เหลืองอินเดีย ดอกเหลืองเต็มต้น ฟอร์มสวย อยากปลูกต้องรู้ 

by plantlover
เหลืองอินเดีย

จะดีแค่ไหน ถ้าหน้าบ้านของเรามีต้น “เหลืองอินเดีย” สลัดใบทิ้งก่อนผลิดอกบานสะพรั่ง สีเหลืองทั่วทั้งต้น ร่วงหล่นลงผืนดิน ให้บรรยากาศเหมือนอยู่ต่างประเทศ ไม้ฟอร์มสวยแบบนี้ใครก็อยากจับจองเป็นเจ้าของ แต่การปลูกและดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องพันธุ์ไม้เข้ามาช่วย เพื่อเลี้ยงเขาให้เติบโตมาสวยงามอย่างทรงประสิทธิภาพ และต่อไปนี้คือสิ่งที่คนอยากปลูกต้องรู้เอาไว้

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จักกับเหลืองอินเดีย ไม้ยืนต้นดอกสีเหลือง บานสะพรั่งรับฤดูแล้ง

เหลืองอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียแต่อย่างใด ข้อมูลบางแห่งสันนิษฐานว่าที่ได้ชื่อนี้มาก็มาจากช่วงเริ่มนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ซึ่งได้สายพันธุ์มาจากทางอินเดีย แต่ความจริงแล้วเขามีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกากลาง ไปจนถึงทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่เม็กซิโกไปจรดเอกวาดอร์ แล้วจึงกระจายพันธุ์ไปเรื่อย และด้วยความที่เป็นไม้พื้นถิ่นเขตร้อนอยู่แล้ว จึงเป็นต้นไม้ทนร้อนที่เข้ากับสภาพอากาศบ้านเราได้เป็นอย่างดี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Handroanthus chrysanthus

ชื่อวงศ์ : Bignoniaceae (วงศ์แคหางค่าง)

ชื่อสามัญ : Golden Trumpet Tree

เหลืองอินเดีย

ดอกไม้เหลือง ความหมายดี ๆ แฝงไปด้วยความเชื่อ

ดอกไม้สีเหลือง คือสัญลักษณ์ของมิตรภาพ ความปีติยินดี และความสุขอันแสนอบอุ่น แล้วยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีอีกด้วย โดยเฉพาะชื่อสามัญ “Golden Trumpet Tree” ของเจ้าต้นนี้ก็ยังหมายถึงดอกไม้สีทองทรงทรัมเป็ต สื่อถึงสีสันอันเป็นมงคล

เหลืองอินเดีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : เหลืองอินเดีย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูง 6-15 เมตรโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับการควบคุมและตัดแต่ง ลำต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกกิ่งต่ำ เปลือกสามารถลอกได้

ใบ : เป็นไม้ใบประกอบรูปนิ้วมือ มี 5 ใบย่อยรูปไข่ แกมขอบขนาน โคนใบมน ปลายใบแหลม เส้นใบชัด ขอบใบหยักเล็กน้อย เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนมกราคม ต้นไม้จะทยอยทิ้งใบร่วงจนหมดต้นก่อนออกดอก

ดอก : เมื่อทิ้งใบได้สักประมาณ 1 เดือน ดอกสีเหลืองก็จะเริ่มผลิออกมาให้เราได้เห็นเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยเขาจะออกดอกเป็นช่อ ในหนึ่งช่อประกอบไปด้วย 3-10 ดอกย่อย ซึ่งมีรูปทรงคล้ายคลึงกับทรัมเป็ต ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ ประกอบไปด้วย 4 เกสรเพศผู้แบบสั้น 2 อัน และแบบยาว 2 อัน ในช่วงเวลาดังกล่าวเราจะเห็นต้นไม้ดอกสีเหลืองบานสะพรั่งแทนใบสีเขียว ขณะเดียวกันดอกเหลืองนั้นก็ทยอยร่วงหล่นจนเกิดสีเหลืองเต็มใต้ต้นเช่นกัน

เหลืองอินเดีย

เหลืองอินเดีย กับเหลืองเชียงรายต่างกันอย่างไร? 

โดยทั่วไปแล้วหากมองด้วยตาเปล่าก็ยากที่จะแยกสายพันธุ์ของเจ้าสองต้นนี้ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงประหนึ่งกาสะลอง ซ้องปีบ แม้กระทั่งรูปใบ จำนวนใบย่อย รูปดอก จำนวนดอกย่อยของแต่ละช่อ อีกทั้งช่วงเวลาแห่งการออกดอกก็ใกล้เคียงกัน กว่าจะรู้ต้องรอจนกว่าดอกนั้นหมดไป หากเป็นเหลืองเชียงรายเขาจะติดฝัก แต่เหลืองอินเดียไม่ติดฝัก ถ้าใครซื้อมาแล้วทางร้านเขาเคลมว่าต้นแท้จากเมล็ดก็แปลว่าเรากำลังโดนหลอกอยู่แล้วล่ะ

เหลืองอินเดีย

การขยายพันธุ์

สำหรับการขยายพันธุ์ เนื่องจากไม่สามารถเพาะเมล็ดได้เลย เราจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการตอนหรือปักชำกิ่งเป็นหลัก หากอยากลดขั้นตอนอันแสนยุ่งยากในการตอน แนะนำให้เพิ่มจำนวนประชากรด้วยการปักชำกิ่งดังต่อไปนี้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้

– ฮอร์โมนเร่งราก

– ดินปลูก

– แกลบหรือขี้เถ้า (ตามความสะดวก)

– กรรไกรตัดกิ่ง

– เหลืองอินเดียต้นแม่

– กระถางเพาะชำ หรือถุงสำหรับเพาะชำ

– ถุงพลาสติกขนาดใหญ่ สำหรับอบต้นไม้

ขั้นตอนการปักชำต้นไม้

1. เลือกกิ่งที่ไม่อ่อนจนเกินไปเนื่องจากมีโอกาสเน่าตายสูง และกิ่งนั้นต้องไม่แก่จนเกินไปเพราะจะทำให้ติดรากยาก

2. ใช้กรรไกรตัดกิ่งออกมาจากต้น โดยให้ความยาวไม่เกิน 15 เซนติเมตรจะดีมาก

3. ตัดใบออกครึ่งหนึ่งหรือลิดใบออกจากกิ่ง แต่ควรเหลือใบเอาไว้บ้างเล็กน้อย

4. จากนั้นนำกิ่งไปจุ่มฮอร์โมนเร่งรากที่เตรียมไว้

5. ผสมดินปลูกเข้ากับแกลบเพื่อทำวัสดุเพาะชำ

6. บรรจุดินลงกระถาง

7. เสียบกิ่งไม้ลงไปในดิน ด้วยความลึกที่พอประคองต้นเอาไว้ได้

8. รดน้ำให้ชุ่มชื้น

9. ครอบทั้งกระถางด้วยถุงพลาสติก เพื่อเก็บรักษาความชื้น ไม่ต้องรดน้ำบ่อย

10. วางกระถางเอาไว้ในพื้นที่ที่แสงส่องถึงและไม่ร้อนจนเกินไป

เหลืองอินเดีย

การปลูก/ดูแล 

พื้นที่ : เน้นโล่งแจ้ง พูนดินเหนือพื้นที่โดยรอบสัก 60 เซนติเมตร

แสง : ต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน หรืออย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน

ดิน : เน้นดินร่วน ระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง

น้ำ : เหลืองอินเดียต้องการน้ำปานกลาง แนะนำให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง หากปลูกใหม่ เมื่อรากติดดีแล้วจึงเปลี่ยนมารดสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง

การค้ำยัน : 1 ปีหลังจากปลูก

เคล็ดลับทำให้เหลืองอินเดียออกดอกดก

จำลองสถานการณ์หน้าแล้งโดยการรดน้ำเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนมกรา ต้นไม้จะหาทางเอาตัวรอดและออกดอกเหลืองสะพรั่งเต็มต้น

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับต้นเหลืองอินเดียที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปทำความรู้จัก เป็นอย่างไรบ้างคะ ฟอร์มสวย ทิ้งใบ ออกดอกเหลืองสะใจมากเลยใช่ไหมล่ะ ใครกำลังตามหาต้นไม้ดอกสวย ๆ สำหรับปลูกหน้าบ้านบอกเลยไม่ควรพลาด ต้นนี้ซื้อหาง่าย ปลูกเอาไว้ใครก็ชมว่าสวย

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment