มะรุม ทำไมห้ามปลูกใกล้บ้าน ถ้าอยากปลูกต้องรู้!

by plantlover
มะรุม

แกงส้มมะรุม รสเผ็ดร้อน มีเนื้อผักนุ่ม เม็ดอ่อนกรุบ ๆ ถูกปากคนไทย แต่ถ้าอยู่ไกลบ้านคุณพ่อคุณแม่หาทานยากยิ่งกว่างมเข็มใต้มหาสมุทร งั้นปลูกเองเลยดีไหมล่ะ แต่ว่า…ถ้าอยากได้ต้นนี้ไปไว้ในอาณาเขตบ้าน ต้องอ่านบทความนี้ให้จบเพราะมีเรื่องชวนครุ่นคิดมากกว่าความเชื่อ ควรปลูกตรงไหนดี แล้วต้องเลี้ยงกี่ปีถึงจะได้กินฝัก นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องที่คุณอาจยังไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับเจ้าต้นไม้ต้นนี้มาแบ่งปันด้วยนะ

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่

รู้จัก “มะรุม” สมุนไพรริมรั้ว กับเหตุผลที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้าน!

มะรุม

มะรุม เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง คนไทยคุ้นหน้าค่าตาของเขาดี เพราะเป็นไม้พื้นเมือง อันมีถิ่นกำเนิดมาจากดินแดนเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย ศรีลังกา เอเชียไมเนอร์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแอฟริกา จะเห็นว่าเหมาะกับสภาพอากาศร้อน จึงสามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam.

ชื่อวงศ์ : Moringaceae. 

ชื่อสามัญ : Moringa 

ชื่อท้องถิ่น : ผักอีฮึม ผักอีฮุม มะค้อนก้อม บะค้อนก้อม (ภาคเหนือ), ผักเนื้อไก่ (แม่ฮ่องสอน), กาเน้งเดิง (กาญจนบุรี), บักฮุ้ม (อีสาน)  

มะรุม

ความเชื่อ 

ทำไมห้ามปลูกมะรุมเอาไว้ในบ้าน (หมายถึงภายในรั้วบ้าน) ถ้าอ้างอิงตามหลักความเชื่อของคนไทยโบราณถือว่า ชื่อของต้นไม้จะทำให้มีเรื่องราวมารุมมาตุ้มเสียจนวุ่นวาย โดยเฉพาะเรื่องกลัดกลุ้มใจ ทำให้คนในบ้านอยู่ไม่เป็นสุข

ทำไมจึงไม่ควรปลูกมะรุมใกล้บ้าน?

เมื่อยึดตามหลักเหตุผล เจ้าต้นนี้ถือเป็นต้นไม่ที่ไม่ควรปลูกใกล้บ้านเช่นกัน เนื่องจากมีเนื้อไม้และกิ่งก้านที่ค่อนข้างเปราะบาง เมื่อมีลมกระโชกหรือแม้กระทั่งลมฝน อาจทำให้กิ่งหักลงมาเป็นอันตรายต่อผู้คนได้ง่าย แม้รากจะไม่ทำลายโครงสร้าง แต่ก็ควรปลูกให้ห่างจากตัวอาคารจะดีที่สุด

มะรุม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสูงตั้งแต่ 3-5 เมตรโดยประมาณ ลำต้นตรง เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกล่อน แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มโปร่ง เนื้อไม้อ่อน ก้านเปราะหักง่าย

ใบ : เป็นพืชใบประกอบ แบบขนนก แตกออกเป็น 3 ชั้น ใบย่อยรูปไข่ ฐานและปลายใบมน ด้านล่างผิวใบมีขนอยู่เล็กน้อย แต่ไม่คัน รสชาติหวานมัน

ดอก : ออกเป็นช่อแบบแตกแขนงตามซอกใบ ในแต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยสีขาวนวล ประกอบไปด้วย 5 กลีบดอก เกสรตัวผู้แบ่งเป็นสมบูรณ์ 5 อัน ไม่สมบูรณ์ 5 อัน มีเกสรตัวเมีย 1 อัน

ผล : ออกฝักหลังจากติดดอกหรือประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ออกฝักเป็นรูปสามเหลี่ยมยาว พบเมล็ดด้านในอยู่เป็นเปราะ เนื้อรสชาติจืด

ประโยชน์

นอกจากจะเป็นต้นไม้กินได้ทั้งส่วนใบ ยอด และผลแล้ว มะรุมยังเป็นพืชสมุนไพรที่มาพร้อมสรรพคุณทางยามากมาย ตั้งแต่รากจรดปลายยอด ใช้บำรุงร่างกาย แก้ไข้ แก้ปวดข้อ และอื่น ๆ เห็นมีประโยชน์แบบนี้ก็มีข้อเสียและข้อควรระวังเช่นกัน โดยเฉพาะหากรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคเก๊าท์ โรคเลือดต่าง ๆ เนื่องจากเป็นผักที่มีโปรตีนสูง

มะรุม

การขยายพันธุ์ 

มะรุม สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่มักนิยมเพิ่มจำนวนประชากรด้วยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก นอกจากจะได้ต้นที่รากแข็งแรงแล้วก็ยังให้ผลผลิตรวดเร็ว ต่างจากต้นไม้ชนิดอื่นที่ออกผลผลิตช้า หากปลูกด้วยวิธีการเดียวกัน และถ้าเพื่อน ๆ อยากลองเพาะเมล็ดไม้ยืนต้น ผลกินได้ชนิดนี้ด้วยตัวเอง ก็สามารถทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ได้เลย

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

– กระถางมีรูระบายที่ก้นหรือถุงเพาะชำ

– ดินปลูก

– เมล็ดมะรุม

– ภาชนะสำหรับใส่น้ำ

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด

1. หากเก็บฝักแก่ของต้นมะรุมมา ควรแกะเมล็ดออกจากฝักก่อน

2. เมื่อได้เมล็ดมาแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

3. จากนั้นนำดินปลูกใส่ถุงเพาะชำหรือกระถางตามที่เรามี

4. ฝังเมล็ดลงไปใต้ดินเพียงเล็กน้อย

5. จากนั้นใช้ดินกลบและรดน้ำตาม

6. วางถุงเพาะชำเอาไว้บริเวณพื้นที่แสงแดดรำไร หมั่นรดน้ำทุกวันเพื่อรักษาความชื้น

7. ใช้เวลาเพียงแค่ 4-7 วัน ต้นไม้ก็จะเริ่มงอกใบออกมา

8. เลี้ยงต้นกล้าเอาไว้เป็นเวลา 30 วัน ก็พร้อมลงแปลงปลูกแล้วล่ะ

มะรุม

การปลูก/ดูแล 

พื้นที่ : เน้นกลางแจ้ง เนื่องจากเขาต้องการแสงตลอดทั้งวันในการเติบโต หรือหาพื้นที่โดนแสงแดดอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน ปลูกเคียงกันกับต้นไม้ขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้

ดิน : ความจริงแล้วมะรุมเติบโตได้ในดินทุกรูปแบบ แต่ควรเน้นดินร่วน ระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูงเป็นหลัก 

น้ำ : ชอบความชื้นปานกลาง ควรรดน้ำทุกวัน หรืออย่างน้อย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์

ปุ๋ย : การให้ปุ๋ย สามารถใช้เป็นปุ๋ยคอกได้เลย และควรทำหลังจากต้นไม้มีอายุ 7 เดือน ในช่วงดังกล่าวอาจจะต้องงดการให้น้ำควบคู่กันไปด้วยเพื่อช่วยเรื่องการออกดอก

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “มะรุม” สมุนไพรพื้นบ้าน ประโยชน์มากมาย นำมารังสรรค์เมนูได้หลากหลายเกินคาดคิด แถมยังโตไว ตายยาก ถ้าใครปลูกเอาไว้แล้วต้นไม้มีแนวโน้มอาการแย่ลง (โอกาสเกิดน้อย) ลองนำเอาวิธีการปลูกและดูแลดังข้างต้นไปปรับใช้ รับรองว่าได้ผลผลิตดังใจต้องการ แต่อย่าลืมนะว่าการบริโภคต้องคำนึงถึงโรคประจำตัวและไม่รับประทานมากจนเกินไป

ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net

You may also like

Leave a Comment