ำตาลอ่อนปนเทา มีรอยแตกเป็นร่องตื้นทั้งแนวตั้งและแนวนอน ลอกออกเป็นสะเก็ดบ้างเล็กน้อย บริเวณกิ่งมีขนบาง ๆ ด้านในเนื้อไม้มีสีแดง เสี้ยนละเอียด หากนำไปขัดจะขึ้นเงาสวยงาม 

ต้นหูกวาง

ใบ : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจุดเด่นของต้นไม้ต้นนี้ก็คือ “ใบหูกวาง” ซึ่งมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง ใบรูปไข่ โคนแหลม ปลายกว้าง มน มีติ่งแหลมตรงปลาย ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร ใบเกิดใหม่เป็นสีเขียวอ่อน ใบแก่กลายเป็นเขียวเข้ม หากใกล้ผลัดใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งต้น ในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยราว ๆ เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน  

ต้นหูกวาง

ดอก : สำหรับดอกของเขาจะมีโทนสีขาว ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 8 – 12 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ออกแบบสลับ กลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ในหนึ่งดอกมี 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปดาว ในหนึ่งปีมีดอกทั้งหมด 2 ครั้ง ได้แก่ ช่วงฤดูหนาวและฤดูฝน 

ต้นหูกวาง

ผล : ผลของหูกวางจะมีทรงรีเกือบแบน เปลือกแข็ง มี 1 เมล็ดด้านใน ยามอ่อนผลเป็นสีเขียว หากแก่สักหน่อยจะติดอมเหลืองหรือกลายเป็นสีเหลืองในบางลูก ส่งกลิ่นหอม 

ประโยชน์ของหูกวาง 

ต้นหูกวาง

นอกจากการปลูกต้นไม้เพื่อเสริมฮวงจุ้ยแล้ว หูกวางก็ยังมีประโยชน์ในอีกหลายด้าน เมล็ดหูกวางนั้นให้คุณค่าทางโภชนาการ สามารถนำไปทำน้ำมันเพื่อบริโภคได้ ไม่ต่างจากน้ำมันอัลมอนด์ อีกทั้งยังมีความสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางอีกด้วย

เปลือกของต้นหูกวางมีฤทธิ์ฝาดสูง สามารถนำมาย้อมผ้า รวมถึงฟอกหนังสัตว์ได้ ส่วนใบแก่หากนำมาแช่น้ำจะช่วยรักษาบาดแผลของบรรดาปลาสวยงาม อาทิเช่นปลาหางนกยูง ปลากัด ช่วยให้ปลาแข็งแรง แต่ต้องเป็นใบตามธรรมชาติไม่ฉีดพ่นสารเคมี ส่วนเนื้อไม้เรียกได้ว่าทำเงินแก่อุตสาหกรรมก่อสร้างได้เป็นอย่างดี ทั้งนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ ทำบ้านเรือนก็อยู่ได้ทนนานเนื่องจากแมลงไม่มารบกวน นอกจากนี้หูกวางยังถือเป็นสมุนไพรซึ่งมีสรรพคุณทางยาหลากหลายรูปแบบอีกด้วย 

การขยายพันธุ์ / ปลูกหูกวาง 

ต้นหูกวาง

วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการขยายพันธุ์หูกวางคือการ “เพาะเมล็ด” ถึงจะมีข้อเสียอยู่บ้างเรื่องการเติบโตช้า แต่ก็มีข้อดีมากกว่า เพราะหากเริ่มจากเมล็ดจะได้ต้นที่แข็งแรง สมบูรณ์ เราสามารถเริ่มได้จากการเก็บเมล็ดที่ร่วงลงมาจากต้น โดยเลือกลูกที่เต็ม ไร้ตำหนิ นำมาตากแห้งประมาณ 2 วัน จากนั้นแช่น้ำต่ออีก 4 วัน แล้วจึงเริ่มเพาะลงบนดินร่วนผสมปุ๋ยคอกจนกว่าต้นจะโต จากนั้นจึงย้ายออกไปปลูกต่อในบริเวณที่ต้องการ 

ต้นหูกวางเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่โล่งกว้าง ชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน ในช่วงแรกเกิดของเขาจำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน หรือวันเว้นวันก็ได้ แต่ต้องสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มโตขึ้นมาหน่อยอาจเปลี่ยนการรดน้ำเป็น 3 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์ เรื่องปุ๋ยแทบไม่ต้องใส่หรือดูแลกมากมายเพราะลำพังเขาก็เป็นต้นไม้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว 

และนี่ก็คือข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “ต้นหูกวาง” ที่เรานำมาฝากทุกท่าน ขอเตือนสักนิดว่าใบหูกวางสดมีฤทธิ์เป็นพิษ และบางส่วนของเขาสามารถก่อให้เกิดอาการคัน ดังนั้นควรเก็บให้พ้นมือเด็ก เชื่อว่าเพื่อน ๆ น่าจะพอทราบกันแล้วว่าเจ้าไม้ชนิดนี้น่าสนใจอย่างไร รวมถึงการปลูก การดูแลเป็นเรื่องง่ายเพียงใด สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะคะ 

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ Plantlover

You may also like

Leave a Comment