ทุกวันนี้กระแสการปลูกไม้ด่างเรียกว่ายังคงมาแรงอยู่เรื่อย ๆ แล้วใบของต้นไม้ที่เกิดรอยด่างขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วไม้ด่างเกิดจากอะไร ใช่เพราะว่ามีคนทำขึ้นมาหรือเปล่า บทความนี้จะทำให้คุณหมดข้อสงสัยเหล่านั้น
ไม้ด่างเกิดจากอะไร
– ไม่ได้รับแสงสว่างอย่างเพียงพอ
แสงสว่างถือว่าเป็นปัจจัยหลักในกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยในใบไม้มีสิ่งที่เรียกว่า คลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ซึ่งปกติเมื่อได้รับแสง คลอโรฟิลล์นี้จะดูดกลืนแสงสีฟ้าและสีแดงไว้ ส่วนแสงสีเขียวและสีเหลืองที่ไม่ได้ถูกดูดกลืนจึงสะท้อนออกมา ทำให้ใบไม้มีสีเขียว กลับกันเมื่อต้นไม้ไม่ได้รับแสงอย่างเพียงพอ การผลิตคลอโรฟิลล์จึงทำได้น้อย อย่างที่เราเคยเห็นว่าการนำต้นไม้ไปวางในที่มืด เมื่อเวลาผ่านไปใบไม้ก็จะเปลี่ยนเป็นสีซีดและอ่อนแอ ซึ่งถ้านำต้นไม้ออกมาให้ได้รับแสงเยอะ ๆ ใบก็จะกลับมาเป็นสีเขียวเหมือนเดิม
– ภาวะขาดสารอาหาร
กระบวนการสร้างเม็ดสีบริเวณใบจำเป็นต้องใช้สารอาหารบางอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ได้รับสารบางตัว ใบจะก็จะมีสีเปลี่ยนไป เช่น ต้นไม้ที่ขาดแมกนีเซียม ใบจะกลายเป็นสีเหลือง ถ้าขาดกำมะถันหรือฟอสฟอรัส ใบก็จะเกิดรอยด่างเหลืองทั้งใบ แต่ภาวะนี้จะหายไปเมื่อได้ให้สารอาหารเหล่านั้นกับต้นไม้
– เนื้อเยื่อใบมีอากาศมาก
ต้นไม้ที่เนื้อเยื่อในใบมีอากาศค่อนข้างมาก ทำให้เวลาแสงแดดส่องไปที่ใบจะเกิดการหักเหของแสง ใบเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงิน ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับต้นไม้ตามป่า เช่น พลูลงยา แนบอุรา หรือคล้าบางชนิด และอาการดังกล่าวจะคงอยู่ถาวร ทำให้ใบกลับไปเป็นสีเขียวเหมือนเดิมไม่ได้
– เกิดความผิดปกติทางพันธุกรรม
ปัจจัยนี้ทำให้ต้นไม้เกิดกลายพันธุ์ไปจากต้นพ่อและต้นแม่ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อระบบโครงสร้างในพันธุกรรมของต้นไม้ เช่น สารเคมี สารกำมันตภาพรังสี โดยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ด่างมักพบเป็นจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสันนิษฐานกันว่า อาจเป็นผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนั้นปัจจัยนี้ยังใช้ในวงการตัดแต่งพันธุ์ต้นไม้ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ใหม่ที่โดดเด่นกว่าต้นเดิม แต่ก็ต้องเจอความเสี่ยงที่ว่า ต้นใหม่อาจมีลักษณะไม่เหมือนตามที่ต้องการ
– โรคบางชนิด
ปัจจัยนี้สันนิษฐานกันว่า มันคืออาการจากโรคใบด่าง หรือ Mosaic Virus ที่มีไวรัสเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อและสารคลอโรฟิลล์ของต้นไม้จนเกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ และเกิดเป็นไม้ด่างขึ้นมา เช่น ใบมีรอยด่าง สีเขียวบริเวณใบไม่สม่ำเสมอ ใบเล็กกว่าปกติ ใบมีรอยย่น ลำต้นแคระแกร็น โดยโรคนี้มักพบมากในมะละกอ มะเขือเทศ มันฝรั่ง และเป็นโรคที่แพร่ไปสู่ต้นอื่นได้ ถ้าใช้อุปกรณ์ในการตัดแต่งอันเดียวกันส่วนต้นที่มีรอยด่างเป็นจุด ๆ สันนิษฐานกันว่าเกิดจากไวรัส Mottled และอาจมีไวรัส Vascular ที่ทำให้เกิดการด่างในเส้นใยต้นไม้ วิธีกำจัดโรคนี้มีเพียงการตัดชิ้นส่วนหรือต้นไม้ที่เป็นโรคไปเผา หรือเลือกพันธุ์ต้นที่ต้านทานโรค หรืออาจกำจัดแมลงพาหะอย่างเพลี้ยอ่อนด้วย
เราสามารถทำให้เกิดไม้ด่างเองได้หรือไม่
ปัจจัยที่ทำให้เกิดไม้ด่างขึ้นมาเหล่านี้เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยากมาก และเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม้ด่างมีราคาแพง เพราะฉะนั้น การที่มนุษย์ใช้ปัจจัยข้างต้นเพื่อทำให้เกิดไม้ด่างนั้น จึงเป็นไปได้ยาก นอกจากไม่ได้ไม้ด่างอย่างที่ต้องการแล้ว อาจทำให้ต้นไม้ที่มีอยู่อ่อนแอหรือตายได้ เพราะความด่างที่แท้จริงมักถ่ายทอดจากต้นพ่อแม่สู่ต้นลูกอย่างถาวร และเปลี่ยนกลับคืนไม่ได้ การจะได้ไม้ด่างอย่างที่ต้องการ จึงจำเป็นต้องใช้การขยายพันธุ์จากต้นที่เป็นด่างอยู่แล้วเท่านั้น
สำหรับวันนี้ PlantLover ต้องขอลาไปก่อน ในเว็บไซต์ของเรา ยังมีบทความเกี่ยวกับต้นไม้อีกมากมาย ให้ทุกท่านได้อ่านกัน ทั้งต้นไม้หายาก ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น หรือไม้ฮิตติดกระแส อย่าลืมเข้ามาติดตามกันนะคะ แล้วเจอกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ