กุหลาบแพนด้า เพื่อน ๆ เคยได้ยืนชื่อนี้กันบ้างไหมคะ เขาไม่ใช่ดอกกุหลาบดอกสีแดง ขาว ชมพู แบบที่เรารู้จักทั่วไป แต่ทว่าเป็นไม้อวบน้ำแบบกุหลาบหินที่เพิ่มความน่ารัก ตะมุตะมิด้วยสัมผัสกำมะหยี่ ทำเอาหลายคนหลงรักแบบถอนใจไม่ขึ้น แต่ถ้าอยากปลูกต้องศึกษาให้ดี ทั้งเรื่องการดูแล โดยเฉพาะอุณหภูมิสำคัญมาก ซึ่งวันนี้เรามีมาฝากเพื่อน ๆ ครบ จบแน่นอน
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “กุหลาบแพนด้า” กุหลาบหิน สายพันธุ์มีขนที่น่ารักเกินไป!
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kalanchoe tomentosa
ชื่อวงศ์ : Crassulaceae (วงศ์กุหลาบหิน)
ชื่อสามัญ : Panda Plant, Pussy’s Ears
ชื่ออื่น : หูกระต่าย
กุหลาบแพนด้า เป็นไม้อวบน้ำในตระกูลเดียวกันกับกุหลาบหิน อายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดจากมาดากัสการ์ แน่นอนว่าบรรดาไม้อวบน้ำทั้งหลายก็จะนิยมปลูกเอาไว้ในหลังคาเรือน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ออฟฟิศ เป็นต้นไม้แต่งโต๊ะทำงาน แถมยังมีประโยชน์มากมายด้วยนะ จริง ๆ เขามีหลากหลายสายพันธุ์มาก รูปร่างหน้าตาแตกต่างกันออกไป ใครกำลังสนใจอยู่คุณมาถูกทางแล้วล่ะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : กุหลาบแพนด้าเป็นไม้กึ่งพุ่ม อาจสูงได้ถึง 50 เซนติเมตร ต้นตั้งตรง แตกแขนงออกสวยงาม พร้อมขนสีขาวขึ้นอยู่หนาทึบ
ใบ : เจ้าต้นนี้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลักษณะใบเรียว รี โคนสอบ ปลายแหลม ขอบเรียบ อาจมีหยักเป็นคลื่นบ้าง โดยรวมแล้วมีสีเขียวอมเทา ขอบใบสีเข้ม ด่างสีน้ำตาล ขนสีขาวปกคลุมตลอดทั้งใบราวกับผ้ากำมะหยี่ ซึ่งใบของเขานี่ล่ะเป็นสิ่งที่เรานิยมเลี้ยงเอาไว้เพื่อชมความสวยงาม
ดอก : ดอกของเขาจะออกเป็นช่อที่บริเวณปลายยอด ลักษณะเป็นช่อขนาดเล็กเหมือนกับดอกไม้ป่าตามบ้านเรา เมื่อดอกบานออกแล้วจะเห็นสีขาวอมม่วง หรือชมพูชัดเจน มี 4 กลีบดอกสวยงามพร้อมเกสรด้านใน
วิธีการขยายพันธุ์
สำหรับการขยายพันธุ์เจ้าต้นไม้มินิมอลอย่างกุหลาบแพนด้า สามารถทำได้ทั้งวิธีการปักชำต้น และวิธีการวางใบ ซึ่งทั้งสองวิธีใช้ระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราจะพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้ทั้งสองวิธีไปพร้อมกัน
วิธีการชำต้นหรือชำกิ่ง
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ได้แก่
– ไม้อวบน้ำต้นแม่
– พีทมอส 2 ส่วน
– หินภูเขาไฟ 1 ส่วน
– เพอร์ไลต์ 1 ส่วน
– กระถางมีรูระบายน้ำที่ก้น
– มีดคม ๆ
ขั้นตอนการปักชำ
1.นำดินทั้งสามรูปแบบทั้งพีทมอส 2 ส่วน, หินภูเขาไฟ 1 ส่วน และเพอร์ไลต์ 1 ส่วนมาผสมเข้าด้วยกันเพื่อเป็นดินสำหรับเพาะต้นไม้
2.จากนั้นให้นำไปกรอกใส่กระถางมีรูระบายที่ก้นขนาดเล็ก จากนั้นอัดดินให้แน่นหน่อย แล้วรดน้ำให้ชุ่มชื้น
3.ใช้ไม้เจาะลงไปในดินจนเป็นรูความลึกประมาณ 2 เซนติเมตร
4.จากนั้นใช้มีดคมตัดกิ่งหรือต้นของเขามาปักลงดินได้เลย แล้วทิ้งต้นเอาไว้ในร่มเป็นเวลาประมาณ 30 วันรากก็จะเริ่มติดแล้วล่ะ
ขยายพันธุ์ด้วยการวางใบ
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ได้แก่
– ดินปลูก สูตรตามที่เราใช้ปักชำได้เลย
– กระบะ หรือถาดสำหรับวางใบเอาไว้
ขั้นตอนการวางใบ
1.ให้เราทำการบิดเอาใบจากต้นแม้ของเขาในส่วนที่เป็นข้อใบออกมา พยายามอย่าให้เสียหายมาก
2.จากนั้นนำใบมาวางทิ้งเอาไว้ ในพื้นที่ร่มรำไร สักประมาณ 1-2 เดือนรากก็จะงอกออกมาจากข้อใบของเขา ซึ่งเราสามารถนำไปลงดินปลูกต่อได้เลย
3.เลี้ยงเจ้าต้นนี้เอาไว้ในบริเวณพื้นที่ร่มอยู่สักพัก รากก็จะติด พร้อมนำไปใช้งานเป็นไม้ประดับในบ้านต่อไป
การดูแล
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าการดูแลไม้อวบน้ำนั้นไม่ยากเกินไป เพียงแค่ต้องอาศัยการสังเกต และเอาใจใส่กับ 3 ปัจจัยหลักดังต่อไปนี้
ดิน : ดินถือเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเจ้ากุหลาบแพนด้า จะต้องเป็นหน้าดินที่โปร่ง ระบายน้ำได้ดี เฉกเช่นเดียวกันกับดินแคคตัส แนะนำตามสูตรที่เราแนะนำไปข้างต้นเลย
น้ำ : การให้น้ำไม้อวบน้ำส่วนใหญ่ จะทำในปริมาณที่พอเหมาะและวัดจากหน้าดิน ถ้าแห้งแล้วให้รดน้ำได้เลย เขาชอบน้ำปานกลาง ไม่ต้องให้น้ำมาก สำหรับต้นกุหลาบแพนด้าจะทนแล้งได้บ้างแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เทคนิคการรดน้ำให้รดหลังพระอาทิตย์ตกดินจะดีที่สุด หากรดน้ำในช่วงที่อากาศร้อนเกินไป หรือช่วงเช้าอาจมีน้ำขังอยู่ตามซอกใบ เมื่อโดนอากาศแผดเผาอาจทำให้ต้นไม้สุกได้เลย
แสง : แสงแดดเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องให้เขาโดนแดดในช่วงเช้าจนถึง 10.00 น. หลีกเลี่ยงการถูกแดดช่วงเที่ยงถ้าใครปลูกต้นไม้อวบน้ำ แต่งห้องไว้ริมหน้าต่าง ก็อย่าลืมย้ายน้องออกไปกันด้วยนะคะ เพราะอาจทำให้ต้นโดดแดดเผาจนสุกได้
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “กุหลาบแพนด้า” ไม้อวบน้ำสวย ๆ ตระกูลเดียวกันกับกุหลาบหิน แต่มีขนกำมะหยี่ทั่วทั้งต้น น่ารัก แปลกตา ไม่เหมือนใคร เป็นอย่างไรบ้างพอทราบข้อมูลแล้วเพื่อน ๆ เห็นว่าเขาน่าปลูกมากเลยใช่ไหมล่ะ แต่อาจจะหายากหน่อยตามร้านขายต้นไม้ประดับทั่วไป แนะนำให้สั่งออนไลน์กันมาง่ายที่สุด แต่ก็อย่าลืมเลือกร้านให้ดี ดูริวิวก่อนสั่งกันด้วยนะคะ สุดท้ายนี้เราหวังอย่างยิ่งว่าเรื่องราวข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net