หลายคนคิดว่า “สาละลังกา” นั้นเป็นไม้ที่อยู่ในพุทธประวัติ แต่ความจริงแล้วมันเป็นคนละต้น และแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับเจ้าต้นสาละชนิดดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไรกันแน่ ต้นใหญ่ สวยแปลก แล้วปลูกในบ้านได้ไหม ส่งผลดี ผลเสียอย่างไร และถ้าหากคุณกำลังสนใจอยากมีไว้ครอบครองสักต้น นี่คือข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนปลูก!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ สาละลังกา หรือ ลูกปืนใหญ่ ต้นไม้แปลก พร้อมวิธีการปลูกและดูแล
ต้นสาละพันธุ์นี้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ ที่พบครั้งแรกในแถบลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาทางสวนพฤกษศาสตร์ศรีลังกาได้นำไปปลูกในปี พ.ศ. 2422 และไทยก็ได้นำเข้ามาจากฝั่งศรีลังกาในปี พ.ศ. 2500 (ข้อมูลจาก: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2557) จึงเป็นที่มาของชื่อ “สาละลังกา”
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้หลายคนเข้าใจว่า นี่คือร่มเงาของต้นสาละตามพุทธประวัติ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเห็นปลูกตามวัดวาอารามจนต้นใหญ่โต ถ้าให้เดา พระท่านก็คงเข้าใจผิดเหมือนกันกับเรา หรืออาจทราบอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่นิยมปลูกเนื่องจากชื่อใกล้เคียงกัน กระทั่งกลายเป็นกระแสของสำนักสงฆ์ส่วนใหญ่ ซึ่งสาละที่แท้จริงตามตำนานนั้นเรียกว่าต้นสาละอินเดียต่างหาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Couroupita guianensis
ชื่อวงศ์ : Lecythidaceae (วงศ์จิก)
ชื่อสามัญ : Cannonball tree
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (เบื้องต้น)
ลำต้น : สาละลังกา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ ที่หากปลูกเอาไว้ตามธรรมชาติอาจมีความสูงตั้งแต่ 15-25 เมตรโดยประมาณ ลำต้นตรง ผิวเปลือกสีน้ำตาลแกมเทา ไปจนถึงอมดำ ผิวขรุขระ แตกร่องตามแนวยาว มีสะเก็ดขนาดเล็ก บริเวณฐานลำต้นอาจรกรุงรังและเต็มไปด้วยก้านช่อดอก มีหนามแหลมแปลกตา
ใบ : ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันที่ปลายกิ่ง กระจายทั่วทั้งลำต้นจนเกิดเป็นเรือนยอดทรงพุ่ม หรือทรงกระบอก ใบมีสีเขียว รูปหอก หรือรูปไข่ ขอบขนาน โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ มีขนตามเส้นแขนงใต้ใบ
ดอก : ดอกสาละ เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของเจ้าต้นนี้เลยล่ะ โดยจะออกมาในรูปแบบช่อกระจะ ความแปลกพิสดารก็คือ ช่อดอกมีความยาวถึง 3 เมตร ยื่นออกมาจากโคนลำต้น เป็นแขนงยาว โน้มสู่พื้น ผิวหนามไม่แหลมมาก เริ่มออกดอกตั้งแต่โคนช่อครั้งละ 1-3 ดอก และร่วงหล่นลงพื้นทุกวัน ลักษณะดอกย่อยเมื่อบานเผยให้เห็น 4-6 กลีบดอกเนื้อหนา โคนกลีบสีม่วงอมชมพู ไล่ระดับความเข้มไปจนถึงชมพูอมเหลืองที่ปลายกลีบ โดดเด่นด้วยเกสรเพศผู้กลางดอก เป็นเส้นโค้งสีชมพูแกมเหลือง ออกดอกตลอดทั้งปี
ผล : ผลสาละลังกา เป็นที่มาของชื่อลูกปืนใหญ่ เนื่องจากรูปทรงกลม มีสีน้ำตาล เปลือกแข็ง ขนาดมหึมาราวกับกระสุนปืนใหญ่สมัยสงครามโลก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 – 20 เซนติเมตร เมื่อหล่นลงพื้นจะเน่าและส่งกลิ่นเหม็น สร้างภาระในการทำความสะอาด
สาละลังกา ปลูกในบ้านได้ไหม?
หากยึดตามความเชื่อ ก็ยังไม่มีข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงใดบอกว่าห้ามปลูก พื้นที่เอกชนมักพบเจอตามรีสอร์ท ออฟฟิศ ปลูกเสริมดวงเรื่องเงินทอง แต่ถ้ายึดตามหลักความเป็นจริง หากอยู่ในบ้านจัดสรร ไม่แนะนำให้ปลูก เนื่องจากเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมากหน่อย เพื่อให้เขาเติบโต แต่ถ้าบ้านไหนมีสวน อยากจะปลูกสร้างความรื่นรมย์ใจ เป็นไม้ประดับแปลก ๆ ดูเล่นก็ย่อมได้แน่นอน
การขยายพันธุ์
สาละ ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการทาบกิ่งหรือตอนกิ่ง แต่ที่นิยมมากสำหรับมือใหม่นั่นก็คือวิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งทำง่ายกว่า ให้ต้นที่แข็งแรงกว่า แม้เติบโตและออกดอกช้าหน่อย ใครอยากลองเพิ่มจำนวนประชากรต้นไม้ด้วยสองมือตัวเอง ทำตามนี้ได้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– ผลสาระที่เพิ่งหล่นลงพื้น
– ค้อน
– กล่องมีฝาปิด
– ทิชชู่
– ถุงเพาะชำ
– ดินปลูก
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
1. ใช้ค้อนทุบเปลือกของผลสาระออกจนกระทั่งพบเนื้อ และนำเมล็ดด้านในออกมาให้หมด ขั้นตอนนี้ส่งกลิ่นเหม็น
2. ผึ่งเมล็ดให้แห้งสักหน่อย แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
3. จากนั้นนำมาเพาะแบบควบแน่นในกล่อง โดยวางทิชชู่ลงไปในกล่อง พรมน้ำใช้เปียก
4. วางเมล็ดลงไป
5. ทับด้วยทิชชู่อีกหนึ่งผืน และพรมน้ำเพื่อความชุ่มชื้น จากนั้นปิดฝากล่องเก็บไว้ หมั่นเช็คเรื่อย ๆ ว่ามีรากงอกออกมาบ้างหรือยัง
6. เมื่อรากเริ่มงอกออกมาได้ 1-2 วัน ก็เพาะเมล็ดลงบนดินปลูก ในถุงเพาะชำได้เลย
7. รอจนกว่าใบจริงจะงอก ค่อยนำต้นไม้ไปปลูกลงดิน
การปลูก/ดูแล
แสง : สาละลังกา เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน จึงควรปลูกเอาไว้ในพื้นที่โล่งแจ้ง
ดิน : สามารถเติบโตได้ดีในดินแทบทุกประเภทแม้กระทั่งดินเลว แต่ถ้าจะให้ดี ก็ใช้ดินร่วน ระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง
น้ำ : ชื่นชอบน้ำปานกลาง รดน้ำวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ สาละลังกา ต้นไม้สวยแปลก ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้รู้จัก เป็นอย่างไรบ้างคะ ทั้งรูปร่าง หน้าตาของเขาน่าสนใจมากเลยใช่ไหม แต่ไม่แนะนำให้อาศัย นั่งเล่นใต้ต้นไม้นะคะ เพราะถ้าผลร่วงใส่หัวขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสเจ็บตัวสูงมาก สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net