หนึ่งในปัญหาของคนที่ซื้อฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่างก็คือ ไม้ด่างหลุดเขียว น้องจะมีใบสีเขียวขจีออกมาจนรู้สึกว่า นี่มันไม้ด่างจริงรึเปล่า ? เรื่องแบบนี้มีทางออกนะ เขาเรียกว่าการตัดไล่ตาด่าง ซึ่งเราจะมาเผยเคล็ดลับง่าย ๆ ช่วยให้ต้นไม้ของคุณกลับมามีลวดลายสวยงามทั้งต้น ถ้าพร้อมแล้วเราไปทำความรู้จักกับน้องให้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับวิธีการกำจัดใบเขียวทิ้งกันเลยดีกว่า
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพิ่มเติมได้ที่นี่
รู้จักกับ “ฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่าง” ไม้ด่างยอดนิยม ราคาย่อมเยา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Philodendron burle-marxii.
ชื่อวงศ์ : Araceae (วงศ์บอน)
ชื่อสามัญ : Philodendron
ฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่าง หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันแบบสั้น ๆ ติดปากว่า “เบอร์มาร์ค” เขามีถิ่นกำเนิดจากทางทวีปอเมริกาใต้ บราซิล แถบแคริบเบียน โคลอมเบีย และเวเนซุเอลา ซึ่งสามารถนำมาปลูกในเมืองไทยได้สบาย ๆ เนื่องจากมีสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกันกับบ้านเราประมาณหนึ่ง นี่จึงเป็นข่าวดีสำหรับคนที่หลงรักลวดลายและอยากมีเจ้าต้นนี้ไว้ในครอบครอง เพราะเขาดูแลง่าย ขยายพันธุ์ง่าย แต่สำหรับในสายพันธุ์ใบด่างก็อาจจะดูแลเรื่องสีสันของเขายากกว่าปกติหน่อย ต้องอาศัยความใส่ใจ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น : ฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่าง คือไม้เลื้อยประเภทหนึ่งซึ่งเราสามารถนำมาปลูกในกระถางแบบพวกบอนได้ แถมยังเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุนานหลายปี ใช้วิธีการอิงอาศัยและมีรากอากาศออกมาให้เราได้เห็นตามลำต้น ออกก้านใบไม่เป็นระเบียบ
ใบ : ใบของน้องฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่างเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ที่สามารถออกใบได้ทั้งจากลำต้นและปลายยอด ในรูปแบบเรียงเวียนสลับการสวยงาม ลักษณะรูปใบแบบหอก ปลายแหลมมีติ่ง โคนเว้าเข้า มองโดยรวมแล้วคล้ายกับรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นคลื่น ผิวหนา ใบสีเขียวเป็นมันและมีรอยด่างสีเหลืองแซมหลากหลายรูปแบบ บ้างก็เรียกลายวากิว ออกลวดลายสวยงามเหมือนใช้พู่กันแต้มสีลงไป บ้างก็ด่างแบบครึ่งใบ ร่องกลางใบชัดเจน
ดอก : ส่วนดอกจะออกแบบเป็นช่อเชิงลดมีกาบแบบหม้อแกงลิงผสมดอกหน้าวัว
ฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่าง ใบไม่ด่าง ทำอย่างไรดี?
อย่างที่บอกไปว่านี่คือปัญหาสุดเบสิกที่คนเลี้ยงไม้ด่างหลาย ๆ ต้นพบเจอ และการแก้ปัญหาที่ง่ายมาก ๆ ก็คือ “การตัดไล่ตาด่าง” ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
1.ลองสังเกตดูว่าใบอื่น ๆ ที่ด่าง ก้านของเขาจะมีความด่างเหลืองเช่นเดียวกัน ก้านด่างมาก ใบก็จะด่างมาก ก้านด่างน้อยใบก็จะด่างน้อย
2.จับใบที่เป็นสีเขียวแล้วลองไล่ดูไปตามก้านใบของเขา จนกระทั่งถึงลำต้น จะเห็นว่าก้านใบไม่มีสีเหลืองติดมาเลย ให้เราทำการใช้มีดคม ๆ หรือคัตเตอร์ตัดก้านใบนั้นแบบชิดลำต้น แต่ต้องเป็นก้านที่ออกรากอากาศแล้วนะ
3.รอให้ลำต้นงอกตาขึ้นมาใหม่เพื่อรอลุ้นว่ารอบนี้ใบของเขาจะด่างสมใจเราหรือไม่ ถ้าเริ่มเกิดขึ้นมาแล้วเห็นเส้นสายสีเหลืองอยู่ก็แปลว่า มีโอกาสสูงที่ใบไม้ของเราจะด่างด้วยเช่นกัน วิธีการตัดไล่ตาใบไม้ด่าง ไม่ยากอย่างที่คิด
วิธีการขยายพันธุ์
ฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่าง เป็นไม้ด่างสวย ๆ ที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด และสามารถทำได้หลากหลายวิธีมาก ไม่ว่าจะเป็นการตอนกิ่ง ชำยอด และอื่น ๆ แต่สำหรับวันนี้เราจะพาทุกคนมาเรียนรู้วิธีการ “ชำน้ำ” โดยจะใช้เซ็ตก้านใบที่เราตัดออกมาตอนตัดไล่ตาด่างนั่นล่ะ
วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1.แก้วน้ำ
2.น้ำผสมน้ำยาเร่งรากด้วยก็ได้
3.ก้านใบที่เราตัดออกมาจากต้นตอนตัดไล่ตาใบ
4.กาบมะพร้าวสับแช่น้ำ 1 ส่วน
5.เพอร์ไลท์ 1 ส่วน
6.ดินใบก้ามปู 1 ส่วน
7.ปุ๋ยคอก 1/2 ส่วน
8.ปุ๋ยออสโมโค้ท ปริมาณเล็กน้อย
ขั้นตอนการชำนำ
1.นำก้านของเขาไปแช่น้ำทิ้งเอาไว้ในแก้ว แล้ววางเอาไว้ในที่ร่มจนกว่ารากจะงอก
2.เมื่อรากงอกแล้วก็ให้เราทำการผสมกาบมะพร้าวสับ, เพอร์ไลท์, ดินใบก้ามปู, ปุ๋ยคอกและปุ๋ยออสโมโค้ท ตามสัดส่วนให้เข้ากันอย่างดี
3.นำฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่างที่ติดรากแล้วลงไปปลูกได้เลย รดน้ำให้ชุ่มชื้น ทิ้งไว้พื้นที่ร่มจนกว่ารากจะติดดิน
การดูแล
เจ้าต้นนี้เป็นไม้ด่าง แต่งห้องสวยงามได้สบาย ๆ ดูแลง่ายมากเนื่องจากชอบแสงแดดรำไร ก็ควรวางเขาเอาไว้ใกล้ช่องแสงยามเช้าจะช่วยให้ต้นไม้สดชื่นมากยิ่งขึ้น รดน้ำพอประมาณวันละ 1 ครั้งเน้นความชุ่มชื้นแต่พื้นไม่แฉะ และถ้าปลูกกับส่วนผสมดินที่เราแนะนำไปข้างต้นก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด เคล็ดลับถ้าอยากให้ใบใหญ่โตเต็มที่ก็คือ อย่าลืมเปลี่ยนกระถางให้เขาทุก ๆ ครึ่งปีด้วยนะ เพราะรากน้องเดินไวมาก
เห็นกันไปแล้วใช่ไหมล่ะว่าน้องฟิโลเบอร์เบิ้ลมาร์คด่างน่ารัก น่าเอ็นดูขนาดไหน ขยายพันธุ์ก็ง่าย ถ้าให้เปรียบเปรยก็คงจะเหมือนกับเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่งอแง ชอบกินข้าวเอง เจ้าต้นนี้เหมาะสำหรับเก็บสะสมไว้ดูเล่นเพลิดเพลินใจ ขอแค่มีเวลาช่วงเช้าให้ได้รดน้ำก็เติบโตอย่างสวยงาม ส่วนเรื่องใบเขียวถ้าใครชอบให้มีแซม ๆ มาไม่ต้องตัดไล่ตาใบก็ได้นะ สุดท้ายนี้เราหวังว่าเรื่องราวที่นำมาฝากจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ
ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับต้นไม้และพืชผักได้ที่ Plantlover.net