ถ้าบ้านใครปลูกจันทน์กะพ้อ ก็น่าจะเคยได้กลิ่นของดอกไม้ชนิดนี้ลอยมาเตะจมูกเป็นครั้งครา ด้วยความหอมอันยากจะอธิบาย แต่แอบแฝงความเป็นไทยโบราณ Notes ที่ชวนนึกถึงบ้านสวนทรงไทยหลังเก่า หากว่าคุณกำลังสนใจพันธุ์ไม้โบราณ เก่าแก่ เริ่มหาดูยาก อยากอนุรักษ์เอาไว้ วันนี้เรามาพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก ดูแลต้นไม้ และเรื่องคุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักจันทน์กะพ้อ ต้นไม้ไทยโบราณ หาดูยาก ดอกหอมแบบไหนกันนะ?
จันทน์กะพ้อ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์เดียวกันกับเต็ง รัง หรือยางนา ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากภูมิภาคเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และประเทศไทยทุกภูมิภาค แต่พบมากที่สุดทางภาคใต้ ตามธรรมชาติมักอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำและตามชายขอบป่าพรุ สมัยก่อนมักปลูกอยู่ในรั้ววัง ปัจจุบันพบได้น้อยมากจนกลายเป็นต้นไม้หายาก มีสถานะไม้ใกล้การสูญพันธุ์ สาเหตุหลักเนื่องมาจากขยายพันธุ์ยาก แม้เป็นไม้พื้นถิ่นแต่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่มาก ต้องปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม แม้โตช้าไปหน่อย แต่ถ้าต้นแข็งแรงเมื่อไหร่ก็พร้อมท้าชนกับทุกสภาพอากาศแปรปรวน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vatica diospyroides Symington
ชื่อวงศ์ : DIPTEROCARPACEAE (วงศ์ยางนา)
ชื่อสามัญ : Resak
ชื่อท้องถิ่น : เขี้ยวงูเขา (พังงา) และ จันทน์พอ จันทน์พ้อ (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ซึ่งมีความสูงอยู่ระหว่าง 5-15 เมตร ผิวเปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบ มีสีน้ำตาลอมเทา เรือนยอดกลม โปร่ง ใบน้อย มีน้ำยางใสซึมออกมาตามรอยแตก
ใบ : ออกใบเดี่ยวเรียงสลับกันที่บริเวณกิ่ง แผ่นใบขอบขนาน โคนใบสอบเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบเป็นติ่งแหลม ใบอ่อนจะมีสีน้ำตาลแดง แต่เมื่อแก่แล้วก็จะกลายเป็นสีเขียวเข้มขึ้นมา เนื้อใบไม่หนามาก
ดอก : จันทน์กะพ้อ ออกดอกเป็นช่อกระจะตามกิ่งหรือง่ามใบ ในหนึ่งช่อพบดอกย่อยสีเหลืองนวลจำนวนมาก รูปร่างคล้ายกังหันลม มี 5 กลีบดอก มีขนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย มักผลิดอกออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนมีนาคม แต่จะออกดอกดกและมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ส่งกลิ่นหอมแรง หอมร้อน ฟุ้ง แต่ไม่ฉุน อารมณ์คล้ายกับกลิ่นธูป ซึ่งแตกต่างจากดอกไม้ไทยชนิดอื่นค่อนข้างมาก
ผล : ทรงกลม ผิวเป็นขุยสีน้ำตาล เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ พบเมล็ดรูปไข่ด้านใน สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น
ประโยชน์อันน่าสนใจ
ในสมัยก่อนคนโบราณมักนำเอาดอกของต้นจันทน์กะพ้อมาผสมกับน้ำอบเพื่อเพิ่มกลิ่นความหอมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมไปถึงการกลั่นเพื่อทำน้ำหอม ทว่าปัจจุบันกลายเป็นของหายากแล้ว แม้มีความต้องการด้านการตลาดแต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น แถมยังต้องใช้เวลาอีกราว 5-6 ปี กว่าในหนึ่งต้นจะผลิดอกออกมาให้เห็น ด้านการนำเนื้อไม้มาใช้งานก็กลายเป็นเรื่องยากเช่นกัน ส่วนการปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับในสวน ก็ยังพอมีให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะคนรักต้นไม้โบราณ
การขยายพันธุ์
จันทน์กะพ้อ เป็นต้นไม้ใกล้สูญพันธุ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องการขยายพันธุ์ยากมากที่สุดอีกหนึ่งชนิด สามารถเพิ่มจำนวนประชากรต้นไม้ได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเป็นวิธีการที่สุ่มเสี่ยงเพราะโอกาสเกิดต้นใหม่มีเพียงร้อยละสิบโดยประมาณ ส่วนอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยได้ก็คือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนอยากลองเพาะเมล็ดด้วยตัวเอง ก็สามารถนำขั้นตอนที่เราแนะนำไปทดลองดูกันได้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– ถุงเพาะชำ
– เมล็ดจันทน์กะพ้อ
– ดินปลูก หรือดินร่วนธรรมดาผสมแกลบเล็กน้อย
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
1. ให้เราทำการเตรียมดินปลูก หรือใช้ดินร่วนผสมแกลบเล็กน้อย ใส่ลงในถุงเพาะชำเพื่อเป็นวัสดุสำหรับเพาะชำ
2. จากนั้นฝังเมล็ดลงไปในดินไม่ต้องลึกมาก แล้วใช้ดินอีกจำนวนหนึ่งกลบเอาไว้
3. รดน้ำเพื่อความชุ่มชื้น แต่ต้องระวังอย่าให้แฉะจนเกินไป
4. หากวางถุงเพาะชำเอาไว้ในพื้นที่ร่ม จะช่วยเพิ่มโอกาสการงอกมากกว่าอยู่กลางแจ้ง
5. หมั่นรดน้ำ และให้ปุ๋ยคอกไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 5 เดือน กว่าต้นที่งอกออกมาแล้วจะแข็งแรง ค่อยนำไปปลูกเป็นขั้นตอนถัดไป
การปลูก/ดูแล
พื้นที่ : เนื่องจากเขาเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง นอกจากชอบพื้นที่แจ้งแล้วก็ยังสามารถอาศัยอยู่ใต้ร่มไม้ ของต้นไม้ที่สูงใหญ่ได้เล็กน้อย ใครอยากปลูกต้นไม้ดอกหอมชนิดนี้ ควรเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมด้วย
แสง : ชอบแสงแดดตลอดทั้งวัน หรืออย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน
ดิน : เน้นดินร่วน สามารถระบายน้ำได้เป็นอย่างดี มีอินทรียวัตถุสูง
น้ำ : ชอบน้ำมาก ความชื้นในอากาศสูง แม้น้ำท่วมก็ยืนต้นอยู่ได้ ควรรดน้ำเขาวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอ
การค้ำยัน : ควรทำภายในหนึ่งปีแรก หลังจากปลูกลงดิน
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับจันทน์กะพ้อ ต้นไม้ที่หาดูได้ยากมากขึ้นแทบทุกวัน เพราะขยายพันธุ์ยาก แต่ทั้งนี้ก็พอมีให้เห็นอยู่บ้างโดยเฉพาะในตำบลเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการอนุรักษ์เอาไว้ค่อนข้างมาก และถ้าใครอยากปลูกบอกเลยต้องอดทน อดใจรอเขาออกดอกกันสักหน่อย สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net