“ต้นหนวดปลาหมึก” เป็นไม้ใบสวยที่แอบมีความคล้ายคลึงกับตีนเป็ดอยู่บ้าง เขามีชื่อเสียงโด่งดังอย่างสม่ำเสมอในวงการคนรักต้นไม้ จนกระทั่งความต้องการเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากความสวยงาม ความเชื่อ การปลูกรวมถึงการดูแลรักษาให้เขาเติบโตก็เป็นไปอย่างง่ายดาย วันนี้ Plantlover จะชวนคุณมา ขยายข้อมูลแบบเจาะลึกเกี่ยวกับเจ้าต้นไม้ชนิดนี้กัน และนี่คือสิ่งที่คนอยากปลูกต้องรู้!!
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
ต้นหนวดปลาหมึก ไม้ประดับใบสวย น่าสนใจอย่างไร?
ชื่อภาษาอังกฤษ : Umbrella Tree, Octopus tree
ชื่อภาษาไทย : หนวดปลาหมึก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Schefflera actinophylla (Eudl.) Harms
ชื่อวงศ์ : ARALIACEAE
“ต้นหนวดปลาหมึก” เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ใบเขียวมัน ลักษณะคล้ายคนกางนิ้วมือ เจ้าต้นนี้มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง “อินโดนีเซีย” และรัฐควีนส์แลนด์ ปาปัวนิวกินี ในปัจจุบันเราสามารถพบเจอเขาได้ทั่วไป คนนิยมปลูกเอาไว้เพื่อตกแต่งสวนให้สวยงามได้หลากหลายแนวนอกจากนี้เขายังมาพร้อมประโยชน์มากมาย แถมดูแลง่ายอีกด้วย
ความเชื่อเกี่ยวกับต้นไม้ชนิดนี้
นอกจากการเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแล้ว เพื่อน ๆ ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงต้นไม้ชนิดนี้นั้นเป็นไม้มงคลดี ๆ ช่วยเสริมฮวงจุ้ยตามความเชื่อของชาวจีน เนื่องจากลักษณะใบที่แผ่ออก ปลายมนคล้ายคนกางนิ้วมือ เชื่อว่าเขาจะเป็นมือที่ช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากชีวิตของผู้อยู่อาศัยในบ้าน
ลักษณะทางพฤกษาศาสตร์
ต้น : ลำต้นจะมีลักษณะตั้งตรง เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ความสูงอยู่ที่ราว ๆ 2 เมตร หรืออาจสูงได้ถึง 15 เมตรเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ มีรากอากาศห้อยตามลำต้นหรือกิ่ง
ใบ : ส่วนใบของเขาจะเป็นใบแบบประกอบเรียงเวียนสลับ รูปคล้ายนิ้วมือ มีความรี ขอบขนาน ปลายใบติ่งแหลมหรือมน โคนใบก็เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นหนาและเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน
ดอก : ดอกของไม้ประดับชนิดนี้เรียกได้ว่าสวย ยิ่งใหญ่ อลังการพอสมควร สามารถหาชมได้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – กรกฎาคมของทุกปี โดยลักษณะออกเป็นช่อคล้ายกับซี่ร่ม ตั้งขึ้น แผ่กระจาย มีความยาวราว ๆ 50 – 70 เซนติเมตร มีสีชมพู ออกดอกบนแกนช่อ ในหนึ่งดอกมีด้วยกันทั้งหมด 5 กลีบ แต่ละกลีบรูปทรงสามเหลี่ยม ปลายโค้งเข้า จะมีเกสรตัวเพศผู้ 13 อัน ส่วนฐานรองดอกจะพัฒนาไปเป็นเมล็ดในเวลาถัดมา
ประโยชน์ของต้นหนวดปลาหมึก
นอกจากเขาจะเป็นไม้ประดับเพื่อความมงคลสวยงามแล้ว ยังมาพร้อมคุณสมบัติดี ๆ ความพิเศษมากมาย หลัก ๆ คือหารช่วยดูดกรองสารพิษได้ดี เพิ่มความชื้นในอากาศ หรือหากปลูกไว้ที่บริเวณสวนหย่อมหน้าบ้านก็ช่วยคัดกรองไม่ให้อากาศเสียเข้าบ้านได้ด้วย หรือจะปลูกเพื่อให้ร่มเงาก็ดีเช่นกัน
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์หนวดปลาหมึก สามารถทำได้ทั้งปักชำและตอนกิ่ง ซึ่งหากเพื่อน ๆ ไม่อยากยุ่งยาก และต้องการปลูกเพียงไม่กี่ต้น เราขอแนะนำให้ซื้อแบบสำเร็จรูปตามร้านไม้ประดับมาลงดินเลยจะดีกว่า ข้อสำคัญคือการเตรียมดินนี่ล่ะ เพราะเขาเติบโตได้ดีในดินอุ้มน้ำ แต่ก็ต้องระบายน้ำได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้ดินร่วนปนทรายในการปลูกจะมีปัญหาน้อย หรือถ้าจะให้ดีดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วน 2 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และดินทราย 1 ส่วน เมื่อนำต้นไม้มาปลูกลงในกระถาง จำเป็นจะต้องย้ายกระถางใหม่ทุก ๆ ปีเนื่องจากเขาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุณหภูมิ 24-27 องศาเซลเซียส
การดูแล
แม้ว่าจะเป็นต้นไม้ที่ชื่นชอบและอาศัยแสงในการเจริญเติบโต แต่การถูกแสงแดดโดยตรงก็อาจทำร้ายต้นไม้ได้เช่นกัน รวมถึงความชื้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นของเขายังเล็กอยู่ จะต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ พอโตมาสักหน่อยควรเปลี่ยนเวลารดน้ำเสียใหม่ โดยใช้เทคนิค “รดน้อยแต่บ่อยครั้ง” หรือเช้า-เย็น สังเกตให้ดินชุ่มชื้น ไม่แฉะเกินไป
ส่วนปัญหาด้านโรคต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีเพียงแค่เพลี้ย ซึ่งสามารถกำจัดได้โดยวิธีการใช้ Cygon ผสมน้ำ 20 ลิตรเพื่อราดที่โคนต้นก็เป็นอันป้องกันและกำจัดได้แล้วล่ะ
ต้นหนวดปลาหมึก เป็นต้นไม้ที่มีราคาแพงจริงหรือ?
เชื่อว่ามือใหม่หลายคนมีความกังวลใจเกี่ยวกับราคาของต้นไม้ชนิดนี้อยู่บ้าง แน่นอนว่าราคาของแต่ละต้นย่อมแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งขนาดต้น อายุ สายพันธุ์ ซึ่งให้ความสวยงามตามความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ต้นเล็กหน่อยอาจมีราคาอยู่ที่ 10 – 70 บาท ส่วนต้นใหญ่หน่อย ราว ๆ ครึ่งเมตรก็อาจมีราคาตั้งแต่ 250 – 350 บาท เลยทีเดียว แต่เป็นราคาที่รวมค่ากระถางสวยงามด้วยนะจ๊ะ
เชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่กำลังสนใจอยากปลูก “ต้นหนวดปลาหมึก” น่าจะได้สาระ ความรู้ และรับข้อมูลอย่างเต็มอิ่มแล้วล่ะ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความงาม การปลูก การดูแลรักษา รวมถึงราคาของเขา น่าจะพอตัดสินใจได้แล้วว่าต้นไม้ต้นนี้เหมาะกับตัวคุณเองไหม? ส่วนตัวเราขอเสนอความคิดเห็นว่า ถ้าคุณเป็นคนทำงานยุ่งมาก ขี้ลืม ไม่ค่อยมีเวลา ก็อาจจะเลี้ยงดูเขาได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะต้นไม้เองก็ต้องการการใส่ใจ ไม่ต้องมากมาย แต่สม่ำเสมอ สุดท้ายเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ