หากกล่าวถึง มะกล่ำ ก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่ค่อยคุ้นหน้าค่าตากันเท่าไรนัก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ห่างไกลจากต้นไม้ใหญ่มากพอสมควร วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับเจ้าต้นไม้ใหญ่ มากประโยชน์ เป็นมงคล ที่หากปลูกเอาไว้ ในอนาคตสามารถทำเป็นต้นไม้ตกแต่งเพื่อความสวยงามได้อย่างแน่นอน และต่อไปนี้คือข้อมูลที่คุณไม่ควรพลาดเด็ดขาด
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับมะกล่ำ ต้นไม้ใหญ่น่าปลูก เสริมมงคลให้แก่บ้าน!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adenanthera pavonina L.
ชื่อวงศ์ : Faboideae (วงศ์ถั่ว)
ชื่อภาอังษากฤษ : Bead tree
ชื่อท้องถิ่น : มะกล่ำตาช้าง (ทั่วไป), ไพเงินก่ำ, หมากแค้ก (แม่ฮ่องสอน), มะหล่าม (นครราชสีมา), ไพ (ปัตตานี) เป็นต้น
มะกล่ำ เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งต้นไม้ต้นนี้มีถิ่นกำเนิดมาจากเขตร้อนของทวีปเอเชีย ทั้งจากฝั่งเอเชียใต้อย่างอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศมาเลเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และไทย มักขึ้นอยู่ตามทิวเขารกทึบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ หรือแม้กระทั่งริมถนนหนทาง เราจึงมักจะเห็นกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ความเชื่อ
มะกล่ำเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งตามความเชื่อของชาวไทย เชื่อกันว่าหากปลูกเอาไว้ในอาณาบริเวณบ้าน จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขต่อผู้อยู่อาศัย ทำให้ชีวิตมีแต่ความรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จ ช่วยเสริมบารมีให้แก่ทั้งตนเองและครอบครัว ทั้งนี้การปลูกเอาไว้เพื่อเป็นมงคลไม่จำกัดว่าต้องอยู่ทางทิศไหนของบ้าน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ต้นไม้ต้นนี้เป็นไม้ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ อาจมีความสูงได้ถึง 20 เมตรเลยทีเดียว เปลือกต้นขรุขระ ผิวสีน้ำตาลอ่อน เรือนยอดของเขากว้างขวาง ทรงโปร่ง
ใบ : ใบของมะกล่ำมาในรูปแบบประกอบขนนกปลายคู่ ใบย่อยออกเรียงสลับกันมีประมาณ 8-16 คู่ รูปทรงวงรี โคนใบมนสวยไม่สมมาตร ปลายใบก็เช่นเดียวกัน ขอบใบขนาน แผ่นใบบาง ผิวเรียบและเกลี้ยง ท้องใบสีนวลเต็มไปด้วยขนอ่อนนุ่ม
ดอก : เจ้าต้นนี้จะออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกมีรูปทรงกระบอกเต็มไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กจิ๋วมากมาย กลีบดอกสีเหลืองอ่อนอมครีม เมื่อแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มหม่นมีขนประปราย กลีบดอกแหลมเชื่อมติดกันเป็นฐานอ่อน ประกอบไปด้วยเกสรเพศผู้ทั้งหมด 10 ก้าน ในแต่ละช่ออาจมีความยาว 7.5-20 เซนติเมตร ส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน นับว่าเป็นอีกหนึ่งต้นไม้ดอกหอมที่ควรค่าแก่การปลูกเอาไว้ในบ้านอย่างยิ่ง
ผล : ผลของเขาจะออกเป็นฝัก แบนยาว ฝักอ่อนมีสีเขียว ความกว้าง 8-12 มิลลิเมตรและยาว 15-30 เซนติเมตรโดยประมาณ เมื่อฝักแก่แล้วตะเข็บของเขาจะแตกออก บิดจนงอเป็นเกลียวเห็นเมล็ดแตกกระจายออก เมล็ดด้านในมีสีแดงสด มันเงา แข็ง
ประโยชน์
มะกล่ำนั้นมีประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่ไม้ประดับ ยอดอ่อนของเขามีรสมันปนฝาดเล็กน้อย สามารถเด็ดมาทำเป็นผักกินสดทานคู่กับบรรดาลาบ ก้อย ได้เช่นกัน เห็นเมล็ดของเขาสีสันสวยงามแต่ไม่สามารถนำมาคั่วเพื่อกินเล่นได้ เนื่องจากเนื้อค่อนข้างแข็ง นอกจากนี้ก็ยังเต็มไปด้วยสรรพคุณทางยาอันน่าสนใจอาทิเช่น
– แก้ริดสีดวง
– แก้ท้องร่วง
– แก้ปวดหัว
– ขับพยาธิ
– ขับเสมหะ
– แก้อักเสบ
– แก้หนองใน
– แก้ร้อนใน
– แก้สะอึก
– แก้อาเจียน
การขยายพันธุ์
การเพาะเมล็ด คือวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการขยายพันธุ์ต้นมะกล่ำ ซึ่งวิธีการก็ไม่ยุ่งยากจนเกินไป แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายปีหน่อยในการเติบโตอย่างสมบูรณ์
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
1.เมล็ดพันธุ์
2.น้ำอุ่น
3.ถุงเพาะ
4.มีดหรือกรรไกรตัดเล็บ
ขั้นตอนวิธีการเพาะเมล็ด
1.นำเมล็ดมะกล่ำมาสังเกตหาบริเวณก้นเมล็ดซึ่งจะมีปลายแหลมออกมา
2.ใช้กรรไกรตัดเล็บเล็มผิวเปลือกแดงที่แหลมออกเล็กน้อย จนเผยให้เห็นเนื้อเมล็ดสีเหลืองด้านใน
3.นำเมล็ดไปแช่ในน้ำอุ่นเป็นเวลา 5 ชั่วโมงเพื่อให้เปลือกอ่อนนุ่มลง
4.ใช้มือดันเปลือกออกให้หมด ล้างน้ำสะอาด แล้วผึ่งไว้สักพัก
5.นำดินปลูกผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์เล็กน้อย จากนั้นรดน้ำดินให้ชุ่มก่อน
6.นำก้นเมล็ดกดลงไปในดินเล็กน้อย ไม่ต้องลึกเพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้
7.หมั่นรดน้ำเช้า – เย็นจนกว่าต้นกล้าจะเติบโตและแข็งแรงเพียงพอต่อการย้ายไปปลูกที่อื่น
การปลูก / ดูแลต้นไม้
การปลูกต้นมะกล่ำสามารถทำลงในดินร่วนธรรมดาได้เลย แต่ต้องเน้นเป็นพื้นที่ที่มีแสงแดด ช่วงเอาเขาลงดินใหม่ ๆ อาจจะต้องรดน้ำทุกวันจนกระทั่งรู้สึกว่าต้นไม้นั้นฟื้นตัวดี ค่อยลดระดับการให้น้ำลงมาเรื่อย ๆ เป็นสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งก็ยังได้ เนื่องจากเขาเป็นต้นไม้ทนแล้ง เติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลมากมาย ปล่อยเอาไว้ชั่วครู่ก็แตกกิ่งก้านใบแผ่ออกจนเป็นร่มเงา
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ ต้นมะกล่ำ ต้นไม้ที่หาดูได้ค่อนข้างยากแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ค่อยมีผู้ใดปลูกเอาไว้มากนัก ต้นใหญ่ก็มักจะถูกตัดไปทำประโยชน์ เช่นการทำเฟอร์นิเจอร์ ทุกคนก็น่าจะได้เห็นกันไปแล้วว่า เขาน่าสนใจอย่างไร มีประโยชน์ทางใด ส่วนจะน่าปลูกเอาไว้ประดับบ้านไหมก็อาจจะต้องพิจารณาตามความชอบอีกที สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net