หากคุณเคยได้นั่งรถเล่นในช่วงฤดูร้อน ก็คงจะเคยเห็นภาพดอกไม้สีแดงของต้นหางนกยูงอันแสนโดดเด่นไปตามริมสองฝั่งถนน ท่ามกลางบ้านเรือนและธรรมชาติสีเขียวขจี จนใจนึกฝันว่าหากมีติดบ้านเอาไว้สักต้นคงมองเพลิน ชื่นใจน่าดู แม้รู้ว่าต้องใช้เวลาในการปลูกเนิ่นนานหลายปี ใครกำลังตามหาวิธีครอบครองต้นไม้ดอกสวย สีแดงสดนี้อยู่ นี่คือสิ่งที่คุณต้องรู้เอาไว้!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับต้นหางนกยูง ต้นไม้ใหญ่ปลูกหน้าบ้าน ดอกสวยมาก!!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Delonix regia
ชื่อวงศ์ : Fabaceae หรือ Leguminosae (วงศ์ถั่ว)
ชื่อภาษาอังกฤษ : Flambuoyant tree
ชื่อไทยอื่น ๆ : จำพอ ซำพอ หนวดแมว (แม่ฮ่องสอน), ชมพอ พญาไม้ผุ (ภาคเหนือ), นกยูงไทย (ภาคกลาง), ขวางยอย (นครราชสีมา)
ความจริงแล้วต้นหางนกยูงที่เรามักพบเจออยู่ในประเทศไทยนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทได้แก่ หางนกยูงไทยและหางนกยูงฝรั่ง ซึ่งเจ้าสองต้นนี้มีความแตกต่างกันในหลายจุด หากมองโดยผิวเผินแบบคนไม่รู้ก็อาจจะนึกว่ามันมีเพียงแค่ชนิดเดียวใช่ไหมล่ะ เช่นนั้นแล้วก่อนอื่นเราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความเข้าใจถึงลักษณะเบื้องต้นและข้อแตกต่างของสองสายพันธุ์นี้กันก่อนเลย
ลักษณะเบื้องต้น
ลำต้น : โดยทั่วไปแล้วหางนกยูงเป็นไม้ยืนต้น ที่มีความสูงหลากหลายระดับมาก ลำต้นค่อนข้างตั้งตรงและสูงยืดพุ่งขึ้นด้านบน แตกกิ่งก้านสูง เปลือกต้นเรียบมีสีน้ำตาลเข้ม
ใบ : ส่วนใบของเขามาในรูปแบบประกอบขนนก ออกเป็นแผงจะมีใบย่อยขนาดเล็ก 6-12 คู่โดยประมาณ ลักษณะรูปไข่ โคนใบเบี้ยว ปลายใบมน ผิวสีเขียว ด้านหลังใบสีเข้มกว่าท้องใบเล็กน้อย
ดอก : ดอกหางนกยูง เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์เด็ดของต้นที่หลายคนรอคอย มองเห็นสีแดงโดดเด่นแต่ไกล บ้างก็มีสีเหลืองแซมประปรายขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยรวมแล้วจะออกดอกเป็นช่อ บริเวณซอกใบ หรือปลายกิ่ง มี 5 กลีบดอก ลักษณะย่น เกสรเพศเมีย 1 อันและเกสรเพศผู้ 10 อันที่ยาวออกมาเป็นทรงสวยน่ามอง
ต้นหางนกยูงฝรั่ง VS ไทย แตกต่างกันอย่างไร?
ก่อนอื่นต้องเล่าถึงความเป็นมาเลยว่าทั้งสองสายพันธุ์เป็นต้นไม้จากต่างประเทศทั้งคู่ และคำว่าไทย VS ฝรั่ง คือการเปรียบเทียบขนาดให้เห็นว่าคนฝรั่งตัวใหญ่โต ส่วนคนไทยตัวเล็กกว่า หางนกยูงฝรั่งจึงเป็นชื่อที่ใช้เรียกต้นที่มีขนาดใหญ่กว่า ดอกที่ใหญ่กว่าหางนกยูงไทยง่าย ๆ เท่านี้เอง
ความเชื่อ
คนไทยเราเชื่อว่าต้นหางนกยูงนั้นเป็นต้นไม้มงคลที่จะนำพามาซึ่งข่าวดี ความเจริญรุ่งเรือง และเมื่อปลูกเอาไว้ในอาณาบริเวณบ้านจะนำพามาซึ่งความร่มเย็น ความสงบสุขในชีวิต ผู้คนปีติยินดี แถมยังเป็นต้นไม้เสริมดวงสำหรับผู้ที่เกิดวันอาทิตย์อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านก็จะยิ่งส่งเสริมอำนาจ บารมี แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวัง ควรตัดแต่งกิ่งให้ไม่รกรุงรัง เพราะจะนำมาซึ่งความยุ่งเหยิงในชีวิต
ประโยชน์
ประโยชน์ของเจ้าต้นหางนกยูงนี้ มีมากกว่าการปลูกเอาไว้เป็นไม้ประดับอย่างแน่นอน ดอกของเขามีความสวยงาม ผู้คนจึงมักนิยมนำมาถวายพระ หรือหากวางดอกเอาไว้ในห้องก็เป็นตัวช่วยในการไล่แมลงหวี่ในหน้าร้อน ส่วนเมล็ดในฝักก็นำมารับประทานได้ มีรสชาติหวาน อร่อยด้วย
การขยายพันธุ์
หางนกยูง ขยายพันธุ์ง่าย ด้วยการเพาะเมล็ดเฉกเช่นเดียวกันกับต้นไม้ชนิดอื่น ๆ โดยที่เราสามารถเก็บเมล็ดจากฝักที่ร่วงหล่นลงใต้ต้นแม่ของเขามาทำการเลี้ยงดูได้เลยดังต่อไปนี้
อุปกรณ์
1.แก้วน้ำ
2.กล่องมีฝาปิด
3.ทิชชู่แผ่น
4.ฟ็อกกี้
5.ถุงเพาะชำ
6.ดินปลูกหรือพีทมอส
ขั้นตอนการเพาะเมล็ดต้นหางนกยูง
1.อันดับแรกเราจะนำเมล็ดหางนกยูงที่เก็บได้มาคัดเมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่ขึ้นรา แล้วจึงนำไปแช่น้ำอุ่นทิ้งเอาไว้ 1 คืน เมล็ดจะพองขึ้นมา
2.นำทิชชู่ประมาณ 3 แผ่น มาวางลงในกล่องที่มีฝาปิดแล้วสเปรย์น้ำให้ชุ่ม
3.จากนั้นนำเมล็ดที่แช่น้ำอุ่นแล้วลงไปวางบนทิชชู่
4.วางทิชชู่ทับลงไปอีกประมาณ 3-4 แผ่น ก่อนสเปรย์น้ำให้ชุ่มแล้วปิดฝากล่องเอาไว้
5.วางทิ้งไว้ในอุณหภูมิปกติประมาณ 2 คืน รากก็จะเริ่มงอกออกมา
6.ให้เตรียมดินปลูกหรือพีทมอสตามสะดวก แช่น้ำจนชุ่มแล้วใส่ลงไปในถุงเพาะชำ
7.ใช้นิ้วจิ้มลงไปในดินให้ลึกประมาณ 1.2 เซนติเมตร แล้วนำส่วนของรากวางลงไปแล้วใช้ดินกลบ
8.รดน้ำอีกครั้ง ให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ ประมาณ 1 เดือนก็สามารถนำกล้าของต้นหางนกยูงไปปลูกได้แล้วล่ะ
การปลูกและดูแล
หางนกยูง ดูแลง่าย เพียงแค่ให้แสงแดดจัด อยู่กลางที่โล่งแจ้ง รดน้ำบ้างสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ช่วงอายุประมาณ 4-5 ปีก็จะเริ่มออกดอกมาให้เราได้เห็นแล้วล่ะ
และนี่ก็คือข้อมูลเกี่ยวกับ ต้นหางนกยูง ที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ ที่กำลังสนใจอยากลองปลูกหรือมีเอาไว้ในครอบครอง ถ้าไม่อยากลงมือเพาะเมล็ดเองแนะนำให้สั่งต้นกล้าแบบออนไลน์ส่งตรงถึงบ้านกันได้เลย หรือถ้าหากมีงบมากกว่านั้น อยากได้ต้นใหญ่โต ออกดอกทันที ต้นไม้ล้อมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ตอบโจทย์ แต่แน่นอนว่าต้องแลกกับงบประมาณที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net