ไผ่ญี่ปุ่น หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนามของ ไผ่มังกรทอง จริง ๆ เจ้าต้นนี้ไม่ใช่สกุลไผ่ แต่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับไผ่ และคนไทยก็เพิ่มเติมชื่อเรียกเข้าไปเพื่อความเป็นสิริมงคล น่าปลูกมากยิ่งขึ้น สำหรับคนที่อยากลองเลี้ยง บอกเลยว่าเขาเป็นพันธุ์ไม้สวยงามที่เหมาะแก่การประดับตกแต่ง แถมยังดูแลง่าย ขยายพันธุ์เองได้ ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักกับเจ้าไผ่ต้นนี้ให้มากยิ่งขึ้นกันเลยดีกว่า
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ไผ่ญี่ปุ่น” หรือ “ไผ่มังกรทอง” ไม้ประดับน่าปลูก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena surculose
ชื่อวงศ์ : Asparagaceae (วงศ์หน่อไม้ฝรั่ง)
ชื่อสามัญ : Gold dust dracaena, Gold dust plant, Spotted dracaena
ไผ่ญี่ปุ่น ความจริงแล้วเขาไม่ใช่ไผ่ และไม่ได้สืบสกุลมาจากไผ่แต่อย่างใด ทว่ากลับเป็นไม้ในสายเดียวกันกับ Dracaena หรือจำพวกต้นวาสนาที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี แถมยังไม่ได้มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นอีกต่างหาก พบเจอครั้งแรกในบริเวณเขตร้อนชื้นของแอฟริกา เบนิน ไอวอรีโคสต์ แคเมอรูน โตโก กานา และไนจีเรีย เป็นต้น หากมองไปถึงสภาพแวดล้อมของประเทศต้นทางแล้วก็จะพบว่า มีความคล้ายคลึงกับประเทศเราอยู่บ้าง นำไม้ไผ่สวยงามต้นนี้มาปลูกยังประเทศไทยได้สบาย ๆ ในทุกภูมิภาคกันเลยทีเดียว
ความเชื่อ
หากพินิจตามหลักฮวงจุ้ยของชาวจีนก็มองว่า ไผ่นั้นเป็นไม้มงคล เป็นตัวแทนของความสง่างาม หากบ้านใดปลูกต้นไผ่เอาไว้ก็จะช่วยในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ความเอื้ออารี ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ความกตัญญูกตเวที แต่ถ้าบ้านเราขนาดเล็กเกินไป พื้นที่น้อย อยู่บนคอนโด ก็สามารถใช้เจ้าไผ่ญี่ปุ่นเป็นตัวแทนได้เช่นกัน ยิ่งถ้าตั้งชื่อว่ามังกรทองแล้วล่ะก็ ยิ่งทวีความมงคลเข้าไปใหญ่ น่ามีไว้ครอบครองเป็นอย่างยิ่ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เจ้าต้นนี้เป็นไม้พุ่มที่อาจมีความสูงถึง 1 – 2 เมตรกันเลยทีเดียว ทว่าส่วนใหญ่เมื่อปลูกเป็นไม้ประดับก็จะถูกควบคุมเอาไว้ให้เป็นพุ่มสูงไม่ถึง 80 เซนติเมตร ลำต้นงอกออกมาจากพื้นดินเฉกเช่นเดียวกันกับไผ่ มีลักษณะทรงกระบอกแคบ เป็นข้อปล้อง แตกกิ่งจากโคนจนเกิดเป็นพุ่มแน่น
ใบ : ส่วนใบของเขาจะออกเป็นคู่ตรงข้ามกันที่ปลายยอดของลำต้น มีกาบหุ้มใบ แผ่นใบรูปรี ปลายแหลมกว่าโคน ขอบใบเรียบ โดดเด่นด้วยสีสันพื้นเหลืองอมเขียว ลายด่างอ่อน พร้อมแถบสีเขียวที่พาดจากโคนไปถึงบริเวณปลายใบ เส้นใบค่อนข้างชัด
การขยายพันธุ์
สำหรับการขยายพันธุ์ต้นไม้แต่งบ้านสวยงามอย่างไผ่ญี่ปุ่นต้นนี้ โดยหลักแล้วก็มักจะทำด้วยวิธีการปักชำเป็นหลัก ไม่ว่าจะชำน้ำ หรือชำลงกับดินเลยก็มีโอกาสติดรากสูง แต่สำหรับวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการชำน้ำที่ง่าย และเหมาะจะปลูกต้นไผ่ในทุกช่วงฤดู ซึ่งสามารถทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– แก้วน้ำ
– เครื่องดื่มชูกำลัง
– กรรไกรตัดกิ่ง
– ไผ่ญี่ปุ่นต้นแม่
ขั้นตอนวิธีการชำต้นไผ่
1.ให้เราทำการเลือกไผ่ต้นแม่ที่สมบูรณ์แบบ ไม่ติดโรคใด ๆ มาก่อน
2.จากนั้นก็ทำการใช้กรรไกรตัดกิ่งที่เราต้องการจะชำออกมาด้วยความยาวประมาณ 5 – 8 เซนติเมตรจากปลายกิ่ง แนะนำว่าควรเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป เพื่อให้เขาติดรากได้ง่าย
3.จากนั้นให้เรานำน้ำเปล่าใส่แก้วจนเกือบเต็ม และเติมเครื่องดื่มชูกำลังลงไปเพียง 1/2 ของฝาเท่านั้น หากใส่เยอะเกินไปก็อาจส่งผลเสียทำให้รากไม่งอกได้
4.นำกิ่งไผ่ญี่ปุ่นแช่ลงไปในน้ำแล้วรอประมาณ 1 เดือน รากสีขาวก็จะงอกออกมาเป็นจำนวนมากพร้อมลงปลูกในดินแล้วล่ะ
การปลูก
ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นต้นไม้สวยๆ ปลูกง่าย สามารถเติบโตได้ดีในดินหลากหลายรูปแบบ ดินเลน น้ำขัง ดินเหนียว ก็ปลูกได้ แต่เราก็ควรจะปลูกเขาลงในดินที่ดีจะดีกว่า เพื่อให้เกิดเป็นพุ่มสวยงาม ดูแลง่าย แนะนำให้ใช้ดินร่วน ระบายน้ำเก่ง โดยการผสมดินปลูก 1 ส่วน / อินทรียวัตถุ 1 ส่วน / เปลือกถั่วลิสงแห้งหรือเศษใบไม้ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำมาใส่กระถาง เอาต้นไผ่ที่ชำน้ำจนรากงอกแล้วมาปลูกลงได้เลย ช่วงแรกจะต้องหมั่นรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นหน่อยเพื่อเป็นตัวช่วยให้เขาติดรากง่ายขึ้น
การดูแล
แสง : เจ้าต้นนี้ต้องการแสงแดดเพียงช่วงหนึ่งประมาณ 4 – 6 ชั่วโมงต่อวัน แนะนำเป็นแดดอ่อน ๆ ช่วงเช้าจะดีกว่าช่วงบ่าย หรือถ้าใครปลูกต้นไม้ในบ้าน เอาไว้แต่งห้อง แต่งโต๊ะทำงาน ก็ควรวางเขาเอาไว้ริมหน้าต่างเพื่อให้สัมผัสกับแสงแดดอย่างเพียงพอ
ดิน : อย่างที่บอกไปแล้วว่าเขาสามารถเติบโตได้ดีในดินหลากหลายรูปแบบ สามารถปลูกเอาไว้นอกบ้านกับดินร่วนปกติได้เลย
น้ำ : ไผ่ชนิดนี้ชื่นชอบน้ำปานกลางถึงน้อยมาก ไม่ต้องรดน้ำบ่อย ทำเพียงแค่สัปดาห์ละ 3 ครั้งเขาก็อยู่ได้แล้วล่ะ และถึงแม้ว่าจะทนแล้งได้ดีแต่ก็ไม่ควรปล่อยให้ต้นไผ่ขาดน้ำนาน ๆ นะ เพราะเขาอาจตายได้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไผ่ญี่ปุ่น ที่ไม่ใช่ไผ่จริง ๆ และไม่ได้มาจากญี่ปุ่น หน้าตาน่ารัก เลี้ยงดูง่าย เสริมความเป็นมงคลให้แก่บ้าน เหมาะสำหรับคนไม่มีเวลาดูแลต้นไม้มากนัด ใครเป็นแม่ยอดนักเดินทางหรือนักศึกษาต้องเรียน ทำงานหนัก ๆ เลี้ยงเขาได้อย่างแน่นอน สุดท้ายนี้เราหวังว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้นานาพันธุ์ได้ที่ Plantlover.net