มีใครเคยได้ยินชื่อ “ถั่วดาวอินคา” ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไหมคะ ร่ำลือกันว่าประโยชน์มากมาย แถมยังรสชาติอร่อย หอมมัน ปลูกไว้กินเองก็ดี ปลูกขายได้ราคา ทว่าก็ยังมีข้อควรคำนึงถึงอีกเช่นกัน ใครอยากปลูก ตามหาวิธีการขยายพันธุ์ ดูแลรักษา กำลังสนใจอยากสร้างช่องทางทำเงินใหม่ ๆ บอกเลยว่าข้อมูลต่อไปนี้คือสิ่งที่ต้องรู้เอาไว้
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ปลูกถั่วดาวอินคา ไม้เลื้อยน่าปลูก มากประโยชน์ กินได้ อร่อยด้วย!
ถั่วดาวอินคา เป็นไม้เลื้อยในตระกูลเดียวกันกับยางพารา สบู่ดำ รวมไปถึงมันสำปะหลัง เดิมทีมีถิ่นกำเนิดมาจากทางทวีปอเมริกาใต้ ลุ่มน้ำอเมซอน ก่อนมนุษย์จะรู้จักนำมาใช้ประโยชน์ในช่วงปี ค.ศ.1438-1533 ทั้งส่วนของยอดอ่อน ใบ และเมล็ด
เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตร้อนมาก่อน จึงสามารถนำมาปลูกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สบาย ๆ สำหรับประเทศไทยถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกเพื่อการพาณิชย์ภายใต้บริษัทเอกชน โดยเริ่มต้นจากจังหวัดหนองคาย แต่ถ้าจะให้เติบโตดีเป็นพิเศษจะต้องเพาะปลูกลงในพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 100-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ใครอยากปลูกถั่วดาวอินคาต้องศึกษาให้ดี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plukenetia volubilis.
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae (วงศ์ยางพารา )
ชื่อสามัญ : Sacha inchi, Sacha mani และ Inca peanut.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เป็นไม้แบบลำต้นเลื้อย อายุยืนตั้งแต่ 10-50 ปีขึ้นอยู่กับการดูแล เขาสามารถแตกกิ่งเป็นเถาเลื้อยทอดยาวได้ไกลถึง 2 เมตร แก่นเถาค่อนข้างแข็ง โคนเถาสีน้ำตาล เถาอ่อนสีเขียว เนื้อไม้ค่อนข้างเหนียว
ใบ : เจ้าต้นนี้เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ก้านใบแตกออกจากเถาเรียงสลับเยื้องกัน ลักษณะใบรูปหัวใจ โคนใบกว้าง เว้าเข้าหาก้านเล็กน้อย ปลายใบแหลม พบร่องตื้นที่ผิวใบ ขอบใบหยักฟันเลื่อย ขนาดแผ่นใบกว้าง 8-10 เซนติเมตร ยาว 12-18 เซนติเมตรโดยประมาณ
ดอก : ดอกดาวอินคา จะออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ เป็นดอกแบบแยกเพศ ค่อนข้างกลม และถั่วดาวจะเริ่มออกดอกเป็นครั้งแรกในระยะเวลา 5 เดือน หลังต้นงอกออกจากเมล็ด ซึ่งถือว่าให้ผลผลิตรวดเร็ว ไม่นานเกินรอ
ผล : ออกผลเป็นฝักค่อนข้างแป้น แบน แบ่งออกเป็นหลายพูคล้ายกับผลฟักทอง ผลอ่อนสีเขียวสด เมื่อเริ่มแก่แล้วผลสีดำ เปลือกเมล็ดบาง พบเมล็ดสีขาวด้านใน นิยมนำมาคั่วเกลือรับประทาน รสชาติใกล้เคียงกับถั่วลิสง แม้จะไม่ได้เป็นพืชในตระกูลถั่วก็ตาม
ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับถั่วดาวอินคา
น้ำมันถั่วดาวอินคา ไม่สามารถลดอัตราความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง หรือลดการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ ไม่สามารถรักษาโรคใด ๆ ได้ ดังคำโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทอาหารเสริม แต่เขาก็ยังอุดมไปด้วยประโยชน์ด้านอื่น
ถั่วดาวอินคามีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด
ถั่วชนิดนี้จะให้พลังงานราว ๆ 607 กิโลแคลอรี่ต่อปริมาณ 100 กรัม และยังเป็นพืชที่ให้โปรตีนเฉกเช่นเดียวกันกับถั่ว ก่อนทานต้องนำเมล็ดไปคั่วไฟจนกระทั่งสุกดีก่อน แล้วคลุกกับเหลือเพื่อเพิ่มรสเค็มเล็กน้อยก่อนรับประทาน จะได้เนื้อสัมผัสแบบถั่วลิสงที่ทั้งกรอบ หอม รสมันกว่าถั่วลิสงเล็กน้อย บ้างก็นำเปลือกเมล็ดไปชงกับน้ำร้อนกินแบบชา เพื่อบำรุงสุขภาพ ส่วนยอดยังนำมาทำเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริกได้อีกด้วย
การขยายพันธุ์
ถั่วดาวอินคาสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่จะนิยมนำเมล็ดไปเพาะมากที่สุด เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน ได้ผลผลิตต้นที่แข็งแรง สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากลองเพิ่มจำนวนประชากรถั่วด้วยสองมือของตัวเอง สามารถนำวิธีการต่อไปนี้ไปใช้ได้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– ดินร่วน 2 ส่วน
– ดินทราย 1 ส่วน
– ภาชนะสำหรับเพาะเมล็ด เช่นถาด หรือถุงเพาะชำ
– น้ำอุ่น 1 ส่วน
– ภาชนะใส่น้ำ 1 ส่วน
– กล่องมีฝาปิดสำหรับควบแน่น
– ทิชชู
– ฟ็อกกี้
– กรรไกรตัดเล็บ
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดถั่วดาว
1. เมื่อได้ผลถั่วดาวอินคามาแล้ว ให้นำมาแกะเปลือกออกก่อน
2. จากนั้นแกะเมล็ดออกอีกหนึ่งชั้นจะเห็นเมล็ดจริงสีดำด้านใน
3. ใช้กรรไกรตัดเล็บขลิบปากเมล็ดออกเล็กน้อยเพื่อช่วยให้รากงอกออกมาง่ายมากยิ่งขึ้น
4. จากนั้นนำเมล็ดไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำอุ่น 1 คืน
5. เสร็จสรรพนำมาควบแน่นในกล่องมีฝาปิด
6. นำทิชชูมาสเปรย์น้ำวางรอง 1 ชั้นก่อน
7. วางเมล็ดถั่วดาวลงไป
8. ใช้ทิชชูทับด้านหน้าแล้วสเปรย์น้ำอีกครั้งก่อนปิดฝากล่อง
9. วางเอาไว้ในอุณหภูมิห้องแล้วรอให้รากงอกออกมาจึงนำไปปลูกลงดิน
10. ผสมดินร่วน 2 ส่วนเข้ากับดินทราย 1 ส่วน
11. จากนั้นก็นำเมล็ดที่รากงอกออกมาแล้วลงไปเพาะได้เลย
การปลูก/ดูแล
แสง : ถั่วดาวอินคาต้องการแสงแดดจำนวนมากในการเจริญเติบโต ควรปลูกเอาไว้กลางแจ้ง
ดิน : เน้นดินร่วน ระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง
น้ำ : ค่อนข้างชอบความชื้น ทั้งนี้หากไม่มีเวลามากนักก็สามารถรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้งได้เลย
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับถั่วดาวอินคา ที่เราอยากมาแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ทำความรู้จัก เป็นอย่างไรบ้างคะ คิดว่าเจ้าต้นนี้น่าสนใจไหมเอ่ย ปลูกเอาไว้สร้างรายได้งาม แต่ต้องรู้จักการหาตลาดให้เป็น ขายออนไลน์ หรือหาไอเดียการต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net