กระถินเทพา เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่โตเร็วมาก ลายไม้สวย จึงค่อนข้างเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนมีพื้นที่เยอะ อยากปลูกต้นไม้เอาไว้ขาย หรือทำบ้านไม้สวย ๆ สักหลัง ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สักแถมใช้ระยะเวลาในการปลูกน้อยกว่า ปลูกขายได้ราคา ใครกำลังสนใจอยากหาต้นไม้สูงใหญ่เอามาลงในที่ดิน นี่คือสิ่งที่คุณควรต้องรู้เอาไว้
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “กระถินเทพา” ไม้ยืนต้นโตเร็ว ทำประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia mangium Willd.
ชื่อวงศ์ : Leguminosae (วงศ์ถั่ว)
ชื่อสามัญ : Sabah sal wood
ชื่ออื่น ๆ : กระถินซาบาห์
“กระถินเทพา” จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่อาจมีความสูงถึง 30 เมตรได้เลย ความสูงโดยเฉลี่ยของเขาจะอยู่ที่ราว ๆ 15 เมตร มีถิ่นกำเนิดมาจากต่างประเทศอย่างเช่น ประเทศออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย ก่อนกระจายพันธุ์ไปยังสถานที่อื่น ๆ สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่หลากหลายรูปแบบ และด้วยความที่เขาโตไวนี่ล่ะเลยทำให้เป็นต้นไม้น่าปลูก ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนไม่น้อย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลำต้นของเขาสูงโปร่ง กลมและยาว อาจมีความสูงได้ถึง 15-30 เมตร เรือนพุ่มกลม ไม่หนาแน่น เปลือกลำต้นสีขาว – เทา เปลือกค่อนข้างเหนียว ผิวขรุขระ แตกสะเก็ด เมื่ออายุมากขึ้น ผิวเปลือกก็จะยิ่งหนา
ใบ : กระถินเทพา เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มักออกใบที่บริเวณปลายกิ่ง จึงมีพุ่มที่ค่อนข้างบาง เส้นใบของเขาขนานกัน หากใบแก่จะมีสีเขียวเป็นมัน
ดอก : ดอกของเขาจะมีความคล้ายคลึงกับกระถินณรงค์อย่างมาก โดยจะมีการออกดอกเป็นช่อยาวเหมือนหางกระรอก ดอกสีขาวครีมความยาว 10 เซนติเมตร
ผล : ส่วนผลของเขาจะออกแบบเป็นฝักยาวแล้วบิดเป็นก้อนค่อนข้างมีเอกลักษณ์ เมื่อนำฝักมาแกะดูจะพบกับเมล็ดสีดำ ด้านในจำนวนมาก
กระถินเทพาต่างจากกระถินณรงค์อย่างไร?
ถึงแม้ว่าใบและดอกของเขาจะเหมือนกันจนแทบแยกไม่ออก แต่ความแตกต่างของทั้งสองกระถินนั้นมีแน่นอน ให้สังเกตง่าย ๆ ว่ากระถินณรงค์เป็นต้นไม้ที่คดงอ แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ ส่วนกระถินเทพาจะมีลักษณะลำต้นตรงขึ้นฟ้า จึงนำมาทำเฟอร์นิเจอร์หรือใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ได้มากกว่า
ประโยชน์
– กระถินเทพา เป็นไม้เนื้อไม่แข็งหรืออ่อนจนเกินไป จัดอยู่ในระดับกลาง ๆ จึงเหมาะแก่การนำมาทำบ้านเรือน บ้านน็อกดาวน์ ลายไม้สวยเหมือนไม้สัก แถมยังช่วยดูดซับความร้อนได้ดีเมื่อนำมาทำเป็นฝ้า แต่ไม่เหมาะกับการนำไปทำเป็นคอกหรือเล้าหมูเนื่องจากเนื้อไม้มีความแข็งแรงไม่มากพอ ทนทานต่อแรงสัตว์ใหญ่ได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
– ไม่แนะนำให้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับสักเท่าไร เนื่องจากเมื่อระยะเวลา 10 ปีผ่านไป เนื้อด้านในต้นไม้จะกลวงและตายลงไปในที่สุด จำเป็นต้องตัดในระยะเวลา 6 – 10 ปีเท่านั้น
– นอกจากนี้เขาก็ยังเป็นพืชปรุงดินอีกด้วย เนื่องจากเจ้ากระถินชนิดนี้เป็นพืชตระกูลถั่ว รากของเขามีปุ่มปม จะช่วยทำให้ดินดีมากยิ่งขึ้น ดินชุ่มชื้น ไม่แห้งเสีย
– เป็นต้นไม้ที่สามารถตัดขายเนื้อได้เร็วกว่าต้นไม้บางชนิด ทันใจคนปลูก แถมยังไม่ต้องดูแลมากมาย
การขยายพันธุ์
สำหรับการขยายพันธุ์ต้นกระถินชนิดนี้ หลัก ๆ ก็จะสามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก เนื่องจากกิ่งของเขาอยู่ค่อนข้างสูง จึงอาจจะทำให้ตอนได้ยาก ซึ่งข้อดีของการเพาะเมล็ดก็มีหลากหลาย ทำให้รากแข็งแรง และไม่ติดเชื่อที่มาจากต้นแม่ ทำให้ต้นเติบโตอย่างแข็งแรง สำหรับเพื่อน ๆ ที่อยากลองเพาะเมล็ดต้นไม้ เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากด้วยล่ะ
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– เมล็ดกระถินเทพา
– ดินทราย
– กระถาง
– น้ำอุ่น
ขั้นตอนการเพาะเมล็ด
1.นำเมล็ดต้นไม้ไปแช่น้ำอุ่นทิ้งเอาไว้เป็นเวลา 1 คืน
2.จากนั้นให้เรานำดินทรายมาใส่ลงในกระถางมีรูระบายน้ำที่ก้น หรือจะใช้เป็นถุงดำสำหรับเพาะเมล็ดก็ได้ ในปริมาณ 3/4 ของกระถาง
3.จากนั้นนำเมล็ดที่แช่น้ำอุ่นทิ้งไว้ครบ 1 คืนมาจิ้มลงไปในดินทราย แล้วกลบหน้าดินเล็กน้อย รดน้ำอย่างเบามือ แล้ววางกระถางเอาไว้ในพื้นที่ที่มีแสงแดดรำไร
4.อาจต้องรอเวลาถึง 15 วันกว่าต้นกล้าจะโผล่พ้นดิน ให้เราเลี้ยงเขาต่ออีกสักหน่อย หากต้นกล้าเบียดกันมากก็สามารถย้ายต้นเพื่อลดความแออัดได้เช่นกัน
5.จะใช้เวลาประมาณ 4 – 5 เดือนในการเลี้ยงต้นกล้า ก่อนนำไปปลูกลงยังพื้นที่ที่เราต้องการ
การปลูก / ดูแล
กระถินเทพา เป็นต้นไม้ทนแล้งดี สามารถปลูกลงดินได้หลากหลายรูปแบบ ส่วนเรื่องแสงก็ขอให้เป็นพื้นที่กลางแจ้งเอาไว้ก่อน เมื่อเขาโตเต็มที่ หากปลูกหลายต้น ใบก็จะเป็นพุ่มบดบังแสงแดด ทำให้แสงส่องลงมาถึงหน้าดินได้น้อย ดินจึงไม่ค่อยเสียความชุ่มชื้น และไม่ต้องรดน้ำบ่อย สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้งก็เพียงพอ ส่วนในช่วงฤดูฝนก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย
และนี่ก็คือเรื่องราวของเจ้าต้นกระถินเทพา ที่เราได้นำเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากเพื่อน ๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง เห็นแล้วใช่ไหมล่ะ ว่าเจ้าต้นนี้น่าสนใจมากแค่ไหน บอกเลยว่าปลูกแค่ 6 ปีก็อาจได้ไม้หน้า 6 ถึงหน้า 8 นำมาปลูกสร้างบ้านเรือนสำหรับอยู่อาศัยได้สบาย ๆ ไม่ต้องลงทุนเยอะ ประหยัดงบประมาณขึ้นไปอีก
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net