หากคุณกำลังตามหาไม้ประดับฟอร์มเท่ สำหรับตกแต่งสวนน้ำตก สวนหิน หรือสวนแห้ง “ปรงเขา” ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ปรงอันน่าสนใจ เพราะนอกจากจะเพิ่มความสวยงามแล้ว ยังสร้างพลังให้แก่พื้นที่ โดยรวมถือว่าดี แต่…ไม่เหมาะสำหรับคนใจร้อนสักเท่าไร เนื่องจากช้า ถ้าหากว่าคุณคือคนใจเย็น สามารถรอผลผลิตใบสวย ๆ ของเขาได้ไม่เร่งรีบ เรามาทำความรู้จักกับปรงต้นนี้ไปพร้อมกันเลยดีกว่า
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ปรงเขา” ปรงภูเขา ฟอร์มสวยเท่ กับเรื่องที่คนอยากปลูกต้องรู้!
ชื่อสามัญของ “ปรงเขา” บ่งบอกถึงถิ่นที่พบปรง สายพันธุ์นี้เป็นแห่งแรกนั่นก็คือเนปาล แต่ความจริงแล้วเขาเป็นพืชที่มีพื้นถิ่นมาจากหลากหลายประเทศ เริ่มตั้งแต่อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ เวียดนาม พม่า ลาว และประเทศไทย ซึ่งพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังทั่วไป ปัจจุบันมีการนำมาเพาะพันธุ์ปลูกขายเป็นไม้ประดับที่มีราคาแพงเอาเรื่อง เนื่องจากหลายปัจจัย เติบโตค่อนข้างช้า และถ้าใครอยากเห็นต้นปรงใหญ่ สวย แข็งแรงก็อาจจะต้องใช้เวลานานนับสิบปีเลยทีเดียว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cycas Pectinata
ชื่อวงศ์ : Cycadaceae (วงศ์ปรง)
ชื่อสามัญ : Nepal Cycas
ชื่อท้องถิ่น : ปรงอัสสัม (ภาคกลาง), กา กาเดาะ กูดหลวา แข่ดู่ ทอคลิ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะพร้าวเต่าดอย มะพร้าวเต่าหลวง (ภาคเหนือ)
ความเชื่อ
คนไทยเขาถือว่าห้ามปลูกต้นปรงเอาไว้ในบริเวณบ้าน เป็นต้นไม้ไม่มงคล เนื่องจากคำว่า “ปรง” มีการออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ปลง” ซึ่งมีความหมายว่าปล่อย ยกลง หรือวางลง ฟังดูแล้วน่าเหนื่อยหน่ายใจ ในขณะเดียวกันใบปลงก็ยังนิยมนำมาตกแต่งหีบศพอีกด้วย แต่ถ้าพูดกันตามหลักความจริง กลิ่นของดอกปรงนั้นเป็นอันตรายต่อระบบประสาท และมีหนาม จึงไม่ควรปลูกไว้ในพื้นที่มีเด็กเล็ก หรือสัตว์เลี้ยง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (ทั่วไป)
ลำต้น : ปรงเขามีลำต้นเดี่ยวสูงตั้งแต่ 3-12 เมตรโดยประมาณ สามารถแตกกิ่งได้ แต่พบน้อยมาก เป็นพืชที่มีทั้งต้นตัวผู้ และต้นตัวเมีย ต้นโตช้า กว่าจะสูงขึ้นถึง 30 เซนติเมตรก็ใช้เวลานานหลายปี
ใบ : ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียนรอบลำต้นเป็นชุด สัณฐานใบย่อยรูปหอก ยาวรี ปลายแหลม เนื้อใบแข็ง ผิวใบสีเขียวอมฟ้า และจะทิ้งใบไปเป็นชุด ๆ เช่นกัน มีหนามใต้ใบ ภาพรวมของใบชูพุ่งขึ้นฟ้า ดูสวยงาม และมีพลัง
ประโยชน์
ปรงเขา เป็นไม้ประดับฟอร์มสวยเท่ ทรงพลังที่สามารถเข้ากันได้กับการจัดสวนแทบทุกรูปแบบ ตั้งแต่การจัดสวนน้ำตก สวนป่าเขตร้อน สวนหิน หรือแม้กระทั่งสวนแห้งใช้น้ำน้อย ปลูกเรียงรายไปกับบรรดาต้นไม้อื่นแล้วแต่ว่าเราจะอยากให้ปรงนั้นกลมกลืน หรือโดดเด่นสะดุดตา
การขยายพันธุ์
นอกจากโตช้าแล้ว ปรงเขาก็ยังเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ยากอีกต่างหาก ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเจาะลึกด้านรายละเอียด เมล็ดของเขาก็ค่อนข้างแข็ง ปลูกยาก และต้องใช้ระยะเวลารออย่างเนิ่นนาน จึงเหมาะสำหรับคนที่สามารถรอได้จริง ๆ หากเพื่อนๆ อยากลองขยายพันธุ์ต้นปรงด้วยตัวเอง ก็สามารถนำวิธีการดังด้านล่างไปใช้กันได้เลย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
– ภาชนะมีรูระบายที่ก้น หรือถุงเพาะชำ
– ผลปรงเขา
– มีดทำครัวขนาดเล็ก
– ใบเลื่อยตัดเหล็ก (ราคาประมาณ 20 บาท)
– ดินปลูกทั่วไป หรือพีทมอส (ตามสะดวก)
ขั้นตอนวิธีการเพาะเมล็ดปรงภูเขา
1. นำผลปรงแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 6 วัน เพื่อให้ ขน เปลือก และเนื้อของเขาจะอ่อนนุ่มลง
2. จากนั้นใช้มีดทำครัวขนาดเล็ก เล็มเปลือกและเนื้อออกจนเกลือเพียงแค่เมล็ด
3. ใช้เลื่อยตัดเหล็ก เลื่อยบริเวณจุกแหลมของเมล็ด จนถึงเนื้อด้านในเมล็ดเห็นเป็นสีขาว เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการงอก
4. จากนั้นนำดินปลูก ใส่ลงในถุงเพาะชำ
5. ฝังเมล็ดปรงเขาลงในดินตามแนวนอน จากนั้นใช้ดินกลบ และรดน้ำตามจนเกิดความชุ่มชื้น วางถุงเพาะชำเอาไว้ในพื้นที่แสงแดดรำไร หมั่นรดน้ำทุกวัน
6. ใช้เวลาประมาณ 80 กว่าวันใบของเขาจะโผล่ขึ้นมา รอจนกว่าต้นจะแข็งแรงค่อยนำไปปลูกลงดินต่อไป
การปลูก/ดูแล
แสง : ปรงเขา เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดในการเจริญเติบโต และทนแดดจัดได้ดี แนะนำให้ปลูกเขาเอาไว้กลางแจ้ง หรือใต้ร่มไม้ใบบัง แต่ยังโดนแสงส่องถึง 60%
ดิน : ใช้ดินร่วนแบบธรรมดาทั่วไป ไม่ต้องการการบำรุงเป็นพิเศษ
น้ำ : ทนทานต่อการขาดน้ำติดต่อกันนานหลายวัน รดน้ำเพียงสัปดาห์ละ 3-5 ครั้งก็เพียงพอ
ปุ๋ย : ไม่ต้องบำรุงเป็นพิเศษ
การตัดแต่งกิ่ง : ช่วยตัดกิ่งที่แห้งแล้วทิ้ง โดยเลือกตัดชิดติดโคนลำต้น เพื่อความสวยงาม ลดปัญหาที่จะตามมาภายหลัง
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับเรื่องราวของ “ปรงเขา” ไม้ประดับ แต่งสวนได้หลากหลายรูปแบบ ฟอร์มเท่ ช่วยเพิ่มความโดดเด่น สะดุดตา แถมยังปลูก และดูแลง่าย น้องไม่ค่อยงอแงเหมือนต้นไม้ชนิดอื่น แถมยังทนต่อการขาดน้ำจึงเหมาะสำหรับการจัดสวนแบบน้ำน้อย ถ้าบ้านใครไม่ค่อยมีน้ำ แต่อยากมีสวนสวย ๆ แนะนำให้ลองนำปรงชนิดนี้ไปปลูก แต่ทั้งนี้มองว่าปรงเป็นพืชที่ค่อนข้างเหมาะสำหรับคนใจเย็น รอเห็นการเติบโตของเขาได้แบบไม่รีบร้อน ปลูกแบบลืม ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก หันมาอีกทีสวยเลย!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net