คนไทยคุ้นเคยกับ “พลู” ใบไม้สีเขียว รสเผ็ดร้อนกันมาอย่างช้านาน แต่สำหรับ “พลูปีกนก” เจ้าต้นนี้แตกต่างออกไป เพราะเขามีฐานะเป็นเพียงไม้ประดับในสกุล Monstera สำหรับปลูกเพื่อประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม มีคุณค่าทางจิตใจเท่านั้น หากคุณอยากรู้จักกับเจ้าพืชสายพันธุ์นี้ พร้อมวิธีการปลูก ดูแลรักษา ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรต้องรู้เอาไว้ ก่อนปลูกเลี้ยงต้นไม้!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “พลูปีกนก” หรือ “พลูระเบิด” ไม้เลื้อยประดับสวน มีอะไรน่าสนใจ?
พลูปีกนก เป็นไม้เลื้อยที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว แรกเริ่มเดิมทีมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางแถบประเทศเปรู เวเนซูเอล่า รวมถึงแอฟริกาใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในโซนภูมิประเทศเขตร้อน ต้นไม้เติบโตได้อย่างดีในเขตร้อนชื้นอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยของเรา เมื่อนำเข้ามาปลูกแล้วดูแลง่าย โตไว ค่อนข้างเหมาะเป็นไม้ประดับต้นแรกสำหรับมือใหม่หัดปลูกอย่างยิ่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monstera sp. Karstenianum
ชื่อวงศ์ : Araceae (วงศ์บอน)
ชื่อสามัญ : Monstera Peru
ชื่อไทยอื่น : พลูใบย่น
ความเชื่อ
คนไทยเชื่อว่าพลูปีกนก เป็นไม้มงคลปลูกในบ้านได้ ช่วยเสริมฮวงจุ้ย ให้บ้านสงบ ร่มเย็นเป็นสุข เพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่บ้านและผู้อยู่อาศัย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : เป็นไม้เลื้อยที่มีลำต้นทรงกระบอกขนาดเล็ก ตามลำต้นพบข้อปล้องชัดเจน ตามข้อปล้องมีรากอากาศงอกออกมาช่วยในการหาอาหาร และต้นของเขาสามารถเลื้อยเกาะเกี่ยวไปตามกิ่งไม้หรือเสาหลักต่าง ๆ ได้ตามใจต้องการ
ใบ : เป็นใบเดี่ยวทรงรี หรือรูปไข่กว้าง ใบสีเขียวอมเหลืองมันเงา ผิวใบย่นและนูนยกขึ้นเด่น ลวดลายใบชัดเจน เส้นใบชัด เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ ใบไม่สมมาตรกัน โดยฝั่งหนึ่งกว้างและฝั่งหนึ่งแคบ จึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในไม้สกุลมอนสเตอร่า
ดอก : ออกมาในรูปแบบช่อเชิงลด มีกาบที่บริเวณปลายยอด และประกอบไปด้วยดอกย่อยขนาดเล็กมากมายที่มีสีขาว ส่วนมากมักปลูกเอาไว้ชมใบมากกว่าชมดอก
ประโยชน์
พลูปีกนก เป็นไม้ฟอกอากาศ จึงเหมาะสำหรับปลูกในบ้าน ออฟฟิศ หรือแม้กระทั่งปลูกหน้าบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ความรู้สึกสดชื่น นอกจากนี้ยังนิยมปลูกเป็นไม้กระถางสำหรับตกแต่งตามตึกรามบ้านช่อง ในขณะขณะเดียวกันก็สามารถปลูกให้เขาไต่ไปตามต้นไม้ใหญ่แบบไม้อิงอาศัยก็สามารถทำได้เช่นกัน
การขยายพันธุ์
พลูปีกนก ขยายพันธุ์ง่าย ไม่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่แล้วก็มักใช้วิธีการชำกิ่ง หรือชำยอดเป็นหลัก สามารถทำได้ทั้งการชำในดินปกติ และชำน้ำซึ่งเตรียมวัสดุน้อยกว่า และถ้าหากว่าคุณคือมือใหม่หัดปลูกต้นไม้ อยากลองเพิ่มจำนวนประชากรเจ้าพลูต้นนี้ด้วยตัวเอง เรามีเคล็ดไม่ลับในการเพาะพันธุ์อันน่าสนใจมาแนะนำ สามารถทำตามนี้กันได้เลย ดังนี้
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– แก้วน้ำหรือภาชนะใส่น้ำสำหรับปักชำ
– ปูนแดง
– เครื่องดื่มชูกำลัง 5 ช้อนโต๊ะ
– กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
– น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
– ผงชูรส 1 ช้อนโต๊ะ
– กรรไกรตัดกิ่ง
– พลูปีกนกต้นแม่พันธุ์
ขั้นตอนที่ 1 ทำน้ำยาเร่งราก
หากใช้น้ำยาเร่งรากมาช่วยในการชำต้นไม้ จะช่วยย่นระยะเวลาการงอกของราก ให้เกิดขึ้นเร็วมากยิ่งขึ้น โดยใช้เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำตาลทราย กะปิ และผงชูรส มาผสมคลุกเคล้า และเขย่าให้เข้ากัน ใช้ผสมน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1:3
ขั้นตอนที่ 2 การชำยอด
2.1 ผสมน้ำยาเร่งรากสูตรทำเองเข้ากับน้ำเปล่าด้วยอัตราส่วน 1:3 ลงในภาชนะอย่างเช่นแก้วน้ำ
2.2 จากนั้นใช้กรรไกรตัดกิ่ง หรือมีดคม ๆ ตัดยอดของต้นพลูปีกนกออกมา
2.3 ตัดหนึ่งยอดเป็นหลายท่อน โดยเลือกตัดจากใต้ข้อใบ
2.4 ใช้ปูนแดงทาที่แผลของต้นแม่ และแผลของแต่ละท่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
2.5 จากนั้นจุ่มแต่ละข้อที่ตัดลงไปในแก้วซึ่งมีส่วนผสมของน้ำเปล่าและน้ำยาเร่งราก
2.6 วางเขาเอาไว้ในพื้นที่ร่ม แต่มีแสงฟุ้งกระจาย รอสักประมาณ 25-30 วัน หรือรากงอกออกมาประมาณหนึ่งก็สามารถนำไปปลูกลงดินเป็นขั้นตอนถัดไปได้แล้วล่ะ
การปลูก/ดูแล
ดิน : พลูปีกนกเป็นไม้ประดับ ดูแลง่ายสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินทั่วไป แต่ต้องมีความโปร่ง อินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี สามารถใช้ดินปลูกทั่วไป ผสมอินทรียวัตถุ กาบมะพร้าวสับ และเปลือกถั่วลิสงแห้งอย่างละ 1 ส่วนได้เลย หากปลูกลงในกระถาง
แสง : เป็นพืชที่ไม่ควรถูกแสงแดดโดยตรง ขอเพียงแสงแดดรำไร ใต้ร่มไม้ใบบัง หรือถ้าปลูกเอาไว้ในห้อง ก็ควรหลีกเลี่ยงริมหน้าต่างเนื่องจากมีโอกาสถูกแดดเผา และที่สำคัญ ห้ามให้ต้นไม้อยู่ในที่มืดจนเกินไป
น้ำ : ชอบความชื้นสูง หากปลูกในดินที่เก็บความชื้นดี ก็สามารถรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้งได้เลย
ปุ๋ย : เน้นใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13 เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโต
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “พลูปีกนก” ไม้ประดับสวยงาม ยอดนิยม ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองไปทำความรู้จัก เป็นอย่างไรบ้างคะ มองว่าน้องน่าสนใจมากเลยใช่ไหมล่ะ ใครอยากปลูกบอกเลยดูแลไม่ยากถ้ามีร่มไม้ใบบังหรือสถานที่ความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่า สิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net