ดิน หมายถึง เทหวัตถุธรรมชาติที่เกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ธาตุต่าง ๆ ผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ ซึ่งปกคลุมผิวโลกอยู่เป็นชั้นบาง ๆ เป็นวัตถุที่ค้ำจุนการเจริญเติบโตและการทรงตัวของพืช ประกอบด้วยแร่ธาตุ ที่เป็นของแข็ง อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ ที่มีสัดส่วนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิด เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถจำแนกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งให้ประโยชน์และข้อจำกัดในการปลูกที่ไม่เหมือนกัน การรู้ประเภทจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นตัวกำหนดว่าพืชชนิดใดจะเจริญเติบโตได้ดีและสามารถเลือกพืชได้เหมาะกับสวนของคุณมากที่สุด และในวันนี้ PlantLover จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับดินให้มากยิ่งขึ้น ไปติดตามกันได้เลย
ประเภทของดิน
1. ดินทราย ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กของหินผุกร่อน มีแนวโน้มที่จะเป็นกรดและมีสารอาหารต่ำ มีการระบายน้ำอย่างรวดเร็ว และมีแร่ธาตุที่ต้องการต่ำเนื่องจากถูกฝนชะล้างออกไปได้ง่าย ทำให้ยากในการปลูกพืชเพราะมีสารอาหารต่ำมากและความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ต่ำ ซึ่งทำให้รากพืชดูดซับน้ำได้ยาก การเติมอินทรียวัตถุเพื่อปรับปรุงความสามารถในการกักเก็บแร่ธาตุและน้ำ จะช่วยให้พืชได้รับสารอาหารที่เพียงพอได้
2. ดินเหนียว ประกอบไปด้วยอนุภาคแร่ที่ละเอียดมากและมีสารอินทรีย์ไม่มาก มีช่องว่างระหว่างอนุภาคไม่มากทำให้ระบายได้ไม่ดี มีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำได้ดีมาก และทำให้ความชื้นและอากาศซึมเข้าไปได้ยาก เป็นประเภทที่หนาแน่นและหนัก
3. ดินร่วน ประเภทที่สามเป็นส่วนผสมของทรายและตะกอนในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งรวมคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์จากแต่ละอย่างไว้ด้วยเช่น มีคุณสมบัติในการกักเก็บความชื้นและสารอาหาร จึงเหมาะแก่การทำการเกษตรมากกว่า เนื่องจากมีความสมดุลมากที่สุด
ความลึกของดิน
หมายถึง ความหนานับจากผิวชั้นบนสุด ลงไปจนถึงชั้นที่ขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือการชอนไชของรากเช่น ชั้นหิน ชั้นดินดาน ชั้นเศษหิน ชั้นกรวด หรือชั้นดินลูกรัง เป็นต้น ซึ่งมีผลทำให้รากชะงักงัน ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ โดยทั่วไปความลึกที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก ควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร
แบ่งตามความลึก ได้แก่
1. ตื้นมาก คือ ที่มีความหนาไม่เกิน 25 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าลงไป
2. ตื้น คือ ที่มีความหนาตั้งแต่ 25-50 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าลงไป
3. ลึกปานกลาง คือ ที่มีหนาตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าลงไป
4. ลึก-ลึกมาก คือ ที่มีความหนามากกว่า 100 เซนติเมตร นับจากผิวหน้าลงไป
อย่างไรก็ตาม การที่จะบอกได้ว่าพื้นที่ใดมีดินที่ดีหรือไม่ดีนั้น ต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่จะปลูกในบริเวณนั้นด้วย เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีความต้องการสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ข้าว เป็นพืชที่ชอบน้ำ ดังนั้นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวจึงควรเป็นพื้นที่ลุ่ม เนื้อเป็นดินเหนียวที่มีการระบายน้ำต่ำ จะช่วยให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในนาข้าวได้ดี