หากคุณกำลังมองหาต้นไม้สำหรับตกแต่งสวนสไตล์ Tropical ที่ดูมีพลังแถมยังน่ามอง “กูดดอย” ก็จัดว่าเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่น่านำมาปลูกเป็นสมาชิกในสวน เพราะนอกจากรูปร่างหน้าตาจะคล้ายคลึงกับเฟิร์นแล้ว เขายังมีลำต้นคล้ายกับปรงอีกต่างหาก จึงเหมาะสำหรับคนชอบรูปทรงของปรง แต่ไม่กล้าปลูกเนื่องจากความไม่เป็นมงคล หากคุณกำลังสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับกูด เรามาทำความรู้จักเขาให้มากยิ่งขึ้นกันเถอะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “กูดดอย” หรือ “เฟินกูด” ไม้ประดับสวย ๆ กับเรื่องที่คนอยากปลูกต้องรู้!
กูดดอย คือหนึ่งในพืชตระกูลเฟิร์นดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งกูดที่สามารถนำมารับประทานได้เรียกว่า “ผักกูด” และชนิดพันธุ์ที่ไม่สามารถนำมารับประทานได้ แต่ใช้ปลูกเพื่อประดับตกแต่งเพียงอย่างเดียว มีถิ่นกำเนิดมาจากทางแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ฟิจิ ฮาวาย ตั้งแต่เอเชียไปจนถึง ออสเตรเลีย ซึ่งในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะตามป่าเขา ป่าโปร่งระดับความสูง 600-800 เมตร หรือตามพื้นที่ชุ่มน้ำมาก หากเจอตามป่าก็สามารถขุดไหลมาปลูกขยายพันธุ์ได้เลย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Blechnum brasiliense Desv.
ชื่อวงศ์ : Blechnaceae
ชื่อสามัญ : Dwarf Tree Fern, Silver lady Fern และ Blechnum Silver Lady fern
ชื่อไทยท้องถิ่น : กูดข้างฟาน (แม่ฮ่องสอน), มหาสดำ (ภาคตะวันออก)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ลำต้นตั้งตรง ความสูงของพุ่มประมาณ 1-2 เมตร หากมีอายุมากก็อาจเอนเอียงไปตามแสงแดด เมื่อใบเริ่มแก่ ก้านใบก็จะหักลง และทั้งก้านแข็ง ๆ เอาไว้รอบลำต้นจนมองดูราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นไปแล้ว ให้อารมณ์ความรู้สึกเท่และสวยงามไปอีกแบบ
ใบ : เป็นพืชใบประกอบแบบขนนก ปลายคลี่ ลดรูปเล็กน้อย ใบเป็นรูปหอกกลับ โคนสอบเรียว ปลายใบมีติ่งแหลม ใบย่อยรูปแถบ ปลายใบแหลม ความยาว 10-15 เซนติเมตร ขอบใบจักเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบสีเขียวอ่อนค่อนข้างหนาและเหนียว ส่วนใบอ่อนที่เกิดขึ้นมาใหม่มีสีน้ำตาล เมื่อเริ่มแก่ใบจะเหลืองและร่วงโรย พบยอดขดเป็นก้นหอย 1-2 ยอด
อับสปอร์ : เรียงยาวเป็นแถบที่บริเวณหลังใบย่อย
กูดดอยกินได้ไหม?
กูดชนิดนี้ คือสายพันธุ์กูดที่ไม่สามารถนำมารับประทานได้ ส่วนใหญ่เน้นปลูกเพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน แต่งสวนสไตล์ Tropical เพื่อเพิ่มพลังและแรงดึงดูดให้มุมนั้น ๆ ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนผักกูด หรือกูดกินได้ นั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diplazium esculentum (Retz.) Swartz. สังเกตง่าย ๆ คือยอดที่ขึ้นมาใหม่จะม้วนงอและไม่มีขน ทั้งนี้ต้องระวังอย่ารับประทานผักดิบ เนื่องจากในกูดอุดมไปด้วยสารออกซาเลต (Oxalate) ที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เป็นตัวก่อให้เกิดนิ่วชั้นดี
ประโยชน์ของกูดดอย
กูดชนิดนี้ ถูกใช้เพื่อเป็นไม้ประดับแต่งสวนสไตล์ Tropical Garden หรือที่เรียกว่าสวนเมืองร้อน ที่ช่วยเพิ่มบรรยากาศความกรีน ชุ่มชื้น เพิ่มความเย็น สบายตา แต่อาจจะต้องปลูกกูดเอาไว้ริมน้ำ ที่มีความชื้นสูงสักหน่อย เพื่อให้เขามีชีวิตอยู่รอดง่ายมากขึ้น
How to ขยายพันธุ์ต้นกูด
ความจริงแล้วกูดดอย สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีตั้งแต่การแยกหน่อและเพาะสปอร์ ซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนานหน่อย ถ้าใครใจร้อนแนะนำการแยกหน่อจะง่ายและดีที่สุด และต่อไปนี้คือขั้นตอนที่เราอยากแนะนำ
อุปกรณ์ที่ต้องใช้
– ช้อนปลูก
– กระถางขนาดใหญ่มีรูระบายที่ก้น
– กาบมะพร้าวสับ 1 ส่วน
– อินทรียวัตถุ 1 ส่วน
– ดินปลูก 1 ส่วน (ใช้หรือไม่ก็ได้)
– ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13
ขั้นตอนการแยกหน่อ
1. เมื่อเราพบเจอกับกูดดอยที่อยากขยายพันธุ์เก็บไว้ ให้ใช้ช้อนเสียบบริเวณต้นเล็ก ๆ ซึ่งงอกไหลจากต้นแม่ แล้วงัดขึ้นมาก่อน
2. จากนั้นผสมวัสดุปลูกโดยใช้ดินปลูก กาบมะพร้าวสับ และอินทรียวัตถุอย่างละ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน
3. บรรจุดินปลูกรองก้นกระถางประมาณ ½ ของขนาดกระถาง
4.จากนั้นนำหน่อกูดที่ขุดแยกออกมาลงดินได้เลย พยายามประคองต้นให้อยู่กลางกระถางมากที่สุด
5. ใช้ดินที่เหลือมากลบเพื่อประคองต้นเอาไว้ แต่อย่ากลบให้เกิน Root zone ล่ะ
6. วางต้นไม้เอาไว้ใต้ร่มไม้ใหญ่หรือพื้นที่ร่มรำไร แสงฟุ้ง
7. ช่วงแรกรดน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
การปลูก/ดูแล
แสง : การปลูกกูดดอย ควรคำนึงถึงเรื่องแสงมาเป็นอันดับแรก หากจะให้ดีต้องอยู่ในพื้นที่ร่มไม้ใบบัง แดดรำไร หรือถูกแดดอ่อนยามเช้าเพียงแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ห้ามให้สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงตลอดทั้งวัน
น้ำ : ประการที่สองที่ควรใส่ใจก็คือเรื่องน้ำ หากปลูกเอาไว้ใกล้กับแหล่งน้ำ หรือรดน้ำ 2 ครั้งต่อ 1 วัน หากเวลาน้อยก็สามารถรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้งได้เลย
ดิน : วัสดุปลูกเน้นระบายน้ำดี อินทรียวัตถุสูง และไม่จำเป็นต้องปลูกลงดินเสมอไป
ปุ๋ย : ให้ปุ๋ยละลายช้าสูตร 13-13-13 ทั้งหมด 1 ครั้งต่อ 3 เดือน เพิ่มปุ๋ยคอกอย่างเช่นมูลวัว ทุก ๆ เดือนจะช่วยปรับปรุงดินให้ดีมากยิ่งขึ้น
สรุป
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “กูดดอย” พันธุ์ไม้น่าสนใจ ไม้ประดับสวย ๆ ที่เราอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ทำความรู้จัก เป็นอย่างไรบ้างคะ เจ้าต้นไม้นี้ น่าสนใจมากเลยใช่ไหม เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบพรรณไม้รูปทรงทำนองเดียวกัน ชอบปรง แต่ไม่อยากปลูกปรง น้องกูดต้นเล็กกว่าหน่อย แต่เรื่องความสวยยืนหนึ่ง ไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าสิ่งที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net