หากกล่าวถึง “ต้นศรีตรัง” หลายคนก็อาจจะงงว่ามันคือต้นอะไรกันแน่ แต่ถ้าได้เห็นรูปร่างหน้าตาของมันก็น่าจะพอคลายสงสัย และก็น่าจะมีใครเคยเห็นดอกสีม่วงสวยของเขามาบ้าง ใครกำลังหลงความสวยจนใจละลาย อยากได้ต้นไม้ชนิดนี้มาปลูกเพื่อเชยชมดอกอันสวยงาม แต่กลัวว่าจะดูแลยาก บอกเลยนี่คือสิ่งที่คุณควรต้องรู้ก่อนที่จะเลี้ยงศรีตรัง
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ต้นศรีตรัง” ไม้ประดับดอกสวยงาม มาพร้อมความเชื่ออันน่าสนใจ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Jacaranda filicifolia (สายพันธุ์ในไทย) และ J. minosifolia (สายพันธุ์ต่างประเทศ ต้นใหญ่กว่า)
วงศ์ : Bignoniaceae
ชื่ออังกฤษ : Green ebony / Jacaranda
ชื่อภาษาไทยและอื่น ๆ : ศรีตรัง, แคฝอย
“ศรีตรัง” เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรัง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง เดิมทีมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางประเทศบราซิล ซึ่งถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรือเมื่อราว ๆ 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ที่เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง จนกระทั่งต้นไม้ชนิดนี้ถูกปลูกอย่างแพร่หลายในเมืองไทย ทว่าดอกจะออกมาสวยงามเป็นพิเศษหากปลูกในพื้นที่ของภาคเหนือและภาคใต้
ความเชื่อ
ต้นศรีตรังอาจไม่ได้มีความเชื่อทางด้านความร่ำรวยหรืออื่นใดแบบของใครเขา แต่เขาเป็นต้นไม้ทางด้านศาสนาที่ว่ากันว่า พระสรณังกรพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ที่สาม และพระวิปัสสีพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ที่ยี่สิบสอง ได้ตรัสรู้ใต้ต้นศรีตรัง จึงเชื่อกันว่าเขาเป็นต้นไม้มงคล
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เขาเป็นต้นไม้ขนาดกลางที่มีความสูงราว ๆ 4 – 10 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา ผิวเกลี้ยง และยังมีการแตกล่อนตามแนวยาว ลักษณะเรือนยอดโปร่ง
ใบ : ใบของศรีตรัง จะเป็นใบแบบประกอบคล้ายขนนก ก้านใบหลักยาว 7 – 11 เซนติเมตรโดยประมาณ ส่วนก้านใบประกอบจะยาวราว 5 – 7 เซนติเมตร และมีใบย่อยประมาณ 20 ใบ ขนาดเล็ก ขอบขนานแกมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว
ดอก : นี่คือส่วนที่น่าสนใจมากที่สุด โดยทั่วไปแล้วจะมีสีม่วงอ่อน ส่งกลิ่นหอม ลักษณะจะออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ดอกคล้ายคลึงกับปากแตร มีช่อดอกยาวประมาณ 5 – 9 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกัน แยกปลาย 5 แฉก จะบานเต็มที่ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม และหากดอกบานสะพรั่งเต็มที่จะมีขนาดราว ๆ 1.5 – 2.5 เซนติเมตร เลยทีเดียว
ผล : ลักษณะการออกผลของศรีตรังนั้นมีรูปร่างเป็นผักแบน สีน้ำตาลอ่อน ขนาดกว้างคูณยาว 1*2 เซนติเมตรโดยประมาณ หากผลแก่แล้วจะแตกออกเป็นสองเสี่ยง พบเมล็ดสีน้ำตาลด้านใน มีปีกสีใสสามารถปลิวไปตามลมได้ ซึ่งผลของเขามักออกในช่วงเมษายน – พฤษภาคมของทุกปี
ประโยชน์
นอกจากการปลูกศรีตรังเอาไว้เพื่อประดับตกแต่งบ้านแล้ว ก็ยังสามารถให้เขาเป็นต้นไม้ตกแต่งสวนได้เช่นกัน เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย ให้ร่มเงา จึงเหมาะที่จะปลูกเอาไว้เพื่อความร่มเย็น
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของศรีตรังก็คือ การนำเนื้อไม้มาทำเป็นโครงเฟอร์นิเจอร์ ด้วยเหตุที่ว่าเนื้อไม้ของเขามีความเบา ลายสวยชัด หรือจะนำไปแปรรูปเป็นไม้ปาร์เกต์ ทำกีตาร์ก็นิยมเช่นกัน
สรรพคุณทางยา
ดอก : ดอกของเขามีความสามารถในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้
เปลือกและใบ : หากนำเปลือกและใบของต้นศรีตรังมาผสมกัน เขาก็สามารถช่วยรักษาโรคซิฟิลิสได้
ใบแห้ง : ส่วนนี้นำมารักษาแผล
เปลือกไม้ : ล้างแผลพุพอง แผลเปื่อย
เนื้อไม้ : เนื้อไม้ของเขามีรสเฝื่อน รวมถึงฝาด ดังนั้นมันจึงมีส่วนช่วยในการขับพยาธิ แก้ท้องบวมได้เป็นอย่างดี
การขยายพันธุ์
ทางด้านการขยายพันธุ์เกษตรกรส่วนใหญ่มักเลือกใช้วิธีการเพาะเมล็ดเสียมากกว่า เพราะหากเริ่มต้นที่เมล็ด จะทำให้ได้ต้นไม้ที่เติบโตอย่างแข็งแรง และใช้เวลาในการพัฒนาตัวเองไม่นานเท่าต้นไม้ชนิดอื่น หลัก ๆ เมล็ดจะงอกรากภายใน 10 วัน โดยประมาณ อายุประมาณ 4 เดือน ต้นกล้าก็จะเติบใหญ่เท่ากับ 1 ไม้บรรทัด ให้ทำการย้ายเขาไปปลูกอีกที่ก่อน รอเวลานำไปลงดินปลูกเพื่อความสวยงามอีกหน
การปลูก
ศรีตรัง เป็นพืชที่ชื่นชอบดินร่วนก็จริง แต่เขาสามารถเติบโตได้ในดินทุกรูปแบบ โดยเฉพาะดินที่อุดมไปด้วยอินทรียวัตถุและระบายน้ำดี เราควรปลูกศรีตั้งไว้กลางแจ้ง เพราะเขาชื่นชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน ไม่ต้องกลัวเรื่องความเฉา ทั้งนี้ก็ควรหมั่นรดน้ำสักสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง เพื่อไม่ให้ต้นแล้งจนตาย และห้ามเกิดน้ำขังบริเวณโคนต้นเด็ดขาดเพราะอาจทำให้มีปัญหารากเน่าตามมา
ราคาของต้นไม้
ราคาของต้นศรีตรังหรือแคฝอยนั้นค่อนข้างถูกกว่าไม้สำหรับประดับตกแต่งทั่วไป ถึงแม้รูปลักษณ์จะสวยงามชวนจับจ้องก็ตาม หากต้นสูง 1 ไม้บรรทัดจะมีราคาอยู่ที่ 15 บาท หากสูงหลายเมตรจะมีราคาตั้งแต่หลักพันต้น ๆ ขึ้นไป เหมาะแก่การซื้อหามาปลูกอย่างยิ่ง สามารถพบเจอได้ตามร้านขายต้นไม้ทั่วไปหรือช่องทางออนไลน์
และนี่ก็คือข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “ต้นศรีตรัง” ที่เราอยากให้เพื่อน ๆ ได้ทำความรู้จักกับเขาเอาไว้ เผื่อเกิดประโยชน์ในภายภาคหน้า บอกเลยว่าเขาเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ไม่ค่อยมีเวลาก็ปลูกได้ แต่กว่าจะเห็นดอกก็อาจจะต้องใช้ความอดทนรอคอยสักหน่อย หวังว่าทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ Plantlover