หากคุณรู้จักกับต้นประดู่หรืออยู่ในวงการคนรักต้นไม้ ก็น่าจะคุ้นเคยกับชื่อของ “ชิงชัน” กันมาบ้าง เขาคือหนึ่งในต้นไม้ใหญ่ สวยงาม น่าปลูก ประโยชน์มากมาย ดอกสวย ใบสวย หากคุณกำลังสนใจต้นไม้ดังกล่าว ไม่ว่าจะเพื่อนำไปปลูก หรือหาข้อมูลเพื่อจุดประสงค์อื่น วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเขามาฝากอย่างแน่นอน ส่วนจะมีอะไรน่าสนใจบ้างต้องตามมาดู
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ต้นไม้ราคาแพง
รู้จักกับ “ชิงชัน” ต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงา ประดับสวย มากประโยชน์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia oliveri Gamble
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ชื่อสามัญ : Rosewood
ชื่ออื่น : ประดู่ชิงชัน (ภาคกลาง), ดู่สะแดน (เหนือ)
ชิงชัน เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดหนองคาย เขามีถิ่นกำเนิดโดยตรงจากประเทศเมียนมาร์ ลาว และไทย โดยธรรมชาติกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศยกเว้นทางตอนใต้ และพบได้มากที่สุดตามป่าเบญจพรรณที่มีลักษณะเป็นป่าแล้งเสียส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถพบตามป่าเต็งรังได้เช่นกัน ต้นไม้สวยงามนี้มักเกิดอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสัก ไม้ไผ่ และด้วยความที่เขาเป็นไม้ป่า เกิดขึ้นได้ง่ายตามธรรมชาตินั้นจึงมีข้อควรระวังในการปลูกอยู่บ้าง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ชิงชันเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางไปจนถึงใหญ่ โดยมีความสูงราว ๆ 15 – 25 เมตร โดยส่วนใหญ่ที่เราเห็นกันทั่วไป แต่หากต้นของเขามีอายุมากก็มีโอกาสสูงได้ถึง 30 เมตรเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เปลือกของลำต้นมีสีน้ำตาลอมเทา คล้ายคลึงกันกับประดู่ ผิวของเขามีเกล็ดบาง ๆ ฝั่งด้านในเปลือกเป็นสีเหลือง
ใบ : เจ้าต้นนี้เป็นไม้ผลัดใบ ออกใบประกอบแบบขนนก แต่ละช่อมีใบย่อยประมาณ 11 – 18 ใบจะเรียงสลับตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปรี โคนมน ปลายใบมน มีติ่งแหลมออกมาเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวมันวาว ใต้ใบมีสีเขียวซีด ส่วนบนใบนั้นมีสีเขียวเข้ม
ดอก : ชิงชันจะออกดอกเป็นช่อเชิงประกอบที่บริเวณปลายกิ่ง และมักออกพร้อม ๆ กับการเกิดใบใหม่ ดอกของเขามีสีขาวอมม่วง มีกลีบดอกประมาณ 5-6 กลีบ พร้อมเกสรเพศผู้ เพศเมีย คล้ายกับดอกคูณอย่างมาก มักออกดอกตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ใครกำลังตามหาต้นไม้ที่มีดอกไม้สีม่วงสำหรับปลูกประดับเพื่อความสวยงามอยู่ ก็อย่าได้พลาดเด็ดขาด
ผล : ผลของเขารูปร่างหน้าตาค่อนข้างคล้ายคลึงกับผลของต้นประดู่ แต่แตกต่างกันทางด้านรูปทรง ลักษณะผลกลม มีปีกรอบ ๆ เป็นวงรี โคนและปลายผลแหลม แบน กว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร และมีความยาวประมาณ 8-17 เซนติเมตรโดยประมาณ ผิวเรียบ มีหนึ่งเมล็ดด้านใน ค่อนข้างหนาและแข็ง เมล็ดด้านในหากแก่แล้วจะมีสีน้ำตาล รูปคล้ายกับไต ส่วนใหญ่มักออกฝักตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน
ประโยชน์
ต้นชิงชันเป็นไม้ฟอกอากาศก็จริง แต่ด้วยขนาดของนั้นไม่เหมาะที่จะปลูกเอาไว้ในบ้านสักเท่าไร เนื้อไม้ของเขาแข็งชนิดที่ว่าหินยังเรียกพี่ เหนียว เลื่อยยาก ในอดีตผู้คนมักนำไม้ไปใช้ประโยชน์กันมากที่สุด ไม่ว่าจะผลิตเป็นด้ามเครื่องมือช่าง เฟอร์นิเจอร์สำหรับใช้สอย เป็นส่วนประกอบของด้ามปืน เครื่องดนตรีไทย และอีกมากมาย นอกจากนี้เขาก็ยังมาพร้อมสรรพคุณทางยา บำรุงโลหิต สมานบาดแผล รักษาแผลเรื้อรัง
เกร็ดความรู้
ชิงชันเป็นต้นไม้มงคล ไม่ต่างจากต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ ที่มาพร้อมความเชื่อมากมาย เนื่องจากเป็นไม้ที่หาได้ยากมาก ๆ ในปัจจุบันเราจึงไม่ค่อยเห็นเขาอยู่ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างสักเท่าไหร่ ซึ่งช่างสมัยก่อนจะไม่นิยมนำเนื้อไม้ชนิดนี้มาปูพื้นบ้านหรือทำบันได เนื่องจากเชื่อว่าไม้ชิงชันนั้นสูงส่ง และแม้ว่าจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก แต่เนื้อไม้ก็ยังมีราคาสูงมาก
การขยายพันธุ์ / ปลูก
สำหรับการขยายพันธุ์เจ้าต้นไม้นี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากประดู่มากนัก หลัก ๆ มักใช้การเพาะเมล็ดเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากทำง่าย และประหยัดค่าใช้จ่าย แถมให้ต้นที่เจริญเติบโตอย่างมั่นคง เพียงแต่ต้องเลือกเมล็ดพันธุ์จากต้นแม่ที่แข็งแรงสมบูรณ์สักหน่อย
ให้นำเมล็ดไปแช่น้ำอุ่นสัก 6 ชั่วโมงตามสูตร แล้วจึงนำไปเพาะชำลงถุงเพาะก็จะใช้เวลาราว ๆ 10 – 12 วันโดยประมาณใบจึงจะงอกออกมาเป็นกล้า เราจำเป็นต้องเลี้ยงเขาไว้ไปจนถึง 6 เดือน จึงจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การนำต้นกล้าไม้ไปปลูกลงดิน
เมื่อถึงขั้นตอนการปลูก ขอให้จงจำเอาไว้ว่า ชิงชันเติบโตได้ดีในดินทุกรูปแบบ เนื่องจากเดิมทีเป็นไม้ป่า จึงเกิดง่าย อยู่ง่าย แต่ทั้งนี้ก็ยังมีเรื่องที่ต้องกังวลก็คือสถานที่ปลูกไม่ควรอยู่ใกล้บ้านจนเกินไปเนื่องจากรากไม้ของเขาชอนไชกว้าง อาจทำให้โครงสร้างของบ้านเสียหายได้ในอนาคต และอีกหนึ่งสิ่งควรคำนึงถึงก็คือ ต้องปลูกเขาเอาไว้กลางแดดจัด เพื่อการเจริญเติบโตตามสมควร ให้น้ำเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้งก็เพียงพอต่อความต้องการแล้วล่ะ โดยภาพรวมถือเป็นต้นไม้ดูแลง่ายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
และนี่ก็คือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ชิงชัน” ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ดอกสวยงาม ประโยชน์มากมาย แต่ก็หาต้นใหญ่ยากเช่นกันในจังหวัดอื่น ๆ ยกเว้นหนองคาย หากคุณคือคนหนึ่งที่สนใจอยากปลูกเจ้าต้นนี้ สามารถไปตามหาเขา ณ ร้านจำหน่ายต้นไม้กันดูก่อนก็ได้ หรือจะสั่งเมล็ดจากร้านค้าออนไลน์มาลงมือเพาะเองก็ท้าทายไปอีกแบบ หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้ได้ที่ Plantlover.net